ผ่านพ้นไปแล้วกับงาน “สมัชชา สิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567” ภายใต้แนวคิด “Our Rights Our Future สิทธิของเรา อนาคตของเรา” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งงานในครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายได้มีข้อเสนอแนะจากการดำเนินงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และจากการหารือในเวทีสมัชชากลุ่มย่อยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1.สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือวิกฤตโลกเดือดในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวัฏจักรของน้ำที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อสิทธิมนุษยชนของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต โดยมีความกังวลว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่อาจเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและทำลายสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ โครงการที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โครงการพลังงานหมุนเวียน หรือโครงการที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมืองและสิทธิชุมชนได้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ให้จัดทำกฎหมายและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศบนฐานของสิทธิมนุษยชน
โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดพื้นที่ให้บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็กและเยาวชนผู้หญิง เกษตรกรในชนบท ชุมชนชายฝั่ง ชุมชนประมงพื้นบ้าน ชนพื้นเมืองเข้ามามีส่วนในการร่างกฎหมาย ผลักดันให้มีการรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ รวมตลอดทั้งสนับสนุนให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทบทวนการนำกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตมาใช้
เนื่องจากถูกวิจารณ์ว่าไม่นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง เอื้อให้เกิดการฟอกเขียว และเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรที่ดินและป่าไม้จากชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รับรองสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโดยอาจแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทและอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ให้ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย
2.สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น การซ้อมทหารเกณฑ์และผู้ต้องหา การดำเนินคดีล่าช้าจนคดีขาดอายุความ ปัญหาการพ้นผิดลอยนวล รวมถึงการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายหรือการมีอิทธิพลอยู่เหนือกฎหมาย จึงมีข้อเสนอให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธาร เช่น ขับเคลื่อนให้นำแผนพัฒนาสถานีตำรวจซึ่งจัดทำร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสม. กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไปสู่การปฏิบัติ
พัฒนาแนวทางการคุ้มครองให้ผู้ต้องหาในคดีอาญามีทนายความตั้งแต่ชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนทุกขั้นตอน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการสอบสวน โดยเพิ่มขีดความสามารถและสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่พนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ
โดยให้จัดทำอนุบัญญัติและรวบรวมปัญหาอุปสรรคจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยเฉพาะการบันทึกภาพและเสียง การเก็บรักษา การแจ้งการควบคุมตัว รวมทั้งสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดย กสม. ได้มีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาแนวทางการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (NPM) และมาตรฐานการตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง ให้สอดคล้องตาม OPCAT แล้ว
3.สิทธิผู้สูงอายุ เห็นว่า ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยพบว่ายังมีช่องว่างในการประกันสิทธิพื้นฐานให้กับผู้สูงอายุ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีสนธิสัญญาหรือมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในทุกมิติ และป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ (age discrimination) ประกันสิทธิเกี่ยวกับหลักประกันรายได้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพและจัดให้มีการออมภาคบังคับที่เหมาะสมสำหรับแรงงานนอกระบบและแรงงานอิสระ
รวมทั้งสร้างระบบการออมระยะยาวเพื่อชีวิตหลังเกษียณงาน นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อส่งเสริมการจ้างและขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งบรรจุนโยบายเรื่องการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุให้อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างมีความสุข (ageing in place) ไว้ในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ และแผนงานทุกระดับ โดยระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงสถานที่และบริการสาธารณะของผู้สูงอายุตามหลักอารยสถาปัตย์ ที่สะดวก ปลอดภัย และเหมาะสม
นอกจากนี้ ในเวทียังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนด้วยการจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีชี้วัดสิทธิมนุษยชน ของ กสม. รวมทั้งการนำเสนอผลการส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยการจัดทำแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมา มีองค์กรนำร่องทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม จำนวน 19 องค์กร ที่ได้ประกาศแนวนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่ทำงานในองค์กรนั้นๆ แล้ว!
อนึ่ง ในการกล่าวเปิดงาน พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปีข้างหน้า กสม. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่อง “สิทธิสำหรับอนาคต” ทั้งสิทธิแรงงานอิสระ สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการหารือกันต่อไป
“ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสำหรับเราทุกคน” ประธาน กสม. กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี