โฆษกคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ย้ำศึกษากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างโปร่งใส พิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย และใกล้สรุปรายงานฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอสภาฯ ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เข้าใจสังคมและฝ่ายสุขภาพกังวลเรื่องเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้า ชี้กมธ. เห็นปัญหาและต้องการแก้ไขอย่างรอบด้าน ไม่ผลักให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย
กรณีการจัดเวทีเสียงประชาชน รัฐบาลและรัฐสภารวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อเร็วๆ นี้ นายทศพร ทองศิริ อดีตสส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ ชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ. ว่า “คณะกรรมาธิการฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนสมาคมแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า มาร่วมแสดงความคิดเห็น มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะ เพื่อพิจารณากฎหมายและรวบรวมข้อมูล
ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสรุปผลและจัดทำรายงาน รายงานฉบับดังกล่าวจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ทางเลือก ได้แก่ 1) การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน พร้อมเพิ่มมาตรการปราบปรามเข้มงวด 2) การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน และ 3) การควบคุมผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบภายใต้กฎหมาย
พร้อมเสริมว่า “การศึกษานโยบายบุหรี่ไฟฟ้าที่ผ่านมา มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีการพิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการ ประกอบด้วยสมาชิก 35 คน มาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ข้อกล่าวหาที่ว่าการทำงานของ กมธ. ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบจึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกล่าวอ้างที่ไร้ความรับผิดชอบ กมธ. เห็นว่า วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาประเด็นต่างๆ คือการรวมความเห็นและข้อมูลจากทุกกลุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่ารายงานจะครบถ้วน รอบด้าน สมบูรณ์ ดังนั้น การรวมมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงมุมมองของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณานโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมดุล เหมาะสม และทั่วถึง”
นายทศพรยังกล่าวถึงความกังวลเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนว่า “เรื่องนี้กำลังเป็นที่กังวลของคนในสังคม ซึ่ง กมธ. ยินดีรับฟังเสียงของประชาชน และเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพ เราเข้าใจและรับฟังข้อเสนอของฝ่ายสุขภาพ แต่ก็ต้องพิจารณามิติในด้านอื่นให้รอบด้าน ไม่สามารถมองเฉพาะมิติด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวได้
ยกตัวอย่างเช่น มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางกฎหมายและการบังคับใช้ เป็นต้น เราดูทั้งบริบทในประเทศ และตัวอย่างจากประเทศที่ทั้งควบคุมให้ถูกกฎหมาย จึงอยากให้นำเรื่องนี้มาช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหา แต่อยากให้ใช้กลไกของรัฐสภาในการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะผลักให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นอาชญากรที่ทำผิดกฎหมาย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี