โครงการ LOCOL เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาแนวคิดเนื้อวัว Low-carbon ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ ให้ประเทศในเขตร้อน ด้วยนวัตกรรมสารสกัดจากพืชท้องถิ่น อย่างโกโก้ เพื่อรองรับการบังคับใช้ Carbon Tax และ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยก๊าซมีเทน จากการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
ซึ่งมีเทน (Methane) เป็นก๊าซเรือนกระจกอันดับที่สองรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลให้โลกร้อน ซึ่ง 1 โมเลกุลของมีเทนมีประสิทธิภาพในการดักจับความร้อนได้มากกว่า 1 โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเทนมีศักยภาพในการดักจับความร้อนสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า แม้มีเทนที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะคงอยู่ได้เป็นเวลาสั้นกว่าที่ 12 ปีก่อนที่จะค่อย ๆ เสื่อมลง เมื่อเทียบกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนานมากกว่า 100 ปี แต่ในช่วงเวลานั้นก็ยังถือว่าสร้างผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนได้อยู่มาก รายงาน NC4 ของประเทศไทยพบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.69 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศ ซึ่งการลดการปล่อยมีเทนจากการเลี้ยงโคเนื้อจึงเป็นการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ควรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โครงการ LOCOL จึงมีเป้าหมายในการพัฒนา “เนื้อวัวคาร์บอนต่ำ” เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงโคเนื้อและส่งผลดีต่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโลก
ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเกษตรและการเลี้ยงโคเนื้อที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ LOCOL มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงวัวในประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมท้องถิ่น เช่น เปลือกโกโก้และผลโกโก้ตกเกรด นำมาผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาเป็นสารสกัดอาหารเสริมสำหรับโคเนื้อ ซึ่งสารสกัดดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนในกระเพาะอาหารของวัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การลดการปล่อยก๊าซมีเทนในกระเพาะอาหารวัวไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพเนื้อวัวให้สูงขึ้น เมื่อเกษตรกรนำสารสกัดอาหารเสริมนี้ไปใช้กับวัวของตน นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนแล้ว ยังช่วยให้เนื้อวัวมีคุณภาพดีกว่าเดิม ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้และยกระดับมาตรฐานการผลิตเนื้อวัวในประเทศได้ LOCOL มุ่งเน้นการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยด้วยการจำหน่ายสารสกัดอาหารเสริมในราคาถูก และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมระบบโดยคืนค่าสารสกัดให้หากเกษตรกรบันทึกข้อมูลการเลี้ยงวัวอย่างครบถ้วนตามเงื่อนไข ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้วิเคราะห์และจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในขณะเดียวกัน LOCOL ยังใช้ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกการเลี้ยงวัวในการคำนวณปริมาณก๊าซมีเทนที่ลดลง เพื่อนำไปแปรเป็นคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรระดับสากล เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และ VERRA คาร์บอนเครดิตเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อวัวที่เกษตรกรผลิตได้ เนื้อวัวที่มาจากกระบวนการผลิตนี้จะถูกทำตลาดในฐานะเนื้อวัวคาร์บอนต่ำ โดยมุ่งเน้นการจำหน่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ผู้บริโภคทั่วไป ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และสหกรณ์ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance)
นอกจากนี้ LOCOL ยังได้ร่วมมือกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดน่าน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสารสกัดอาหารเสริม และการทดลองใช้จริงกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยเก็บข้อมูลด้านสุขภาพและกิจกรรมของวัวอย่างละเอียด เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์ ปัจจุบันสารสกัดดังกล่าวสามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 62.5% และมีแผนการขยายการใช้ไปยังฟาร์มและสหกรณ์ทั่วประเทศ
โครงการ LOCOL ถือเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเยาวชนไทย ซึ่งมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งในท้องถิ่น โครงการนี้ไม่เพียงแต่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงโคเนื้อ แต่ยังช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการผลิตเนื้อวัวที่คาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายในระยะยาวของ LOCOL คือการสร้างอุตสาหกรรมเนื้อวัวคาร์บอนต่ำที่เป็นมาตรฐานใหม่ในประเทศไทย พร้อมทั้งขยายโมเดลธุรกิจนี้ไปยังภูมิภาคเขตร้อนอื่น ๆ เช่น ประเทศในอาเซียน จีน อินเดีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีความต้องการเนื้อวัวสูง การดำเนินงานในระดับนานาชาตินี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อวัวไทยในตลาดโลก และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร
นอกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแล้ว LOCOL ยังมีส่วนช่วยลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมโกโก้ของไทย เปลือกโกโก้และผลตกเกรดที่เคยไร้ค่า ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตสารสกัดอาหารเสริมวัว ทำให้เกิดวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งช่วยสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการเกษตร
LOCOL ยังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ผ่านการฝึกอบรมและเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับเนื้อวัวคาร์บอนต่ำ รวมถึงการสื่อสารถึงประโยชน์ของการบริโภคที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป้าหมายคือการสร้างตลาดที่มีความต้องการเนื้อวัวคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ LOCOL ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนวัวในระบบให้ถึง 100,000 ตัวภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 140,000 ตันคาร์บอนต่อปี และสร้างผลตอบแทนให้เกษตรกรในระบบกว่า 1,200 ล้านบาท
ด้วยทีมผู้ก่อตั้งที่มีวิสัยทัศน์ ได้แก่ นนทพันธุ์ สิทธิโชติเลิศภักดี, หทัยธนิต ธงทอง, รัชนีย์ ขันธิวงค์, เตชินท์ ธนนันต์, จิรพัฒน์ วชิรทรัพย์ และอัครพล ธนวัฒนาเจริญ โครงการ LOCOL เป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการที่นำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน การดำเนินงานในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น แต่ยังมีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับโลกอย่างแท้จริง ในปัจจุบันที่ตลาดเนื้อวัวกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โครงการ LOCOL จึงมุ่งหวังที่จะเป็นผู้นำในตลาดเนื้อวัวคาร์บอนต่ำ โดยการนำเสนอเนื้อวัวที่ผลิตจากกระบวนการเลี้ยงที่ยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยได้อย่างยั่งยืน
โครงการนี้มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงโคขุน และยังสามารถใช้ของเสียจากฟาร์มเพื่อสร้างพลังงานทดแทน เช่น การผลิต Biogas และปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนการจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแรงบันดาลใจผ่านกรณีศึกษาจากฟาร์มที่ได้รับประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจากโครงการนี้ รวมถึงการแสดงเรื่องราวของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงโคขุนแบบยั่งยืน ซึ่งทำให้การเข้าร่วมโครงการ LOCOL ไม่เพียงแค่การเลี้ยงวัว แต่ยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลลัพธ์ที่คาดหวังจากโครงการ LOCOL คือการเพิ่มจำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมกับการตระหนักถึงคุณค่าของการผลิตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกษตรกร ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเครือข่ายที่ขยายผลกระทบไปในวงกว้าง และสุดท้าย LOCOL มุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทความนี้เขียนโดย จิรัน เฟื่องนาค นักสื่อสารที่เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี