เป็นธรรมเนียมที่ทำกันประจำทุกปี กับการตั้ง “ฉายารัฐบาลและรัฐมนตรี” โดยคณะผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยล่าสุดมีการเผยแพร่ “ฉายารัฐบาลปี’67” เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ซึ่งให้นิยามรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ว่า “รัฐบาลพ่อเลี้ยง” โดยอธิบายว่า หมายถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร และขึ้นชื่อเรื่องความรักลูกไม่น้อยหน้าใคร ทั้งปกป้อง เลี้ยงดู อุ้มชู ปูทาง จนได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ
และไม่ใช่เฉพาะการเลี้ยงดูลูกสาวสุดที่รักในสนามการเมืองเท่านั้น แต่นายทักษิณยังเป็นเจ้าของวลีเด็ด “เลี้ยงมาม่า” แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า สะท้อนภาพผู้เลี้ยงรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งในวันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ก็ได้ตอบสื่อเรื่องฉายารัฐบาลดังกล่าว ว่า คิดว่าเป็นเรื่องดี นายทักษิณ ผู้เป็นพ่อมีประสบการณ์ส่งเสริมกันก็เป็นเรื่องดี ตอนเศรษฐกิจยุคนายทักษิณก็ดี บางอย่างที่ปรับใช้ในยุคนี้ได้ก็ยิ่งดี ต้องหัดมองมุมที่ดีบ้าง
ส่วนนายทักษิณ ที่วันดังกล่าวเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของพรรคเพื่อไทย ก็ให้ความเห็นแบบติดตลกว่า สงสัยสื่อมวลชนเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นคนเหนือ เพราะคนเหนือชอบเรียกพ่อเลี้ยง และเมื่อพรรคเพื่อไทยทำเศรษฐกิจดี คน จ.เชียงใหม่และคนเหนือก็จะเป็นพ่อเลี้ยงกัน
แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องจับตาไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 สาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดกรมราชทัณฑ์ และสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ รวม 12 คน ในคดี “นักโทษชั้น 14” หรือช่วงที่นายทักษิณ ต้องรับโทษจำคุก 1 ปี มีการส่งตัวจากเรือนจำมาอยู่ใน รพ.ตำรวจ อ้างเหตุด้านปัญหาสุขภาพ ว่านายทักษิณป่วยจริงหรือมีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นกรณีบทบาทของนายทักษิณ ต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายกฯ น.ส.แพทองธาร จนถูกสื่อมวลชนตั้งฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง ว่า หากให้ตนตั้งฉายานายทักษิณก็คงเหมือนกับเวลาที่นักศึกษาสายอาชีวะสถาบันต่างๆ ชอบไปพ่นสีสเปรย์บนกำแพงว่า “…พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งสงสัยว่านายทักษิณจะอยู่ในเกณฑ์นั้น
เพราะเมื่อดูในภาครัฐ อำนาจบริหารกับนิติบัญญัติก็มีบทบาทอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว รวมถึงตำรวจและข้าราชการประจำ ส่วนตุลาการก็เริ่มก้าวล่วงเข้าไป อาจจะเหลือองค์กรอิสระกับกองทัพ ส่วนภาคเอกชน เจ้าสัวต่างๆ ก็ยังต้องเดินตามเป็นขบวนเพราะอยู่ฝ่ายตรงข้ามอาจเป็นอันตราย ขณะที่ภาคประชาสังคมก็อ่อนแอ ฝ่ายตรวจสอบร่อยหรอ แม้แต่สื่อที่ส่วนใหญ่มีแต่ข่าวเชียร์รัฐบาลหรือไม่ก็ข่าวอื่นๆ สัพเพเหระ
ซึ่งตนขอพูดในฐานะที่เคยทำงานสื่อ มองว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ เพราะการตั้งฉายารัฐบาลแม้ดูแล้วคมมาก แต่หากจะให้คมกว่านั้นคือการทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชนขณะที่ฝ่ายค้านก็เหมือนไม่มี ตนมองว่าพรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้านเทียมเพราะมีเรื่องดีลลับฮ่องกง จึงตรวจสอบแบบพอเป็นพิธี เพราะหากเอาจริง บุกชั้น 14 ตั้งแต่ปีที่แล้วก็น่าจะได้ข้อมูลเยอะ แต่ทำกันแบบเพียงแตะๆ อย่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ที่ไปแค่ชั้น 6 ก็กลายเป็นการฟอกขาว จริงๆ ขึ้นไปชั้น 14 ก็รู้แล้วว่ามีคนอยู่หรือไม่
ส่วนกรณีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่ 10 กรณีคอร์รัปชันประจำปี 2567 โดยให้เรื่องนักโทษชั้น 14 ที่ไม่เคยอยู่ในเรือนจำมาเป็นอันดับ 1 และให้นิยามว่าเป็นการโกงซ้อนโกง ว่า คดีความของนายทักษิณ มี 5 คดี ศาลตัดสินลงโทษ 4 คดี อีก 1 คดียกฟ้อง และใน4 คดี หมดอายุความไป 1 เท่ากับเหลือ 3 คดี มีโทษจำคุกรวมกัน 8 ปี และยังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจำคุกจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี แต่ที่บอกว่าโกงซ้อนโกงคือ 1 ปีไม่มีอยู่จริง
อย่างที่บอกว่าได้เข้าไปในเรือนจำเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปอยู่ในพื้นที่แรกรับ และไม่รู้ว่ามีการลงทะเบียนจริงหรือไม่ ซึ่งมีคนมาบอกตนว่าในเรือนจำมีการเตรียมห้องขังสำหรับนายทักษิณไว้แล้ว โดยเป็นการนำห้องขังจำนวน 5 ห้อง ที่ปกติ 1 ห้องจะจุผู้ต้องขังได้ 40-50 คน มาทุบรวมกันเป็น 1 ห้องอีกทั้งยังติดแอร์ให้ด้วย แต่ไม่ว่านายทักษิณจะเป็นผู้เลือกว่าจะอยู่ในเรือนจำหรือไม่ สุดท้ายนายทักษิณก็ไม่ได้เข้าไป ซึ่งนายทักษิณได้เข้าเรือนจำหรือไม่ ต้องไปดูกล้องวงจรปิด ว่าอยู่ในพื้นที่แรกรับ พื้นที่ตรวจรักษา พื้นที่กักกันโรค หรือแดนคุมขังแต่ 2 อย่างหลังไม่ได้อยู่แน่
แต่เมื่อพูดถึงกล้องวงจรปิด สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ ขนาดกล้องจับภาพคนทำผิดกฎจราจรยังถ่ายเห็นแม้กระทั่งหน้าคนขับรถ แต่กล้องที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ บอกเสียทั้งตึก ตนยืนยันเลยว่าโกหก และตนเคยเสนอด้วยว่าหากกล้องเสียเดี๋ยวตนออกเงินซื้อให้ ชุดละไม่กี่หมื่นบาทลงขันกันได้ แต่ผ่านมา 181 วันไม่มีกล้อง เป็นไปไม่ได้เว้นแต่ตั้งใจจะไม่บันทึกจึงทำให้เสีย เรื่องนี้ ป.ป.ช. ก็ต้องดำเนินคดีกับแพทย์ใหญ่หรือหัวหน้าสั่งการตึก
ส่วนการตรวจสอบของแพทยสภา ที่ทำได้คือถอนใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งคนที่อาจถูกถอนและกำลังอยู่ในการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ด้วย คือแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจคนปัจจุบัน และอดีตแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ที่ปัจจุบันขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. โดยแพทย์ทั้ง 2 คนเป็นแพทย์ด้านสมอง และจริงๆ จะต้องตรวจสอบไปถึงหัวหน้าพยาบาลด้วย เพราะหากนายทักษิณพักอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ตลอด 181 วันจริง จะต้องมีเวชระเบียน อย่างเวลาเราไปนอนโรงพยาบาล ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง จะมีพยาบาลมาบันทึกข้อมูล เช่น ให้น้ำเกลือ ตรวจเลือดวัดอุณหภูมิ ฯลฯ
ซึ่งตลอด 181 วันที่นายทักษิณอยู่ รพ.ตำรวจ จะต้องมีผู้เกี่ยวข้องเป็นร้อยคนทั้งแพทย์และพยาบาล แต่ตอนนี้ไม่มีทั้งเวชระเบียนและกล้องวงจรปิด ขณะที่ยังมีแพทย์ซึ่งเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคกระดูก ถูกตามให้มาผ่าไหล่นายทักษิณตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีการเจาะรู 4 รู แต่การเจาะรูดังกล่าวไม่ใช่อาการร้ายแรง และหากมีอาการร้ายแรงจริงแพทย์ก็จะไม่ผ่าตัดให้
“อาการไหล่จะมี 1.นักกีฬาออกกำลังกายหนักเส้นเอ็นฉีก เช่น เล่นรักบี้ ตีกอล์ฟหนักๆ 2.หกล้มหรือเครียดจัด ก็เหมือนมือติด ฉะนั้นทางรักษามันมี 1.ทานยา ให้สเตียรอยด์ 2.กายภาพบำบัดหรือฝังเข็มตามแพทย์แผนจีน 3.ผ่าตัด การผ่าตัดเป็นโอกาสแก้หายได้เลย ฉะนั้นร่างกายต้องสมบูรณ์มาก แพทย์คนนี้ไม่อยู่ใน 157 แต่ท่านอาจโดนถอนใบอนุญาตได้ แต่ถามว่าท่านผิดไหม? ไม่ผิด!เพราะท่านก็แค่ไปผ่าตัด เพียงแต่วันนี้ท่านถูกสั่งห้ามไม่ให้พูด” นายสมชาย กล่าว
อดีต สว.สมชาย กล่าวต่อไปว่า ตนทราบมาว่ามีคนในภาครัฐไปสั่งห้ามไม่ให้แพทย์นอกราชการท่านนี้พูด ตนก็ต้องบอกว่าหากไม่พูดท่านอาจต้องรับคดีเอง อย่างคดีจำนำข้าวก็มีคนจากภาคเอกชนติดคุกด้วย ดังนั้นท่านควรไปให้การตามความจริงว่าตอนไปผ่าตัด 4 รูให้นายทักษิณ เป็นการผ่าตัดแก้หัวไหล่หรือไม่ หากใช่ท่านก็พอแค่นั้น ส่วนแพทยสภาจะวินิจฉัยถอนหรือไม่ถอนใบประกอบโรคศิลปะก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือ ป.ป.ช. จะวินิจฉัยว่าสมควรแก่เหตุหรือไม่ ที่จะอนุญาตให้นายทักษิณอยู่โรงพยาบาล
โดยการอนุญาตจะมีตั้งแต่ 30 วัน 60 วัน 120 วัน 180 วัน ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำและอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ลงนามอนุญาต ก็ต้องไปดูเวชระเบียน ส่วนคำถามว่าผลการตรวจสอบของแพทยสภาจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่ เรื่องนี้คนที่ตามตั้งแต่ต้นคือนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานรัฐสภา อีกทั้งยังเป็นนักกฎหมาย ดังนั้นท่านก็คงถาม ส่วนตนมองว่าควรเปิดเผยแล้วส่งผลไปให้ ป.ป.ช. แล้วป.ป.ช. จะต้องดูการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไป รพ.ตำรวจ
ซึ่งบันทึกของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่ง เคยตรวจสอบไว้มีรายละเอียดหมดแล้ว หรือรายงานของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็มีรายละเอียดแล้ว ดังนั้น ป.ป.ช. ก็ทำเพียงไปเติมเต็ม เช่นเวชระเบียน คนอนุญาต รวมถึงดูเรื่องการพักโทษให้กลับไปอยู่บ้าน ที่นอกจากกรณีนายทักษิณแล้ว ยังมีผู้ต้องโทษในคดีจำนำข้าวได้รับการพักโทษเช่นกัน ว่าได้ใช้เกณฑ์ ADL อย่างเหมาะสมหรือไม่ หากไม่เหมาะสมก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
โดยหลักสากลเรื่องเกณฑ์ ADL จะมีตัวชี้วัด เช่นกลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะได้หรือไม่ ลุกขึ้นยืนและเดินด้วยตนเองได้หรือไม่ อาบน้ำแต่งตัวเองได้หรือไม่ เป็นต้น โดยหากเป็นกลุ่มติดเตียง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายโรคไตวาย มะเร็งหรือเอดส์ จะอยู่ที่ 0-4 คะแนน ก็จะให้กลับไปอยู่กับครอบครัวเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต ถัดมาคือ 5-11 คะแนน เป็นกลุ่มกลางๆ ซึ่งนายทักษิณอยู่ในกลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้ก็ต้องช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ขึ้นบันไดไม่ได้ ซึ่งตนเห็นข้อขัดแย้ง และกรรมการพักโทษควรถูกดำเนินคดีด้วย!!!
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบเด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
เกณฑ์ ADL : คืออะไร? : เอกสารประกอบการบรรยาย “การประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ ADL/TAI” โดย วันเพ็ญ แพมงคล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เผยแพร่วันที่ 7 มิ.ย. 2566 อธิบายว่า ADL ย่อมาจาก Activities of Daily Living (กิจกรรมในชีวิตประจำวัน) โดยมีคะแนนเต็ม 20 และแบ่งผู้สูงอายุถูกประเมินเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.กลุ่มติดสังคม (ตั้งแต่ 12 คะแนนขึ้นไป) ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชนและสังคมได้ 2.กลุ่มติดบ้าน (5-11 คะแนน) หมายถึงผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองได้บ้าง ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 2.1 เคลื่อนไหวได้บ้าง มีปัญหาการกิน/การขับถ่าย แต่ไม่มีภาวะสับสน กับ 2.2 เคลื่อนไหวได้บ้าง มีภาวะสับสน และอาจมีปัญหาการกิน/การขับถ่าย
และ 1.กลุ่มติดเตียง (0-4 คะแนน) หมายถึงผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองไม่ได้ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พิการ หรือทุพพลภาพ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ 3.1 เคลื่อนไหวเองไม่ได้ ไม่มีปัญหาการกิน/การขับถ่ายหรือเจ็บป่วย กับ3.2 เคลื่อนไหวเองไม่ได้ เจ็บป่วยรุนแรงหรืออยู่ในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งจะมีรายการ (Checklist) กิจวัตรประจำวันในด้านต่างๆมาให้ผู้ประเมินดูว่าสามารถทำสิ่งนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://www.tphcp.go.th/wp-contenthttps://static.naewna.com/uploads/2023/08/45-การประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ-ADL-TAI.pdf
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี