“เราทราบดีว่าประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยภาคการค้าระหว่างประเทศ เรามีมูลค่าการส่งออกสูงถึงเกือบ 70% ของ GDP แต่อย่างไรก็ตาม เวลาเราดูไส้ในของการส่งออกเราพบว่าเรามีผู้ส่งออกอยู่ไม่เยอะส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่และเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยแล้วก็ส่งออกไปต่างประเทศ”
วิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวในวงสัมมนา “การเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศ CLMV” จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถึงเศรษฐกิจไทยในภาคการส่งออก ซึ่งแม้บริษัทขนาดใหญ่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน แต่อีกด้านหนึ่ง การค้าระหว่างประเทศก็นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นกัน เพราะมีผู้ได้ผลประโยชน์เพียงจำนวนไม่มากนัก
ดังนั้น โจทย์สำคัญคือว่า “ทำอย่างไรจะให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ถือเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ?” โดยต้องทำใน 2 ส่วน คือ 1.ทำให้กระบวนการค้าระหว่างประเทศดำเนินการได้ง่าย สะดวกและต้นทุนต่ำที่สุด โดยจุดสำคัญคือการนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” มาใช้ ลดการใช้เอกสารหรือลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนลงทะเบียนหลายเว็บไซต์ในแต่ละขั้นตอน
กับ 2.ทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการของตลาดต่างประเทศมีข้อมูลความต้องการผู้บริโภคและรู้จักคู่แข่งทางการค้า ซึ่งปัจจุบัน “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ,E-Commerce)” เติบโตขึ้นอย่างมาก เป็นการปฏิวัติตัวกลางในการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งรวมถึงข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาดในช่องทางนี้ อย่างไรก็ตาม E-Commerce ยังเป็นเหรียญ 2 ด้าน เพราะก็มีการหลั่งไหลของสินค้าต่างประเทศที่เข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากประเทศจีน
คำถามต่อมา “ทำไมต้องสนใจตลาด CLMV?” ซึ่งหมายถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม นั่นเพราะ “ผู้คนในประเทศเหล่านี้มีรสนิยมในการบริโภคที่ตรงกับสินค้าของไทย” กล่าวคือ สินค้าต่างๆ ที่คนไทยเราใช้ในชีวิตประจำวันก็เป็นสินค้าที่ผู้คนในประเทศเพื่อนบ้านต้องการเช่นกัน อีกทั้งสินค้าไทยยังเป็นที่ชื่นชมในสายตาของผู้คนในประเทศเหล่านั้น CLMV จึงเป็นตลาดแรกที่ SME ของไทยควรจะเข้าไป
“เวลาเราไปที่ลาว กัมพูชา เมียนมา สินค้าไทยจะเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูงมากในแง่ที่ว่าราคาไม่แพงเกินไป คือเข้าถึงได้ และคุณภาพไว้ใจได้ คู่แข่งของเราในภูมิภาคนี้คือจีนเช่นกัน สินค้าจีนเข้าไปเกือบทุกประเทศเลย ผมไปถามเพื่อนที่เป็นเวียดนาม เสื้อที่คุณใส่นั้นเป็นเสื้อจากไหน? เขาบอกเป็นเสื้อจากจีน จริงๆ เขาอยากซื้อเสื้อจากญี่ปุ่นแต่ราคาแพงเกินไป มีไม่กี่ตัว ดังนั้นในชีวิตประจำวันก็ใช้สินค้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ นี่คือโจทย์ที่เราจะต้องเข้าใจว่าอย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ก็ยังต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง” วิมล ระบุ
ขณะที่ ภัชชา ธำรงอาจริยกุล นักวิจัยอาวุโส สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กล่าวถึงข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ที่พบว่า ในปี 2566 ประชากรโลกร้อยละ 67 เข้าถึงอินเตอร์เนต เมื่อดูกลุ่มประเทศ CLMV บวกกับประเทศไทย พบว่า มีเพียงเวียดนาม (ร้อยละ 78) และไทย (ร้อยละ 90) เท่านั้นที่จำนวนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เนตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่หากดูเฉพาะกลุ่มประเทศที่ยังพัฒนาน้อย (LDC) ที่ค่าเฉลี่ยประชากรซึ่งสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้อยู่ที่ร้อยละ 31 ตัวเลขในเมียนมา (ร้อยละ 44) ลาว (ร้อยละ 66) และกัมพูชา (ร้อยละ 57) จึงไม่ถือว่าแย่มากนัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงอี-คอมเมิร์ซ และเศรษฐกิจดิจิทัล ก็ต้องกล่าวถึง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและมีการกระจุกตัวของแพลตฟอร์ม “สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือภาคส่วนหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือการภาคขนส่ง (โลจิสติกส์, Logistics) เพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากเป็นการซื้อ-ขายสินค้าที่เป็นรูปร่าง” ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายภายในประเทศหรือข้ามประเทศก็ตาม
“โลจิสติกส์เป็นภาคส่วนที่มีโอกาสในการเติบโตสูง อิทธิพลมาจากอีคอมเมิร์ซโดยตรง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างไทยเองภาคส่วนของการขนส่งพัสดุเติบโตแบบพุ่งกระฉูดไปตามอี-คอมเมิร์ซ แต่อีกด้านที่อยากพูดถึงคือเราผู้บริโภคคงไม่อยากจะซื้อสินค้าหรือบริการถ้าไม่มีความเชื่อมั่น ส่วนที่จะสร้างความเชื่อมั่นได้ดีก็คือกฎหมาย หลักๆ ก็คือกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาชญากรรมทางไซเบอร์ ไปจนถึงการคุ้มครองผู้บริโภค” ภัชชา กล่าว
เมื่อดูเป็นรายประเทศ จะพบว่า “กัมพูชา” เป็นประเทศที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตเร็วมาก แม้ชาวกัมพูชายังนิยมใช้เงินสดจับจ่าย แต่ก็มีการพัฒนาระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น การขนส่งเริ่มใช้เทคโนโลยีติดตามผ่านดาวเทียม (GPS) แต่ยังมีปัญหาเรื่องระบบฐานข้อมูลทะเบียนอาคารต่างๆ ไม่ชัดเจน เป็นข้อจำกัดในการส่งสินค้าให้ถึงหน้าบ้านของผู้รับ รวมถึงยังไม่มีกฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะ,
“ลาว” ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่เพียงระยะเริ่มต้น ผู้คนก็ยังไม่นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่เป็นทางการ แต่นิยมซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) ขณะที่ทางการลาวก็ยังขาดยุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม และยังมีปัญหาเรื่องระบบทะเบียนที่อยู่ รวมถึงไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, “เมียนมา” ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซยังขาดความพร้อมอยู่มากไม่ว่าโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการระบบชำระเงิน กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล,
“เวียดนาม” หากเทียบกับอีก 3 ประเทศก่อนหน้า ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจะโตกว่ามาก ชาวเวียดนามจำนวนมากซื้อสินค้าทางออนไลน์ และมีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและระบบชำระเงิน อย่างไรก็ตาม ภัชชาระบุว่า “แต่ละตลาดก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง” เช่น กัมพูชา ลาวและเมียนมา อาจเหมาะกับการทำตลาดระยะยาวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่เวียดนามอาจเหมาะกับผู้ประกอบการที่พร้อมแข่งขันได้ทันทีเพราะเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง!!!
หมายเหตุ : สามารถรับชมบันทึกงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่เพจ “EconTU Official” ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ https://www.facebook.com/ECONTU
official/videos/520169321172216?locale=th_TH
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี