10 ปี‘พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ’ เพราะสัตว์ที่ถูกทำร้ายไม่อาจร้องขอชีวิตเองได้
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 และให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 ธันวาคม 2557
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีของกฎหมาย ก็เกิดปรากฏการณ์การตื่นรู้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์มากมาย มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ และการตัดสินคดีความเกี่ยวกับการทารุณสัตว์ที่เป็นบรรทัดฐานไม่น้อยกว่า 40 คดี มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ประจำอำเภอและจังหวัด มีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
นอกจากนั้นมีการออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 14 ฉบับ รวมถึงกำลังมีการศึกษาเพื่อรองรับในการออกกฎหมายลำดับรองเพิ่มเติม เช่น การจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานสงเคราะห์สัตว์ การจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับสุนัขอันตราย การจัดสวัสดิภาพและขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง การกำหนดสัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติเพิ่มเติม และ การจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อใช้ในการแสดง เป็นต้น
ดร.สาธิต กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะกฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายภาคประชาชน ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ นำโดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) มีคุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ เป็นนายกสมาคมฯ คุณสวรรค์ แสงบัลลังค์ เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ ในขณะนั้น มีการพัฒนากฎหมายฉบับนี้เรื่อยมาตั้งแต่ ปี 2537 จนการประกาศปฏิญญาเจตารมณ์กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์แห่งชาติ ของ 32 องค์กร เมื่อวันที่ 19-20 มีนาคม 2548 ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา จนกระทั่งมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 12,000 รายชื่อ (แต่คุณสมบัติครบถ้วน 11,510 คน) ยื่นร่างกฎหมายภาคประชาชนต่อรัฐสภา
โดยมีองค์กรเครือข่ายที่เป็นพันธมิตร สื่อมวลชน สถาบันการศึกษาจากทั่วประเทศ เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนผู้รักสัตว์ ร่วมกันผลักดัน โดยมีเจตนารมณ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการพัฒนายกระดับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาอารยประเทศ ที่มักเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้าหรือบอยคอตประเทศไทยเรื่อยมา
ที่สำคัญเพราะสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรมและเจ้าของสัตว์ต้องมีความรับผิดชอบในการจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสม ตามประเภท และชนิดและขนาด ทั้งในระหว่างเลี้ยงดู การขนส่งสัตว์ การนำสัตว์ไปใช้หรือการนำสัตว์ไปแสดง นอกจากกฎหมายจะรับรองคุ้มครองสัตว์เลี้ยงแล้ว สัตว์ที่อาศัยในธรรมชาติบางชนิดก็ได้รับการรับรองและคุ้มครองเช่นกัน
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้มีการสำรวจความคิดเห็นและทำรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ตลอดระยะ 10 ปี พบว่า ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากพระราชบัญญัตินี้ เช่น
1) ประชาชนรับรู้ว่า ต้องไม่กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร เพราะจะมีความผิดกฎหมาย ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ
2) ประชาชนรับรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์ โดยเจ้าของต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม และต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต้องไม่ปล่อยหรือละทิ้ง การขนส่งสัตว์และนำสัตว์มาใช้ในการแสดง เพราะการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสม มีโทษปรับสูงสุดสี่หมื่นบาท
3) การที่ประชาชนไม่กระทำการทารุณกรรมสัตว์และต้องเลี้ยงดูสัตว์ของตนเองอย่างรับผิดชอบ เป็นคุณธรรมที่ส่งเสริม “ความมีเมตตากรุณาต่อสัตว์” เป็นคุณธรรมพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข ในอันที่ทำให้มนุษย์ย่อมมีความเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และที่สำคัญการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี จะนำมาสู่สวัสดิภาพของมนุษย์ที่ดีด้วยเช่นกัน ดังคำกล่าวของ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ที่ว่า “สวัสดิภาพสัตว์ เพื่อสวัสดิภาพคน”
นอกจากนั้น TSPCA ได้จัดสัมมนาเครือข่ายครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมแคนทารี อมตะบางปะกง จังหวัดชลบุรี โดยได้จัดทำแบบสำรวจเพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ร่วมสัมมนาและประชาชนโดยทั่วไป เกี่ยวกับประเด็นการบังคับใช้กฎหมายและแก้ไขความขัดแย้งของคนและสัตว์ โดยได้เปิดโอกาสให้แสดงทัศนะ ในอันที่จะสร้างการรับรู้ และผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน ด้วยแนวทางสันติวิธี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน แบ่งออกเป็น 17 ประเด็น มีรายละเอียดดังนี้
ประเด็นที่ 1 เห็นด้วย 96 % ควรมีการส่งเสริมการทำหมันสัตว์จรจัดและสัตว์ในชุมชน เช่น สุนัข แมว ลิง อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ที่รวดเร็วต่อเนื่อง เช่น การทำหมันเป็นการลดจำนวนประชากรสัตว์จรจัด ลดการติดเชื้อ แหล่งขังโรค และควบคุมประชากร เป็นวิธีจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม ตรงจุดและยั่งยืน ไม่เห็นด้วย 4 % เช่น การทำหมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ประเด็นที่ 2 เห็นด้วย 84 % องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ในชุมชนที่ได้มาตรฐาน ครบทุกจังหวัด เช่น ท้องถิ่นย่อมจัดการปัญหางานดีกว่าเหมารวมส่วนกลาง สถานพยาบาลจัดสร้างได้ มีงบประมาณ การนำสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลแพงมาก ไม่เห็นด้วย 16 % เช่น การจัดตั้งสถานพยาบาลจะซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์หรือไม่
ประเด็นที่ 3 เห็นด้วย 96 % มีการขึ้นทะเบียนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ สถานสงเคราะห์สัตว์ สถานพักพิงสัตว์ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนทรัพยากร ในการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐาน การขึ้นทะเบียนเป็นข้อมูล data พื้นฐาน เป็นการรวบรวมเข้าไว้ในฐานข้อมูล เพื่อการสืบค้นและการจัดระเบียบ ทำให้สามารถรู้ได้ว่าสัตว์ไปไหน ลดจำนวนสัตว์จรจัดได้ ควรมีการควบคุมให้ได้ตามมาตรฐาน ไม่เห็นด้วย 4 % เช่น ควรระบุให้ชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้
ประเด็นที่ 4 เห็นด้วย 100 % จัดให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว และสัตว์อื่นๆ เช่น หากเจ้าของทิ้งสัตว์ของตน จะลงโทษเจ้าของได้ และเพื่อทราบจำนวนประชากรสัตว์ที่แท้จริง และควรควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย การลงโทษ เพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนหลัง และการขึ้นทะเบียน ให้มีอัตราค่าธรรมเนียมเฉพาะสุนัขและแมวที่ไม่ทำหมัน ที่ทำหมันแจ้งให้จดทะเบียนฟรี
ประเด็นที่ 5 เห็นด้วย 100 % จัดให้มีการขึ้นทะเบียน ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์หรือผู้ประกอบการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ฟาร์มไม่ได้มาตรฐานมีจำนวนมาก
ประเด็นที่ 6 เห็นด้วย 97 % มีการนำกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่อง การรวบรวมพยานหลักฐานและการพัฒนาการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เช่น เพื่อบ่งชี้ ระบุตัวตน มีประโยชน์ในการติดตาม เมื่อมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ไม่เห็นด้วย 3 % เช่น ยุ่งยาก สิ้นเปลืองงบประมาณ
ประเด็นที่ 7 เห็นด้วย 96 % สนับสนุนโครงการสุนัขชุมชน ควบคู่ การทำเครื่องหมายสัญลักษณ์อื่นๆ การใช้ปลอกคอที่สามารถระบุพฤติกรรม เช่น ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วม มีการเฝ้าระวังปัญหาขัดแย้ง ลดสุนัขจรจัด ควรผลักดันสร้างค่านิยมการเลี้ยงสัตว์ใหม่ ไม่เห็นด้วย 4 % เช่น คนในชุมชนบางแห่งก็ไม่ได้ชอบสุนัขทุกคนและไม่ประสงค์จะให้มีสุนัขเพราะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ
ประเด็นที่ 8 เห็นด้วย 82 % จัดฝึกอบรมบุคคลเพื่อเข้าเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น การเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็นการช่วยเหลือพนักงานของภาครัฐในเบื้องต้น ไม่เห็นด้วย 18 % เช่น เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับภาครัฐ มีบุคคลบางประเภทแฝงตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองมากกว่าการเสียสละเพื่อส่วนรวม
ประเด็นที่ 9 เห็นด้วย 95 % ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้ การช่วยเหลือฉุกเฉิน กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย วาตภัย และอื่นๆ เช่น ควรมีแผนการจัดการอุบัติภัยสัตว์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อการเผชิญเหตุได้ทันท่วงที ดั่งกรณีเหตุการณ์ ไฟไหม้ที่ตลาดขายสัตว์ จตุจักร ไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ได้ทันการ ทำให้สัตว์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่เห็นด้วย 5 % เช่น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว
ประเด็นที่ 10 เห็นด้วย 100 % จัดทำคู่มือประชาชน ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
ประเด็นที่ 11 เห็นด้วย 93 % คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ดำเนินการจัดประชุมต่อเนื่อง ในการกำหนดแผน นโยบายสาธารณะ เช่น ควรดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทันต่อเหตุการณ์ ไม่เห็นด้วย 7 % เช่น การประชุมบ่อยอาจสิ้นเปลืองงบประมาณของรัฐ
ประเด็นที่ 12 เห็นด้วย 100 % ใช้กระบวนการทางกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ควบคู่การส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น เพื่อความยั่งยืน กระบวนการมีส่วนร่วมควรเป็นตามแนวทางสันติวิธี และแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ประเด็นที่ 13 เห็นด้วย 80 % สนับสนุนระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำให้สถานสงเคราะห์สัตว์ในท้องถิ่นบริหารจัดการตนเองได้ เช่น แต่ละพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าใจปัญหาสามารถบริหารจัดการและแก้ปัญหาสัตว์ ไม่เห็นด้วย 12 % เช่น ถ้าขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี งบประมาณดังกล่าวอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาของสัตว์ในท้องถิ่นที่แท้จริง
ประเด็นที่ 14 เห็นด้วย 92 % สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์ ทำให้ร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินอื่นๆ ได้รับความเสียหาย ประชาชนที่สนใจติดตามร่วมสนับสนุนทุนเพื่อการช่วยเหลือเยียวยานั้นได้ ไม่เห็นด้วย 8 % เช่น บางกรณีกองทุนไม่มีความโปร่งใส ติดตามตรวจสอบยากและมักเอื้ออำนวยให้บุคคลใกล้ชิดยิ่งกว่าประโยชน์ของประชาชน
ประเด็นที่ 15 เห็นด้วย 67 % เพิ่มบทบาทขององค์กรภาคเอกชนในการมีส่วนร่วม ในการส่งเสริมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของคนและสัตว์ เช่น เอกชนมีความคล่องตัวมากกว่าภาครัฐ มีทรัพยากรการดำเนินงานมาก ไม่เห็นด้วย 33 % เช่น ถ้าวางกรอบการดำเนินงานไม่ชัดเจน อนาคตจะมีความขัดแย้งมากขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มต่างๆ มากมายที่แสดงตนทำเพื่อสังคมเพื่อสัตว์
ประเด็นที่ 16 เห็นด้วย 70 % มีการบรรจุรับรองและคุ้มครองสัตว์ไม่ให้ถูกทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์อย่างเหมาะสม ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เช่น กฎหมายเพื่อสวัสดิภาพของสัตว์ในประเทศไทยเริ่มมีพัฒนาการที่ประชาชนตื่นรู้ยิ่งขึ้น ถ้ามีหลักกฎหมายสูงสุดรับรองไว้ ก็เป็นการให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ไม่เห็นด้วย 30 % เช่น จะเป็นการเพิ่มสิทธิ์ของสัตว์แล้วอาจจะไปกระทบกับหลักกฎหมายอื่นๆ
ประเด็นที่ 17 เห็นด้วย 77 % ควรมีการสร้างค่านิยม สัตว์ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่า เช่น จะเป็นพื้นฐานของเรื่องการยกระดับการขับเคลื่อนการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้มีน้ำหนักขึ้น ไม่เห็นด้วย 23 % เช่น จะให้คุณค่าสัตว์เกินความจำเป็น และลิดรอนสิทธิ์บางประการที่มนุษย์สามารถปฏิบัติกับสัตว์ได้ ในฐานะเจ้าของสิทธิ์ในตัวสัตว์
10 ปี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
เป็นเรื่องที่ท้าทาย ที่ทุกภาคส่วน จะมีส่วนร่วมในการติดตามการบังคับใช้กฎหมาย เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น ในมิติต่างๆ เพื่อเป้าหมาย เช่นด้านสาธารณสุข “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย” ด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ด้วยหลักการแห่งเมตตาธรรม ที่สำคัญคือหลักความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ ทั้งต่อตัวสัตว์และสังคม ชุมชน ประเทศชาติ ในการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์อย่างสันติสุข ตลอดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี