ผ่านพ้นไปแล้วกับเวที “สานพลังพัฒนาสุขภาวะชุมชนเมือง สู่ความเป็นเพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย” จัดโดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยมี ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน เพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างสรรค์นวัตกรรมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมืองเพชรบูรณ์
เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวถึงการนำนโยบายสู่การขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนสู่ความเป็นเพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย ว่า เทศบาลได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการยกระดับการทำงานจากรูปแบบโครงการสู่การสร้างระบบการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน พร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แทนการบริหารแบบบนลงล่าง ซึ่งความร่วมมือกับ สสส. ก่อให้เกิดการพัฒนาหลายด้าน ทั้งระบบจัดการขยะแบบครบวงจร การดูแลสุขภาพชุมชนด้วยระบบข้อมูลเชิงลึก และโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน
รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน และชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรของเทศบาลให้ทำงานอย่างมืออาชีพมากขึ้นท้ายที่สุดเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์พร้อมเป็นต้นแบบให้กับเทศบาลอื่นๆ ในการพัฒนาระบบการทำงานร่วมกับ สสส. โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน
“เราวางวิสัยทัศน์เมืองเพชรบูรณ์แตกต่างจากจังหวัดอื่นที่ใช้คำว่า “เมืองน่าอยู่” เราเลือกใช้คำว่า“เมืองอยู่สบาย” ซึ่งสะท้อนเป้าหมายในการดูแลทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นคนทำมาหากิน ข้าราชการ หรือประชาชนทั่วไป ให้ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายทั้งด้านการเดินทางที่ไม่ติดขัด โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี” นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าว
นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนแนวคิด “เมืองอยู่สบาย” ของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ว่า สสส. ได้ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ผ่านการดำเนินงานหลากหลายด้าน อาทิ การส่งเสริมระบบการจัดการอาหารปลอดภัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเมืองอยู่สบาย สู่การพัฒนาเป็นเมืองพอเพียงและสมาร์ทซิตี้ ซึ่งล้วนเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ สสส. มีแนวคิดพัฒนาการทำงานจากเดิมที่เน้นพื้นที่ชุมชนชนบท มาสู่การพัฒนาชุมชนเขตเมืองมากขึ้น โดยได้ออกแบบการทำงานร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น พร้อมทั้งนำเครื่องมือทางวิชาการมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลทั้งระดับครัวเรือน ชุมชน และตำบล
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี การดำเนินโครงการพัฒนาสุขภาวะชุมชนเมือง สู่ความเป็นเพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย โดยเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ได้เกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ อาทิ 1.การพัฒนากลไกและระบบการทำงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมือง ผ่านแนวทางการพัฒนา 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ การพัฒนากลไกขับเคลื่อน การพัฒนาระบบข้อมูล การเพิ่มสมรรถนะผู้นำการจัดทำแผนพัฒนาเมืองแบบบูรณาการ การพัฒนาDigital Platform การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่
จนทำให้เทศบาลมีระบบข้อมูลตำบล TCNAP ครอบคลุมทั้ง 17 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 60.88 ของครัวเรือนทั้งหมด พร้อมบูรณาการการนำใช้ข้อมูลทั้งระดับชุมชน ตำบล และหน่วยงาน สู่แผนพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาโครงการด้านสุขภาวะชุมชนกว่า 88 โครงการ นอกจากนี้ยังสร้างผู้นำที่มีศักยภาพในการจัดการสุขภาวะชุมชน 323 คน และผู้นำรุ่นใหม่อีก 260 คน กระจายครอบคลุมทุกชุมชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเพชรบูรณ์อย่างยั่งยืน
2.การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพโดยชุมชน เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพชุมชนแบบองค์รวม ผ่านการติดตั้งจุดบริการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง Electronic health station 19 จุด ส่งผลให้การคัดกรองสุขภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.06 เป็น 22.17 และพบจำนวนผู้ที่มีภาวะเสี่ยงทางสุขภาพจากการคัดกรอง เข้าสู่ระบบการดูแลต่อเนื่อง จำนวน 134 ราย
ด้านการดูแลผู้สูงอายุ มีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Caregiver ; CG) และอาสานักบริบาล 21 คน ครอบคลุมการดูแลผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง จำนวน 252 คน (สัดส่วน 1:12 ) พร้อมใช้งบกองทุน LTC อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น154 คน เสริมการทำงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคในชุมชน
3.การส่งเสริมระบบการจัดการอาหารปลอดภัย เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์สร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ 5 แห่ง ประกอบด้วย วัดพระแก้ว วัดภูเขาดิน โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านไทรงาม) และอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยและแหล่งเรียนรู้ พร้อมพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย
เกิดหลักสูตรการสร้างอาหารปลอดภัยสำหรับนักเรียน ที่ขยายผลไปยังครัวเรือนต้นแบบได้ 30 ครัวเรือนสร้างรายได้จากการผลิตอาหารปลอดภัยจำหน่ายในโรงเรียน จำนวน 4,000 บาท ต่อรอบการผลิต อีกทั้งเกิดพื้นที่จำหน่ายอาหารปลอดภัย (โซนผักปลอดภัย) จำนวน 4 จุด ได้แก่ ตลาดสีเขียวทุกวันจันทร์ วันศุกร์ ตลาดอาหารปลอดภัยโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และตลาดเทศบาล 3
ทั้งนี้ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน เทศบาลเพชรบูรณ์ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัย 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านในเมืองที่วัดพระแก้ว และศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักไร้ดินที่โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) และได้ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคเอง ซึ่งปัจจุบันมีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 200 ครัวเรือน
4.การจัดการขยะในชุมชนเขตเมือง จากการปรับรูปแบบการจัดเก็บขยะและจัดการขยะของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ พร้อมทั้งการส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และสร้างสวัสดิการจากการคัดแยกขยะ ทำให้มีครัวเรือนคัดแยกขยะ 479 ครัวเรือน และมีครัวเรือนต้นแบบ 35 ครัวเรือน พร้อมสร้างข้อตกลงการจัดการขยะครอบคลุม 17 ชุมชน 5 หน่วยงาน และร้านค้า 22 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณขยะลดลงเหลือ 32 ตันต่อวัน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย 5-8 แสนบาทต่อปี และก่อตั้งกองทุนขยะปันสุขที่มีเงินหมุนเวียนในการดูแลกลุ่มเปราะบาง 20 ราย
5.การลดปัจจัยเสี่ยง-สร้างปัจจัยส่งเสริมสุขภาพ เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ประสบความสำเร็จในการลดนักดื่มและผู้สูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 33.01 และผู้ดื่มสุราลดลงร้อยละ 14.90 พร้อมสร้างต้นแบบ “คนหัวใจเพชร-หัวใจหิน” โดยมีคนหัวใจเพชร ที่เลิกเหล้ามากกว่า 3 ปี จำนวน 102 คน คนหัวใจหิน (งดเหล้าเข้าพรรษา) จำนวน 350 คน ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ยังส่งเสริมการออกกำลังกาย โดยมีผู้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.35 พร้อมสร้างแกนนำออกกำลังกาย 20 คน และก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมทางกายใหม่ 4 กลุ่ม
ในการจัดเวที “สานพลังพัฒนาสุขภาวะชุมชนเมือง สู่ความเป็นเพชรบูรณ์ เมืองอยู่สบาย” ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในขับเคลื่อนเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองที่ “อยู่สบาย” และมีสุขภาวะที่ดี พร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนเมืองต่อไป!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี