“สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 30 นาทีนี้จะเป็นเรื่องราวที่ผ่านงานของกระจกเงา ขออนุญาตให้ประสบการณ์ส่วนตัว พอหัวข้อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของเรา-อนาคตของเรา ผมนึกถึงคำ 3 ประโยคที่โผล่ขึ้นมาในสำนึกเลย ที่เวลาที่เราพูดถึงเรื่องสิทธิ เรื่องอนาคต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ มันมักจะมีคำหรือประโยคนี้ประกอบหรือก่อกวนความคิดเรา คำนี้คือคำว่า “คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ?”ใช้บ่อยมากเลยเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรต่างๆ มีหลายคนใช้คำถามว่าคนจนมีสิทธิ์ไหมครับ?
อันที่สองเขาก็จะถามเวลามาอ้างสิทธิ์หรือจะไปช่วยเหลือใครทั้งหลาย“คนไทยหรือเปล่า?” พอเจอคำนี้ไปก็ Stun(ชะงัก) แล้วต้องรีบจำแนกก่อน อย่างที่พูดเรื่องเด็กไร้สัญชาติ เด็กชายขอบ เด็กที่คลุมเครือว่าไทยหรือไม่ไทย ตกลงเขามีสิทธิ์ไหมพอเขาไม่ใช่เป็นเด็กไทย ไม่ใช่คนไทยเขามีสิทธิ์ไหม? แล้วสิทธิ์ของเขาอยู่ตรงไหน? ระดับไหน? อะไรอย่างนี้ ประโยคสุดท้าย อันนี้เป็นประโยคเอาไว้สู้เลย“ยังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า?” เวลาพูดเรื่องสิทธิ์ คุณใช่ว่าคนไทยหรือเปล่า? ผมก็จะสู้ด้วยคำว่ายังมีความเป็นคนอยู่ไหม? เขาเป็นคนหรือเปล่า?”
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สิทธิของเราอนาคตของเรา” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถึงกลุ่มคำจำนวนหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อมีการพูดหรือถกเถียงในประเด็นสิทธิต่างๆ อยู่เสมอ
ตัวอย่างแรกจากประสบการณ์การทำงานในนามมูลนิธิกระจกเงา เกิดขึ้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่นั่นมีสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เป็นเรื่องที่พ่อกับลูกวัย 10 ขวบ คุยกันบริเวณสะพาน ลูกตั้งคำถามว่า สุนัขที่เดินบนสะพาน และนกที่บินอยู่บนฟ้าเหนือสะพาน เป็นสุนัขหรือนกไทยหรือเมียนมา แน่นอนว่าจะตอบผิดหรือถูกก็ไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร แต่ทุกอย่างจะเริ่มซีเรียสเมื่อเปลี่ยนจากสุนัขหรือนกเป็นคน แม้คนคนนั้นจะเกิดและโตในประเทศไทย ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่และมีคำถามทันทีว่านั่นเป็นคนไทยหรือคนเมียนมา
ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นคนไทย นั่นคือ เด็กคนไหนที่เกิดในไทยจะได้สิทธิความเป็นคนไทยทันที อย่างตนเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น โดยเกิดในปี 2511 จากพ่อแม่ที่เป็นคนจีนโพ้นทะเล กระทั่งในปี 2515 มีการออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ที่ให้ถอนสัญชาติไทยของบุคคลที่เกิดจากบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายได้ ในกรณีต่างๆ ตามที่ประกาศระบุ
ซึ่งเหตุที่มีประกาศฉบับนี้ออกมา เนื่องด้วยบรรยากาศขณะนั้นเป็นยุคสงครามเย็น และทางการไทยหวาดกลัวการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ เท่าที่ทราบคือเวลานั้นมีชาวเวียดนามอพยพ แล้วบางบ้านมีการติดรูปของโฮจิมินห์ แต่เมื่อออกมาแล้วก็ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ส่วนตนและอีกหลายคนที่เป็นลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลน่าจะโชคดีกว่า เพราะบรรพชนอพยพมาทางเรือข้ามน้ำข้ามทะเล เมื่อมาถึงก็มีการขึ้นทะเบียนออกใบสำคัญของบุคคลต่างด้าว เท่ากับเป็นการทำประวัติของแต่ละคนไว้
โดยการมีใบสำคัญของบุคคลต่างด้าว หมายความบุคคลนั้นได้รับการรับรองว่าเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และส่งผลให้บุตรของบุคคลนั้นที่เกิดบนแผ่นดินไทยได้รับสัญชาติไทยและไม่ถูกถอนสัญชาติตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เมื่อเทียบกับลูกหลานของผู้อพยพทางบกขึ้นเขาข้ามดอย ที่เมื่อบรรพชนไม่ได้ถูกทำประวัติแบบเดียวกันทำให้ไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือแม้แต่เมื่อได้สัญชาติไทยแล้วในภายหลัง ก็ยังมีข้อถกเถียงอีกว่าลักษณะนี้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ เพราะจะนับจากวันที่เกิดหรือวันที่ได้สัญชาติ
ตัวอย่างต่อมา สมบัติ พูดถึงคนไร้บ้าน ซึ่งไม่ว่าใครก็อาจมีชะตากรรมแบบนั้นได้ เช่น คนคนหนึ่งเกิดและโตในประเทศไทย มีเอกสารแจ้งเกิดและบัตรประชาชน วันหนึ่งเกิดปัญหาเศรษฐกิจร้ายแรง บ้านที่เคยอยู่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ กลายเป็นคนที่ไม่มีบ้านเลขที่อีกต่อไป และไม่มีเจ้าของบ้านคนใดยอมให้นำชื่อเข้าไปอยู่ผลคือชื่อของคนคนนั้นจะถูกนำไปรวมไว้ที่ทะเบียนบ้านกลางซึ่งปัจจุบันมีอยู่นับแสนคน นำไปสู่ปัญหาที่ตามมาคือการไม่สามารถต่ออายุบัตรประชาชนได้ เนื่องจากมีการไปตีความกฎหมายว่าทะเบียนบ้านกลางไม่ถือเป็นทะเบียนบ้าน
และเมื่อไม่มีบัตรประชาชนก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร เช่น ไปสมัครงานก็ไม่ได้ ซึ่งมูลนิธิกระจกเงา เคยช่วยเหลือคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดี ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีแต่สู้คดีจนชนะคนคนนี้ถูกปล่อยตัวและได้รับเงินเยียวยา แต่เจอปัญหาไม่สามารถทำบัตรประชาชนเพราะชื่อไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง นอกจากนั้นยังมีหมายจับอยู่ในประวัติ ทำให้ไม่สามารถไปสมัครงานเป็น รปภ. ได้ ซึ่งก็เป็นอีกปัญหาและเป็นข้อสังเกตว่า แม้ศาลจะตัดสินแล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นภาระของประชาชนในการเดินเรื่องให้นำประวัติอาชญากรรมออกจากสารบบ
ตัวอย่างที่สาม เรื่องนี้เป็นที่มาของการทำโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย เริ่มจากมีเด็กหญิงอายุ 11 ปี เป็นคนบนดอย ถูกแม่ส่งไปทำงานกับผู้หญิงคนหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วถูกแจ้งว่าหายไป ซึ่งแม่ของเด็กคนนี้พยายามตามหาอย่างต่อเนื่อง แต่ไปถามเท่าไรผู้หญิงคนนี้ก็บอกว่าไม่รู้ จนหลายปีผ่านไป มีข่าวจับสถานบันเทิงลักลอบค้าประเวณี มูลนิธิกระจกเงาได้รับแจ้งว่าหนึ่งในหญิงสาวที่ถูกจับอาจเป็นเด็กที่ถูกแจ้งหาย และเมื่อ
ตรวจสอบก็พบว่าใช่จริงๆ
โดยเรื่องทั้งหมดคือเมื่ออายุได้ 11 ปี เด็กหญิงคนนี้ถูกผู้หญิงที่ไปทำงานด้วยส่งไปขายบริการทางเพศ และยังถูกขายต่อให้เอเย่นต์อีกรายหนึ่ง วันเวลาผ่านไป จากเด็กหญิงโตเป็นหญิงสาว แต่ปัญหาคือเมื่อถูกจับพบว่าไม่มีบัตรประชาชนเจ้าหน้าที่จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายคือผลักดันออกนอกประเทศ คำถามคือจะส่งไปที่ใด และส่งออกไปก็คงไม่รอดแน่นอน ซึ่งโชคยังดีที่ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิของผู้ขายบริการทางเพศไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ทันเสียก่อน
“เด็กคนนี้สุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือและไปทำกระบวนการเรื่องเอกสาร พอดีประวัติของเขาเป็นคนที่ได้รับสิทธิตามมติ ครม. เขาก็เลยได้มีสัญชาติไทย แต่เด็กคนนั้นไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้เพราะว่าวิถีชีวิตที่เขาไปโตอยู่ข้างนอกมันแตกสลายแล้ว” ผอ.มูลนิธิกระจกเงา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี