“เวลาที่ทั่วโลกพูดถึงคำว่ากิจกรรมทางกาย ซึ่งจริงๆ มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Physical Activity เขาให้ความหมายที่ค่อนข้างจะครอบคลุมและมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเราที่มากกว่าเรื่องของการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาเท่านั้น สิ่งสำคัญที่องค์การอนามัยโลกได้ชี้ชัดโดยหยิบเอาหลักฐานเชิงประจักษ์บนงานวิจัยที่บอกว่า เมื่อใดก็ตามมนุษย์มีการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เมื่อนั้นจะเกิดการเผาผลาญของพลังงานเกิดขึ้น”
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) กล่าวในงานแถลงสถานการณ์ “12 ปี การ
ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย”เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ถึงความสำคัญของ “กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)” ซึ่งมีข้อค้นพบว่า “เมื่อใดที่ขยับร่างกายก็ใช้พลังงาน” ซึ่งมีผลดี เช่น ทำให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับข้อแนะนำเรื่องกิจกรรมทางกายในปี 2563 ว่า “ในวัยผู้ใหญ่ ควรมีกิจกรรมทางกาย ทำให้เหนื่อยเสียบ้างสัก 150 นาทีต่อสัปดาห์” เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงการป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในภาพรวมได้ร้อยละ 10 แต่จะมีผลช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นกับบางโรคในกลุ่มนี้ ใน
ขณะที่ “หากเป็นวัยเด็ก ขอให้มีกิจกรรมทางกายอย่างน้อยวันละ 60 นาที” ซึ่งปัจจุบันน่าเป็นห่วงเพราะเด็กไทยเคลื่อนไหวร่างกายไม่เพียงพอต่อการพัฒนาศักยภาพตามวัย
กิจกรรมทางกายสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไล่ตั้งแต่ “การทำงาน” เช่น อาชีพเกษตรกร “การเดินทาง”เช่น การเดินระหว่างสถานที่ทำงานกับจุดขึ้น-ลงระบบขนส่งมวลชน และ “การออกกำลังกาย-เล่นกีฬา” ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอนอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังมีประโยชน์เป็นพิเศษเฉพาะช่วงวัย เช่น วัยเด็กจะชวนเรื่องพัฒนาการของสมองให้พร้อมต่อการเรียนรู้ขณะที่ผู้สูงอายุจะช่วยเรื่องการทรงตัวและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงกลายเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต หากเกิดเหตุพลัดตกหกล้ม
ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ การที่มีร่างกายแข็งแรงส่งผลให้ภาวะเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ลดลง ทำให้การลาป่วยลดลง ผลิตภาพในการทำงานดีขึ้น และลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเจ็บป่วย “กิจกรรมทางกายยังมีประโยชน์แม้กระทั่งกับหญิงตั้งครรภ์” ซึ่งหักล้างความเชื่อในอดีตที่กังวลว่าหากให้หญิงตั้งครรภ์เคลื่อนไหวร่างกายอาจเสี่ยงกับการแท้งบุตรได้ เพราะผลการศึกษาระยะหลังๆ พบว่า หากมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม จะเป็นการเตรียมความพร้อมร่างกายให้คลอดได้อย่างปลอดภัย ลดภาวะแทรกซ้อน
ข้อมูลจาก “ระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายคนไทย พ.ศ.2555-2566” ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลมากถึง 90,900 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ พบว่า “การส่งเสริมกิจกรรมทางกายในไทยก้าวหน้ามาตามลำดับ” ไล่ตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการพัฒนาฐานข้อมูลขึ้นเพราะต้องการทำงานด้วยข้อมูลแทนการคาดเดา ในเวลานั้น คนไทยที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพออยู่ที่ร้อยละ 66
จากนั้นในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74 จากการจัดงานออกกำลังกายที่ถี่ขึ้น โดยเฉพาะช่วงปี 2561-2562 ที่มีการจัดงานวิ่งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์แทบจะทุกสัปดาห์ ขณะที่ในเชิงนโยบายเกิดแผนส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมทางกายของคนไทยลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 54 และเพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 63 ในปี 2564 ก่อนลดลงเล็กน้อยในปี 2565 ไปอยู่ที่ร้อยละ 62 และล่าสุดในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 68 บนความท้าทายว่าจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม “หากเจาะลึกลงไปในประชากรแต่ละกลุ่ม จะพบความเหลื่อมล้ำด้านกิจกรรมทางกายที่ชัดเจน”เช่น 1.เพศหญิงมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าเพศชาย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลกยังเน้นย้ำเรื่องการต้องส่งเสริมให้ผู้หญิงกล้าขยับร่างกายมากขึ้น 2.คนมีรายได้และการศึกษาต่ำมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าคนมีรายได้และการศึกษาสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาชีพคือกลุ่มที่มีกิจกรรมทางกายน้อยที่สุด ซึ่งข้อมูลนี้ฉายภาพโอกาสที่ไม่เท่ากันในการเข้าถึงกิจกรรมทางกาย
3.เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการมีกิจกรรมทางกายน้อย ทั้งที่เป็นช่วงวัยที่ชอบเล่นมากที่สุด และ 4.อาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลมีความเสี่ยงเรื่องการมีกิจกรรมทางกายน้อย เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าอาชีพอื่นๆ อย่างชัดเจน นอกจากนั้น “สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยังเปิดเผยปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เห็นได้ชัดขึ้นทั้งในประเทศไทยและระดับสากล” ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจและการเข้าถึงบริการสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายด้วย
“ตอนตกลงไปทุกคนตกหมด บางคนตกลึก บางคนตกนิดเดียว เช่น กลุ่มเกษตรกร ตกไม่มากแต่ฟื้นตัวได้เร็ว ที่เราพบคือ 5 กลุ่มคนที่ไม่สามารถกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมได้เพราะเขาขาดโอกาส ตัวเลขที่ตกลงมาร้อยละ 20 ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ (สถิติภาพรวม ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 74 ตกลงไปอยู่ที่ร้อยละ 54 ในปี 2563 ก่อนจะกลับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 63 ในปี 2564) หมายความว่ามีคนบางกลุ่มที่ตอนโควิดที่เขาสามารถที่จะดำรงชีพ มีวิถีชีวิตของตัวเองให้มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอได้ เพราะเขามีความรู้ความเข้าใจ มีวิธีการ มีโอกาสมากกว่าคนบางกลุ่ม
กลุ่มคนที่เราเจอ เช่น กลุ่มที่ไม่มีงานทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกไล่ออกจากงาน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเหล่านี้สถานการณ์โควิดเข้ามาเขาไม่รู้เลยว่าตอนที่เขาอยู่ที่บ้านจะออกกำลังกายอย่างไรดี ผมเป็นคนหนึ่งในช่วงโควิด สิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้ ตอนนั้นประชุมออนไลน์เยอะมาก ผมก็ไปสั่งของออนไลน์ ซื้อลู่เดินมาแล้วก็เดินประชุม แต่ผมเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสแบบนี้” รศ.ดร.ปิยวัฒน์ ระบุ
รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวย้ำว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าจะต้องพยายามคงวิถีชีวิตทางสุขภาพของตนเอง หาไม่แล้วก็จะต้องไปเผชิญกับความเครียด ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล” ซึ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการสร้างโอกาสเพื่อเติมเต็มให้กับกลุ่มประชากรเป็นการเฉพาะ นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่า “คนไทยยังมีปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง และสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก” จากช่วงปี 2555-2562 อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 13-14 ชั่วโมงต่อวันมากที่สุดในช่วงนี้คือปี 2562 อยู่ที่ 14 ชั่วโมง 15 นาที
แต่เมื่อถึงปี 2563 ทำลายสถิติขึ้นไปอยู่ที่ 14 ชั่วโมง 32 นาที และปี 2565 ยังขึ้นไปอยู่ที่ 15 ชั่วโมงกับอีก 5 นาที“ส่วนปี 2566 แม้ลดลงมาแต่ก็อยู่ที่ 14 ชั่วโมง 33 นาทีถือว่ายังสูง โดยเทียบได้กับการใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ลงไปที่ อ.รามัน จ.ยะลา” ซึ่งหากปล่อยให้มีพฤติกรรมเนือยนิ่งต่อเนื่องยาวนานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่พบปัญหา “อยู่โรงเรียนก็นั่งนาน..พอกลับบ้านก็ติดหน้าจอ” กว่าจะได้นอนหลับก็ประมาณช่วง 4-5 ทุ่ม ช่วงเวลาเล่นที่เด็กรุ่นก่อนๆ เคยมี เด็กรุ่นนี้มีน้อยลงไปมาก
สุดท้ายคือ “ข้อท้าทาย” เรื่องกิจกรรมทางกายของคนไทย คือเรื่องของ “การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) วางแนวทางไว้” ซึ่งจากทั้งหมด 17 ข้อ มี 2 ข้อที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกาย คือข้อ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) กับข้อ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced inequality) ซึ่ง SDGs นั้น UN คาดหวังให้รัฐชาติต่างๆ บรรลุได้ภายในปี 2030 (2573) ขณะที่ในปีดังกล่าวประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่า
คนไทยร้อยละ 85 ต้องมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ
“องค์การอนามัยโลกบอกว่าถ้าเราไม่สามารถจัดการกับสถานะของการขาดกิจกรรมทางกายได้ ในช่วง 10 ปีนี้จะมีประชากรทั่วโลกอีกราวๆ 500 ล้านคนที่จะเป็นผู้ป่วย NCDs ขึ้นมารายใหม่ ทั่วโลกเจอสถานการณ์ที่คล้ายกัน เจอข้อท้าทายที่คล้ายกัน หนึ่งในข้อท้าทายเชิงนโยบายที่เขาบอกไว้คือถ้าเรายังทำงานแบบเดิม คือแยกส่วนไม่ได้มาบูรณาการความร่วมมือร่วมกัน ไม่ได้มีการเชื่อมโยงระดับนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติให้เกิดรูปธรรมได้จริง ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการขาดกิจกรรมทางกาย จะยังคงปะทุและไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน” รศ.ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี