“ระยะแรกไปตีเทนนิสระหว่างรอรับลูก รู้สึกเจ็บมากแต่ก็ไม่นึกถึงว่าเป็นโรค คิดว่าเรานานๆ ไปเล่นสักครั้ง แล้วก็หายไป หลังจากนั้นพอกลับมาบ้าน มีหลายอย่างที่ทำกิจกรรมกับลูก เช่น ตีแบดฯ ก็ตีไม่ได้ เดาะวอลเลย์ฯ ก็ไม่ได้ และหลังสุดก็รู้สึกผิดปกติก็นึกไม่ออก ลองมาตีปิงปองก็ยังไม่ได้ เรื่องนี้ก็หายไป
จนกระทั่งสักพักหนึ่งก็เริ่มปวดข้อมือขวาไปหาหมอกระดูกและข้อ หมอก็เข้าเฝือก ให้ยาแก้ปวด
แล้วเราทำงานกับคอมฯ ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นพอปวดด้านนี้ เข้าเฝือกด้านนี้ก็พยายามให้คนหาเมาส์มือซ้ายมาจับเพื่อจะทำงานได้ต่อ แล้วก็ทันตาเห็นเหมือนกัน พอใช้มือซ้ายมือซ้ายก็ปวด พอมือซ้ายปวดก็ถอดเฝือกมือขวาเพื่อจะไปเข้าเฝือกมือซ้าย พอเขาเข้าเฝือกมือซ้ายให้ ตอนกลางคืนตรงที่นอนมันเหมือนมีการบิด คือข้อเราที่เขาเข้าไว้มันบิดไปหมดแล้วก็เจ็บมาถึงข้อศอก ต้องลุกขึ้นมาถอดเฝือกทิ้งแล้วก็รอไปเจอหมอตามนัด”
เรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของ อารีรักษ์ พิชน์ไพบูลย์ หนึ่งในผู้ป่วย “โรครูมาตอยด์” ที่เดินทางไกลจาก จ.สงขลา มาร่วมวงเสวนา “ก้าวข้ามรูมาตอยด์อย่างไร..ไม่ให้หลงทาง” เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2567 ที่ รพ.ราชวิถี กรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่มีอาการ ตนได้ไปพบแพทย์และได้รับการฉีดยาเพื่อให้พอสามารถกลับไปทำงานได้ แต่อาการป่วยอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลกระทบ หลายครั้งต้องไปทำงานสายแต่ไม่เคยบอกใครว่าป่วยและพยายามไม่ลาหรือขาด
หลังจากพบแพทย์คนแล้ว-คนเล่า มีการสันนิษฐานว่าเป็นอาการเจ็บป่วยของคนที่ทำงานในสำนักงานเป็นประจำ หรือออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มีการส่งไปทำกายภาพ ไปถึงการแพทย์ทางเลือกอย่างการนวดแผนไทยและการฝังเข็ม กระทั่งมารู้ว่าหัวหน้างานก็น่าจะทราบว่าป่วยเป็นโรคอะไร แต่ไม่กล้าบอกกับตนตรงๆ เพราะในเวลานั้นโรครูมาตอยด์เป็นอะไรที่คนกลัวกันมาก กระทั่งมีแพทย์ท่านหนึ่งมาบอกว่าอาจป่วยเป็นรูมาตอยด์ แต่ก็ต้องทำใจอยู่พอสมควรกว่าจะกล้าไปตรวจ และเมื่อผลยืนยันว่าเป็นจริงๆ จึงได้เริ่มการรักษาและชีวิตก็ค่อยๆ กลับมาดีขึ้น
เช่นเดียวกับ ผศ.นุชรินทร์ ศศิพิบูลย์ ประธานชมรมผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา ที่เล่าว่า ตนเคยปวดบริเวณข้อศอกอย่างมาก ถึงขนาดบอกกับลูกว่าอยากตัดแขนทิ้ง แต่กว่าจะมารู้ว่าป่วยเป็นรูมาตอยด์ก็ไปใช้วิธี ฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ ทำแบบนี้อยู่ราว 3 ปี จนแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ทักว่าน่าจะส่งไปตรวจที่แผนกโรครูมาตอยด์จะดีกว่า ซึ่งการที่รู้ว่าเป็นโรคนี้ก็จะได้รู้เส้นทางของการรักษาด้วย
ด้าน ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.กานน จตุวรพฤกษ์ สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติสซั่ม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เมื่อมีอาการปวดข้อ ผู้ป่วยจะสันนิษฐานว่าตนเองหากไม่เป็นเกาต์ก็เป็นรูมาตอยด์ แต่ 2 โรคนี้แตกต่างกัน โดยรูมาตอยด์เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดเพี้ยนจนสร้างการอักเสบแบบผิดที่ผิดทาง แต่เกาต์เป็นโรคที่เกิดจากการมีกรดยูริกในปริมาณสูงไปทำให้เกิดผลึกในเลือดแล้วสะสมจับอยู่ตามข้อต่อจนกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ
ขณะที่ด้านอาการ เกาต์จะเป็นโรคที่อาการปวดมาเป็นระลอกๆ ปวดบ้างหายบ้างสลับกันไป ส่วนใหญ่มีอาการปวดบริเวณเท้า และพบผู้ชายป่วยมากกว่าผู้หญิง ตรงข้ามกับรูมาตอยด์ที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบอาการมากบริเวณข้อมือหรือข้อนิ้วมือ และเป็นการปวดต่อเนื่องทุกวันไม่มีช่วงที่ไม่ปวด ดังนั้นหากมีอาการแล้วสงสัยต้องมาพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัย ทั้งนี้ ตนไม่อยากให้มองว่าโรครูมาตอยด์เป็นศัตรู เพราะไม่ใช่โรคติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากการที่มีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย แต่เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิต้านทานของตนเอง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นระบบที่ยอดเยี่ยม
“เป็นระบบที่ป้องกันภัยอันตรายทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรา ที่มีทั้งเชื้อโรค รังสี สิ่งเร้า สารปนเปื้อน สารเคมีมากมาย ภูมิคุ้มกันควบคุมให้ร่างกายเรายังทำงานเป็นปกติ และเป็นตัวกำจัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติด้วย เช่น โรคมะเร็ง การที่เราไม่เป็นมะเร็งก็เพราะภูมิคุ้มกันเราคัดสรรและกำจัดเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ดังนั้นภูมิคุ้มกันของเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ แล้วมันเป็นเพื่อนของเรานะ เป็นสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วยกับมัน แต่บางครั้งภูมิคุ้มกันก็ทำงานผิดพลาดบ้าง เราไม่รู้ว่าเพราะอะไร ก่อการอักเสบในเนื้อเยื่อของเราเอง ผิดที่ผิดทางแล้วก็เกิดปัญหา”
ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.กานน กล่าว
ผศ.(พิเศษ) ดร.นพ.กานน กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นการรักษาโรครูมาตอยด์จึงไม่ใช่การหาวิธีกำจัด เพราะเท่ากับกำจัดระบบภูมิคุ้มกันของตนเอง แต่เป็นการหาทางอยู่กับโรคให้ได้อย่างที่ชีวิตเป็นปกติสุขมากที่สุดหรือทำให้โรคสร้างปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งหลายครั้งเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูมาตอยด์ ผู้ป่วยมักตกใจและกังวลว่าตนเองจะต้องเป็นผู้พิการหรือไม่ก็เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่อาการค่อยๆ มา จึงมีเวลาให้เตรียมตัวพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษา ปรับการรับยาไปตามอาการ จนสามารถควบคุมให้พออยู่ร่วมกันไปได้
ในงานนี้ยังมีการปาฐกถาโดย นพ.สูงชัย อังธารารักษ์ หัวหน้างานโรคข้อและภูมิแพ้ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ รพ.ราชวิถี เรื่อง“รู้เขารู้เรา..รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง กับรูมาตอยด์” ให้ความรู้เกี่ยวกับโรครูมาตอยด์ ว่า รูมาตอยด์ต่างจากภูมิแพ้ เนื่องจากโรคภูมิแพ้เกิดจากมีปัจจัยภายนอกไปกระตุ้น แต่โรครูมาตอยด์นั้นภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำงานผิดปกติเองจนเกิดการอักเสบ แต่ก็ไม่ใช่ภูมิคุ้มกันบกพร่องเพราะยังสามารถสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าโรครูมาตอยด์มีสาเหตุจากอะไรบ้าง รู้แต่เพียงลักษณะของโรคเท่านั้น ผู้ป่วยรูมาตอยด์หากมีอาการรุนแรงจะทำให้ข้อผิดรูปเกิดเป็นความพิการได้ อีกทั้งยังทำให้อายุขัยสั้นลง “หากปล่อยให้ป่วยถึงขั้นพิการจะรักษาได้ยากมาก..ดังนั้นต้องรักษาก่อนมีอาการรุนแรง” ส่วนการรักษาและดูแลสุขภาพตนเอง 1.กินยาอย่างสม่ำเสมอ 2.ไม่แนะนำให้บีบนวดข้อ 3.ออกกำลังกายเพื่อให้ข้อแข็งแรง (แต่อย่าหักโหม)
4.งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อตับ ในขณะที่ผู้ป่วยก็ต้องกินยาซึ่งก็มีผลต่อตับเช่นกัน ส่วนบุหรี่ก็ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี 5.หลีกเลี่ยงยานอกระบบ ซึ่งหลายครั้งก็มาจากความหวังดีของญาติสนิทมิตรสหาย แต่บ่อยครั้งก็พบว่ายาเหล่านี้ไม่ผ่านการรับรองและเมื่อกินไปแล้วยังกระทบกับการรักษาอีกต่างหาก 6.ไม่ต้องเครียดหรือวิตกกังวลเกินไป เพราะปัจจุบันกระบวนการรักษาโรครูมาตอยด์ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 6 เดือน อาการจะดีขึ้นตามลำดับจนพอใช้ชีวิตได้
“โดยทั่วไปแม้ว่าโรคจะดี คุณหมอจะต้องสั่งยาต่อเพื่อคุมโรคให้มันสงบ ไม่ใช่หายแล้วเลิก..ไม่ได้! ต้องกินยาต่อเนื่องให้มันสงบนานๆ หลักการรักษาของแพทย์ปัจจุบันคือเน้นวินิจฉัยให้เร็ว พอคิดว่าใช่ปุ๊บเจอแพทย์เลยเพื่อเขาจะรักษาด้วยความรวดเร็ว มันมีหลักว่า วินิจฉัยเร็วรักษาเร็ว หายเร็ว และใช้ยาน้อยด้วย ผู้ป่วยทานยาสม่ำเสมอ อ่านฉลากยาด้วยนะเวลามาเจอคุณหมอสั่งยา ไม่ใช่ว่ากินเหมือนเดิมตลอด..ไม่ได้! มันจะมีการเปลี่ยนแปลงการรักษา ปรับให้เหมาะสมกับลักษณะโรคที่รุนแรงระดับนั้นเป็นระยะๆ” นพ.สูงชัย กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี