ชาวบ้านในตำบลวังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ช่วยกันเก็บข้าวไร่เพื่อนำมาทำข้าวเม่า หลังหากินยากและห่างหายไปนานเกือบ 30 ปี เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ขนมชนิดนี้กำลังจะสูญหายไปจากท้องถิ่น ทำขายกิโลละ 250 บาท
วันนี้ 12 ธ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส บุณยานุช หาดสุด เกษตรตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง พร้อมด้วยชาวบ้านหมู่ที่ 2 ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวไร่ด้วยแกระแบบโบราณ เพื่อให้ได้ข้าวทีละรวง แม้จะช้าแต่ไม่ทำให้ข้าวช้ำและไม่ต้องออกแรงมาก โดยข้าวไร่ที่ปลูกเป็นที่ดินของนางเสงี่ยม ปราบเสร็จ (ป้าจิ้ม) อายุ 64 ปี ซึ่งแต่เดิมได้ทำสวนยางพารา แต่โค่นต้นยางหันมาปลูกข้าวไร่ทั้งชนิดสีขาวและสีดำประมาณ 2 งาน ส่วนอีก 20 ไร่ ได้ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์ดอกข่า ไว้บริโภคในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายหลังราคาข้าวสูงขึ้น และเป็นการปลูกข้าวแบบปลอดภัยจากสารเคมี ซึ่งดีต่อสุขภาพ
ชาวบ้านหลายคนยอมรับว่า ปัจจุบันมีคนปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวกันน้อยมาก ปีนี้ในอำเภอกันตัง จ.ตรัง มีเกษตรกรปลูกข้าวไร่เพื่อทำข้าวเม่าเพียงรายเดียวคือป้าจิ้ม เพราะส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเจ้าไว้บริโภคหรือขาย สร้างรายได้ อีกทั้งการทำข้าวเม่ามีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ข้าวเหนียว และการเก็บเกี่ยวต้องอยู่ในระยะกำลังพอดี ไม่อ่อนไม่สุกจนเกินไป ก่อนจะนำมานวดเพื่อแยกเมล็ดข้าวกับฟางออกจากกัน แล้วนำมาแช่น้ำ เพื่อเอาเมล็ดลีบออก จากนั้นจึงนำข้าวที่จมน้ำมาคั่วจนเป็นสีเหลืองทอง แล้วนำมาตำ จนเปลือกของเมล็ดหลุดออก ก่อนนำมาฝัด และตำใหม่อีกครั้งจนได้เป็นข้าวเม่าสีเขียวสวย ใส่เนื้อมะพร้าว ตามด้วยเกลือและน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากันจึงสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านหลาย ๆ คนมาช่วยกันทำ จึงจะได้กินข้าวเม่านาปี
ซึ่ง 1 ปีเกษตรกรจะปลูกข้าวไร่ได้เพียง 1 ครั้งคือ ในเดือนสิงหาคม แล้วมาเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมรวมระยะเวลาประมาณ 120 วัน ส่วนรสชาติจะหอม หวาน มัน เค็ม เคี้ยวหนึบ กินเพลิน นำออกขายตามงานเทศกาลต่าง ๆ กิโลกรัมละ 250 บาท แต่ส่วนใหญ่จะขายแบบข้าวเม่าสดไม่ใส่เครื่องปรุงเพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน ส่วนข้าวเม่าของชาวตำบลวังวน เป็นข้าวปลอดสาร สดใหม่ ทำให้ได้รสชาติที่หวานอร่อยไม่เหมือนใคร ซึ่งเกษตรกรวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หันมาส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวไร่เพื่อทำข้าวเม่ากันมากขึ้น เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป เช่นเดียวกับในตำบลวังวนที่ชาวบ้านไม่ได้ทำข้าวเม่าไว้กิน ไว้ขาย มานานเกือบ 30 ปีแล้ว แต่ยังสามารถรวมกลุ่มและฟื้นฟูการทำข้าวเม่าให้กลับคืนมาได้
ด้านนางทรัพย์ พุทโธ อายุ 75 ปีเกษตรกรหมู่ที่ 2 ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเกี่ยวข้าวเพราะนานประมาณ 20-30 ปีแล้วที่ตนไม่เคยได้จับรวงข้าวเลย ซึ่งปีนี้ตนอายุ 75 ปีแล้ว เคยจับรวงข้าวตั้งแต่อายุ 30-40 ปี จนอายุ 75 ปีได้มาจับรวงข้าวอีกที ทำให้ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้มาเห็นอีกครั้งก่อนที่จะสิ้นลม
ส่วนนางประคิ่น จิตรแก้ว อายุ 60 ปีเกษตรกรหมู่ที่ 2 ต.วังวนกล่าวว่า นานมาแล้วประมาณ 20-30 ปีแล้วที่ไม่ได้กินข้าวเม่าแบบนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจมากที่ทุกคนได้มาร่วมกันทำข้าวเม่าของตำบลวังวน ซึ่งข้าวเม่าของที่นี่แตกต่างจากในตลาดเพราะจะหอมมัน เก็บมาสด ๆ ปลอดสารพิษ บำรุงดินดี ดูแล้วมีความภาคภูมิใจมาก ข้าวดี ดินดี รวงใหญ่สวยงามมาก พอทิ่มข้าวเม่าออกมาแล้วดีมาก กินอร่อยมาก และอยากให้พี่น้องชาวตำบลวังวนที่โค่นยาง หันมาปลูกข้าวกินเองกันมากขึ้น เพราะปลอดสารพิษ พอเป็นข้าวเม่าก็อร่อยมาก
ขณะที่นางเสงี่ยม ปราบเสร็จ อายุ 64 ปีเจ้าของข้าวไร่ กล่าวว่า ปีนี้อยากปลูกข้าวไร่ อยากกินข้าวเม่า และอยากให้ทางการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกข้าวในสวนปาล์มหรือสวนยางก็ได้ สวนยางก็จะไม่รกและได้กินข้าวเม่าใหม่ ๆ ส่วนข้าวเจ้าของตนอีก 20 ไร่ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ย งอกงามกันทั้งสวน จึงอยากสนับสนุนให้ประชาชนปลูกเหมือนกับเรา เพราะได้ผลดีมาก.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี