“เขาบอกว่ามี 5 เรื่อง ที่บอกว่าเราต้องเลี้ยงดูแบบฟูมฟักเอาใจใส่เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีสุขภาพกาย-ใจแข็งแรง มีศักยภาพการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต และสร้างสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ 1.ดูแลสุขภาพเขาทั้งกายและใจ 2.ดูแลโภชนาการเขา ให้อาหารในการเจริญเติบโตที่ดี 3.ดูแลความปลอดภัย ไม่ให้เขาต้องบาดเจ็บ 4.ส่งเสริมการเรียนรู้แต่เขาบอกว่า 4 เรื่องนี้ต้องอยู่บนฐานอีก 1 เรื่อง อันนี้สำคัญที่สุด นั่นก็คือ 5.ความสัมพันธ์เชิงบวก”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในวงเสวนา “การเลี้ยงดูเชิงบวก เป็นจริงได้ไหมในชุมชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ถึงความสำคัญของ “ความสัมพันธ์เชิงบวก” ที่มีผลต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของมนุษย์
ถึงกระนั้น เมื่อพยายามจะสอนพ่อแม่ให้เลี้ยงลูกแบบเชิงบวก กลับพบว่า “พ่อแม่ก็อยู่บนความเปราะบาง” เช่น มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี มีปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ จึงต้องอาศัยความร่วมมือขององคาพยพต่างๆ ในสังคม เช่น สถานศึกษา สถานพยาบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ เพื่อสร้าง “ชุมชนแห่งการเลี้ยงดูเชิงบวก”นำมาซึ่งคำถามว่าชุมชนแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือ?
หัสยาดา มัดลัง ผู้แทนศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ วัดศาลาแดง เขตบางแค กรุงเทพฯ ฉายภาพบทบาทของ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านการเรียนรู้ ประเมินพัฒนาการตามช่วงวัยอย่างเหมาะสม และหากเจอปัญหา เช่น ด้านพัฒนาการ มีการประสานทางสาธารณสุขเพื่อประเมินว่ามีพัฒนาการสมวัยหรือไม่ นอกจากนั้น การที่เด็กอยู่ที่ศูนย์ 8 ชั่วโมงต่อวันผู้ดูแลจึงเหมือนกับเป็นพ่อแม่ทดแทนคนหนึ่ง
“มีเด็กคนหนึ่งมาด้วยความงอแง ไม่ชอบคุยกับใคร ชอบเล่นคนเดียว มันเป็นอะไรที่สะกิดใจเรา ทำไมเขาชอบไปนั่งอยู่มุมห้อง? ทำไมทำงานต้องทำคนเดียว? ไม่ทำ-ไม่เล่นกับเพื่อน ก็เลยได้เข้าไปพูดคุย แต่จะเข้าไปถามตรงๆ ก็ไม่ค่อยจะสะดวก ไม่ค่อยจะดีเท่าไร ก็เลยสร้างความไว้ใจ เล่นกับเขา ให้ความรักความอบอุ่นกับเขาก่อน ให้เขาเชื่อใจเรา ยอมรับฟังเขาด้วยใจจริงของเรา เขาก็ยอมบอกเหตุผลและสาเหตุ เขาบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ทะเลาะกันเสียงดัง ใช้ความรุนแรง และทิ้งเขาให้อยู่กับคุณตาคุณยายโดยที่ไม่สนใจเขาเลย” หัสยาดา ยกตัวอย่าง
หัสยาดา เล่าต่อไปว่า เมื่อทราบที่มาของพฤติกรรมเด็กแล้วจึงตัดสินใจคุยกับพ่อแม่ ถามว่าพร้อมจะปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกไปพร้อมกับทางศูนย์ฯ หรือไม่? “ศูนย์ฯ พยายามช่วยพ่อแม่แล้ว พ่อแม่ก็ต้องช่วยลูกของตนเองด้วยเช่นกัน”จึงเป็นที่มาของโครงการ “ห้องเรียนสายใยแห่งรัก..จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ชุมชนการเลี้ยงดูเชิงบวก” โดยเริ่มจากการ “ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านทุกหลังคาเรือน” เพื่อรับรู้ปัญหา และเห็นว่ายังมีเด็กอีกหลายคนในชุมชนที่มีปัญหาคล้ายกับกรณีตัวอย่างข้างต้น
เมื่อดูปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูเพราะต้องทำงานหาเงินเข้าบ้าน ขณะที่ปู่ย่าตายายที่ควบคุมเด็กไม่ได้ก็ปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงพ่อแม่มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด แม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ โดยโครงการห้องเรียนสายใยแห่งรัก..จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่ชุมชนการเลี้ยงดูเชิงบวก มีกิจกรรม 4 ฐาน 1.ส่งเสริมทักษะการสื่อสารเชิงบวก มีพ่อแม่ตัวอย่างมาให้คำแนะนำการสื่อสารที่ไม่ใช่การบังคับกดดัน 2.กิจวัตรประจำวันในครอบครัว เช่น ช่วยกันทำงานบ้าน เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีขึ้น
3.กิจกรรม DIY ครอบครัวสุดสร้างสรรค์ นำวัสดุเหลือใช้ในบ้านมาทำเป็นของเล่น และ 4.สานสัมพันธ์ครอบครัว ออกกำลังกายขยับแขน-ขา เพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งกิจกรรมนี้เด็กๆ จะชอบเพราะได้ใช้เวลาเล่นร่วมกับพ่อแม่ นอกจากนั้น การออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียนยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีส่วนร่วม มีกิจกรรมการอ่านนิทานซึ่งทางศูนย์ฯ จะให้ยืมหนังสือนิทานกลับบ้านได้สัปดาห์ละ 1 วันให้พ่อแม่อ่านให้ลูกฟังพร้อมอัดคลิปวีดีโอส่งมาที่ครูของศูนย์ฯ หรือช่วงวันลอยกระทงก็เปิดโอกาสให้พ่อแม่และเด็กร่วมออกแบบกระทง เป็นต้น
“ผู้ปกครองชอบ เด็กๆ ก็ชอบ เขาบอกว่ากิจกรรมนี้ทำให้รู้เลยว่าลูกฉันทำได้นะ ฉันก็มีความสุขกับการได้เล่นกับลูก แค่นี้ผู้ปกครองภูมิใจมาก จากกระทงที่ได้มาไม่ใช่แค่ใบเดียวบ้านหนึ่งทำมา 5-6 ใบ แล้วก็นำมาให้ทางศูนย์ของเราไปถวายวัด เป็นการให้ชุมชนได้ช่วยกันซื้ออีก มีการตักบาตรสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ผู้ปกครองจะต้องเป็นคนเตรียมข้าวของมาไว้ใส่บาตร แล้วเราจะเป็นคนนำเด็กๆ ออกไปสู่ชุมชน ชุมชนละแวกนั้นจะรู้จักเด็กๆ เป็นอย่างดี เพราะเด็กๆ ไปที่ไหนก็จะสวัสดี บอกว่ามาใส่บาตร แล้วป้าๆ น้าๆ ที่เห็นเขาก็เอ็นดู” หัสยาดา ระบุ
ชาลีรัตน์ ศิริรัตน์พิริยะ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ต.ในเวียง จ.น่าน กล่าวถึง “ทีม3 หมอ” ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในส่วนของพยาบาลจึงไม่ได้อยู่ในแต่ในโรงพยาบาล แต่ไปในพื้นที่ต่างๆ ของชุมชน เช่น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัด รวมถึงการเยี่ยมบ้านที่ทำตั้งแต่แม่เริ่มตั้งครรภ์ แม่หลังคลอดซึ่งต้องเลี้ยงเด็กเล็ก เพื่อให้คำแนะนำและสอบถามปัญหาต่างๆ เช่น สุขภาพ การเลี้ยงดู
ตัวอย่างที่พบจากการเยี่ยมบ้าน ชาลีรัตน์ เล่าว่า มีเด็กคนหนึ่งอายุประมาณขวบกว่าๆ ได้รับการคัดกรองจาก อสม. ข้อมูลของครอบครัวนี้คือเด็กอยู่กับแม่ 2 คน ส่วนพ่อไปทำงานต่างประเทศ นานๆ จะกลับบ้านสักครั้งหนึ่ง ส่วนแม่ทำงานราชการ ต้องนำลูกไปฝากไว้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่อายุได้ 9 เดือน แม่มีปัญหาความเครียดจากการเลี้ยงลูก ดังนั้นการเยี่ยมบ้านหลังนี้ นอกจากทีม 3 หมอแล้ว ยังต้องชวนนักจิตวิทยาไปด้วย ซึ่งพบว่าแม่พยายามสร้างวินัยให้ลูก แต่เป็นการสร้างวินัยเชิงลบที่ไม่สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน แม่ก็โมโหส่วนลูกก็ร้อง
“วินัยเชิงบวกสร้างได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการตี เราใช้นักจิตวิทยา ใช้ทีมของเราเข้าไปพูดคุยการสร้างตรงนี้ เราเอาคุณครูศูนย์เด็กเล็กไปด้วย น้องคนนี้เขาต้องการครอบครัวทดแทน มีเวลาให้ตัวเองบ้าง คุณครูศูนย์เด็กเล็กเขาเลยรับที่จะไปเป็นครอบครัวทดแทนให้ในวันเสาร์ เพื่อให้คุณแม่ได้พักบ้าง แล้วตอนเย็นที่ไม่ได้พักเลยแล้วเขาใส่อารมณ์กับลูกเราก็คุยกับชุมชน ที่เป็นศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน จะมีกิจกรรมของชุมชนทุกเย็น เป็นการออกกำลังกาย เราก็ให้น้องออกมาจากบ้านแล้วเข้าสู่ชุมชน ไปออกกำลังกาย พาลูกไปด้วย แล้วพี่ๆ อสม. จะไปช่วยเลี้ยง แม่จะได้ผ่อนคลาย เขาก็สามารถผ่อนคลายและปรับมาเป็นการเลี้ยงลูกเชิงบวก สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกได้” ชาลีรัตน์ กล่าว
ชาลีรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนในบางกรณีที่พ่อแม่ไม่พร้อมจริงๆ เช่น เคยเจอเด็กที่อยู่กับแม่ซึ่งใช้สารเสพติดจนมีอาการทางจิต ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบ อาทิ อายุยังไม่ถึง 10 ขวบก็เริ่มสูบบุหรี่ ลักษณะนี้ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นักจิตวิทยาเด็ก เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็ก เพื่อประเมินว่าต้องแยกเด็กออกมา ให้บ้านพักเด็กรับเป็นครอบครัวทดแทน ระหว่างประเมินว่าแม่สามารถกลับไปเลี้ยงลูกเองได้หรือไม่
ทนงศักดิ์ มุลจินดา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวถึงโครงการ “คลินิกฮักลูกแพงหลาน” ดูแลเอาใจใส่กันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการทดลองระบบฐานข้อมูลเด็กเพื่อการเลี้ยงดูเชิงบวก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีปัญหาเท่านั้นจึงจะมารับบริการได้ มีการติดตามเด็กทุกกลุ่มทั้งที่มีและไม่มีปัญหา โดยข้อมูลจะมาจาก อสม. และครู เพื่อให้หน่วยบริการจัดข้อมูลเข้าระบบและทำแผนการดูแลเสนอต่อผู้เกี่ยวข้อง
“ถ้ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เราประสานทาง อบต. เพื่อส่งเสริมการหารายได้เพิ่มเติม หรือถ้าพ่อแม่มีปัญหาติดเหล้าติดยา เราต้องส่งต่อให้จิตแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป แล้วฐานข้อมูลนี้ จะสามารถส่งฐานข้อมูลส่งระบบการดูแลทั้งหมดให้ได้ว่าตอนนี้ อสม. คนนี้ ในเขตรับผิดชอบไปดูแลอย่างไรบ้าง ส่งเสริมการเลี้ยงดูอย่างไร? ส่งเสริมการเล่นแบบไหน? จัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยหรือยัง? มีหญ้ารกข้างบ้านไหม?มีสระน้ำที่อยู่ใกล้บ้านไหม? ทางเทศบาล อบต. ไปทำรั้วให้หรือยัง?” ทนงศักดิ์ กล่าว
บัวทอง นนท์ศิริ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติบ้านคลองบางปิ้ง จ.สมุทรปราการ เล่าถึงการสำรวจที่พบว่า “แม้แต่คนที่การศึกษาและหน้าที่การงานดีก็ใช่ว่าจะเลี้ยงลูกเป็น” เช่น ใช้ความรุนแรงกับลูกขณะที่ทางกรมสุขภาพจิตมี “โปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเชิงบวก โดยครอบครัวมีส่วนร่วม (PreschoolParenting Program หรือ Triple P)” แบ่งการอบรมเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.บุคลากรเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น อสม. ครู กับ 2.พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก
“เอาคุณพ่อคุณแม่เข้ามาเรียนรู้การปรับพฤติกรรมลูกเวลามีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ จะให้เขาปรับตัวอย่างไรในการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ปกครองจะมีวิธีการอย่างไร” บัวทอง กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี