ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการลงทุนทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มีนักวิจัยที่มีความสามารถ มีหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ ซึ่งขับเคลื่อนให้เกิดการนำเอาไปใช้งาน ในแต่ละปีได้มีความก้าวหน้าทั้งในทางวิชาการ การพัฒนากำลังคนและมีการนำเอาไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทำให้การวางแผนและขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นระบบ การติดตามรับทราบทั้งสถานการณ์ปัจจุบันของโลกและสถานการณ์ของประเทศ การวิเคราะห์แนวโน้มทั้งทางด้านทางวิชาการ ทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการมองไปข้างหน้าว่าจะดำเนินการเรื่องใดและอย่างไร จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลก The World Bank Group ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในระดับนานาชาติ ทำการติดตามและวิเคราะห์สถานะหรือสุขภาพของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกมิติ ทำให้สามารถรับรู้สถานะ และประเด็นที่จะต้องพัฒนา โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นผู้กำหนดหลักคิดตระหนักถึงข้อจำกัดในการตัดสินใจเชิงนโยบายจากการใช้ตัวดัชนีจากบริบทนานาชาติ เพื่อบ่งชี้สถานภาพ ความก้าวหน้า และผลกระทบของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)
ดังนั้น จึงได้วางเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาดัชนีระบบ ววน. ของประเทศไทย “Thailand SRI Index 2024” เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายโดยกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศ และเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทิศทางนโยบายในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาคมวิจัย
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า ในปี 2567 เป็นปีที่ระบบ ววน. ของไทยมีความท้าทายอย่างมากในหลากหลายมิติ นักวิจัยและนักวิชาการของประเทศไทยมีแนวโน้มในการสร้างผลงานที่ดีมากขึ้น ซึ่งมีผลงานตีพิมพ์ทางนิตยสารที่สูงขึ้นกว่าปี 2566 แม้เทียบกับสัดส่วนในต่างประเทศยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดยเป็นเชิงปริมาณ 27,108 ชิ้นงาน ผลงานวิจัยเชิงคุณภาพ 6,660 เรื่อง และอยู่ใน Top 10 Journal ของโลกอีก 542 เรื่อง การที่ติด 1 ใน 10 Journal สามารถบอกได้ว่าเราเป็นจุดแข็งที่สามารถทำให้เกิดความมุ่งเน้นหลายวงการวิจัยไทย โดยเรื่องหลักคือ สุขภาพการแพทย์ เกษตร และอื่นๆ นอกจากนี้มีการวิจัยที่น่าจับตามอง เป็นเรื่องของ AI เห็นตัวอย่างความสำเร็จได้จากผลงานขององค์การวิจัยไทยที่ได้คิดค้นต่อยอด พัฒนาวิธีการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI นำมาประกอบอัลตร้าซาวนด์ สามารถสนับสนุนช่วยเหลือแพทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ เช่น การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดให้เห็นถึงผลงานได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ยังมีตัวอย่างงานวิจัยที่เกิดขึ้นอีกหลากหลาย รวมถึงเรื่องการดูแลแก้ไขปัญหาโลกร้อน
นอกจากนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ได้แถลงถึงดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของไทย Thailand SRI Index ดัชนีซึ่งแสดงถึงสถานะหรือสุขภาพของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศไทย ในด้านการสร้างความรู้ การใช้ประโยชน์ และความเชื่อมโยงระหว่างการวิจัย การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบ จากเกณฑ์คะแนนเต็ม 10 โดยเรื่องแรก1 คือ การลงทุนด้าน ววน. อยู่ที่ 8.47 ลำดับถัดมาคือ ผลผลิตทางด้านปัญญา 8.55 และการใช้ประโยชน์จากผลงานอยู่ที่ 8.14 ขณะที่ความร่วมมือและความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างงานทางวิชาการกับการใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้น 6.68 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงว่าทำอย่างไรที่ทำให้การเชื่อมระหว่างความต้องการและความใช้ประโยชน์นำมาใช้ด้วยกัน ด้านผลกระทบจากนวัตกรรมนั้นอยู่ที่ 7.25 ทำให้คะแนนโดยรวมจากผลการสแกนรอบแรก SRI Index 2024 ของประเทศไทย อยู่ที่ 7.81 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตรวจสุขภาพหรือสแกน SRI Index 2024 ครั้งแรก ไม่ว่าผลคะแนนที่ออกมาจะอยู่ในระดับใดนั้น สำหรับการดำเนินงานของคณะทำงานของ สกสว. สอวช. และธนาคารโลกมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมอนิเตอร์ผลอย่างใกล้ชิดในทุกๆ เดือน และทุกๆ ปี รวมถึงแถลงผลดัชนีระบบ ววน. ไทย เช่นนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถสร้างมูลค่าจาก ววน. ได้สูง โดยมีการใช้งาน ววน. เพิ่มขึ้นในภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการนำเข้าเทคโนโลยีต่างๆ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายมากถึง 500,000 ล้านบาท โดยประมาณ ในด้านการส่งออกอยู่ที่ 200,000 ล้านบาท โดยประมาณ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้เกิดขึ้นอยู่ที่ (-)227,786 ล้านบาท ดังนั้น
จึงเกิดความต้องการใน 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ได้แก่ ความต้องการในด้านการใช้เทคโนโลยีและใช้จ่ายจริง ส่วนที่ 2 ได้แก่ ความต้องการด้านการผลิตและกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีผลสำรวจว่าการจ้างงานของบัณฑิต ด้าน ววน. เชิงลึก มีเพียง 30 % ของบัณฑิตที่จบการศึกษาทางด้านนี้ และจากผลสำรวจเพิ่มเติมสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับเอกชนในเรื่องของเทคโนโลยี พบว่า 73% ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด มีเพียง 13% ที่เป็นความสัมพันธ์ในระดับที่ดีในด้านการวิจัยและพัฒนา ส่วนการลงทุนด้าน ววน.ของประเทศไทย อยู่ที่ 1.16% ของ GDP สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยระดับการพัฒนาของประเทศ
ทั้งนี้การมีระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งและการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองต่อความท้าทายของประเทศและของโลกในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนั้นยังสามารถเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี