รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” วันที่ 2 ม.ค. 2568 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ โฟนอินให้สัมภาษณ์ในประเด็นเศรษฐกิจ ปี 2568 ซึ่งมีบางกระแสมองว่าอาจเลวร้ายถึงระดับเดียวกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 และอาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาล ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจคงไม่รุนแรงขนาดนั้น และปี 2568 โอกาสน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะมีความชัดเจนหลายเรื่อง
ทั้งนี้ ต้องอธิบายก่อนว่า การดู “ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP)” จะโตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ “4 เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” อันประกอบด้วย 1.รายจ่ายภาครัฐ หากดูงบประมาณรายจ่ายของปี 2568-2569 ถูกตั้งไว้ตามรูปแบบแล้ว ขณะที่การจัดเก็บรายได้ก็เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ สะท้อนว่ารัฐจัดเก็บรายได้ได้ดีขึ้น ดังนั้นรายจ่ายภาครัฐก็จะลงตามปกติ รวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ระยะที่ 3 ก็มีเงินพร้อมที่จะจ่าย โดยสรุปเครื่องยนต์รายจ่ายภาครัฐก็ติดได้สวยอยู่
2.การลงทุนในประเทศ หลังจากที่รัฐบาลเปิดการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ (Solar Roof) ที่ตนเป็นคนออกแบบ และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำไปดำเนินการ โฉมหน้าการลงทุนในธุรกิจใหม่ก็จะเข้ามา เพราะปัจจุบันทางยุโรปมีการกีดกันทางการค้าอย่างมาก และเรียกร้องให้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Green Energy) ดังนั้นธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะเข้ามาในไทยหรือไม่ เช่น กูเกิ้ล (Google) ที่อยากทำคลังข้อมูล (Data Center) ต้องการพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด
“การส่งสัญญาณในการเปิดไฟฟ้าเสรีแล้วรูปแบบของโซลาร์เข้ามา ทำให้ไฟสะอาดมันเข้าได้ ดังนั้นการลงทุนใหม่ๆ เรื่องพวกนี้จะเกิด ประเทศไทย Supply Chain(ห่วงโซ่อุปทาน) ของเราไม่ค่อยครบ Loop (วงรอบ) เช่น เราประกอบรถยนต์ได้เป็นคัน ปลายน้ำเราดีแต่ต้นน้ำเราดันประกอบชิปไม่ได้ 1-2 ปีที่ผ่านมารถยนต์ส่งไม่ได้เพราะว่าชิปดันขาดตลาด เจ้าใหญ่พวกไต้หวัน-จีนเขามีปัญหากัน ก็ขาดตลาด รถส่งไม่ได้
ฉะนั้นถ้าเกิดในอนาคต ธุรกิจสีเขียว ที่เขาเรียกว่า New S-Curve มันจะเข้ามาเพราะว่าพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นโดยกว้างขวาง ผมคิดว่าการลงทุนใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในประเทศนี้ ดังนั้นเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้จะติดได้ แล้วประเทศจะเป็นประเทศที่น่าสนใจ” นายอรรถวิชช์กล่าว
นายอรรถวิชช์ กล่าวต่อไปว่า 3.ดุลการค้า ซึ่งหากการส่งออกมากกว่าการนำเข้าก็เป็นไปได้ที่จะฟื้น แต่ขอดูท่าทีสหรัฐอเมริกาก่อนว่าจะกีดกันไทยมาก-น้อยเพียงใด แต่ก็ยังมองว่าพอไปได้ อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงคือปี 2569 เพราะ “มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน” หรือ “CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)” ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรป (EU) จะมีผลหนัก และ 4.การบริโภค ดังนั้นแล้วปี 2568 จึงเป็นปีของการปรับตัวและตนดูจากมาตรการต่างๆ เชื่อว่าไทยจะสามารถขึ้นไปยืนต่อสู้ได้
เมื่อถามว่า “ตัวเลขหนี้มีผลมาก-น้อยเพียงใด?” ตัวเลขหนี้นั้นจริงๆ สูงหมด เช่น “หนี้ครัวเรือน” ที่สูงราวๆ อันดับ 7-8 ของโลก แต่อีกมุมหนึ่งประเทศที่มีสภาพแบบนี้
มักเป็นประเทศที่มีระบบธนาคารดี อาทิ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์แต่ของประเทศไทยคือธนาคารปล่อยกำไรเกินไป ทำให้คนเหมือนติดกับดัก แทนที่จะต่อสู้เรื่องดอกเบี้ยก็ไม่เกิดขึ้นเพราะธนาคารพาณิชย์ผูกขาด โดยก่อนหน้านี้ตนเคยพูดถึงเรื่องธนาคารพาณิชย์ผูกขาดมาแล้ว แต่คนฟังก็งงว่าหมายถึงอะไร
ซึ่งประเทศไทยนั้นแปลก ธนาคารพาณิชย์ไม่กี่ปีก่อนเพิ่งได้กำไรกว่า 2 แสนล้านบาท มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้งๆ ที่เป็นช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกคนล้วนบาดเจ็บกันหมด “ประเทศนี้ธนาคารพาณิชย์ฮั้วกันเต็มรูปแบบ” เวลาออกธุรกรรมมาแต่ละอย่างจะพบว่าดอกเบี้ยใกล้เคียงกัน และระยะหลังๆ ก็ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อให้กับบุคคลทั่วไป แต่ไปเน้นการลงทุนอย่างอื่นที่ได้กำไรกว่า ทำให้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องแบกรับภาระหนัก จึงต้องมีมาตรการออกมาส่งเสริม
“ผมร่างกฎหมายตัวหนึ่งซึ่งเข้าสภาฯ ไปแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าไม่โดนขวางจะช่วยได้เยอะ คือกฎหมายเรื่องของเครดิตบูโร ก็จะมีการปรับโฉมหน้า จากการที่เราให้กรอกประวัติ 3 ปี ถ้าเกิดเสียเข้าไปทีหนึ่งก็โดนแช่แข็งอีก 3 ปี เพราะประวัติมันเก็บ 36 เดือน จะเข้าสภาฯ แล้วอีกไม่กี่เดือนผมคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนเป็นระบบการให้คะแนน ใครคะแนนสูงดอกเบี้ยต่ำ ใครคะแนนต่ำก็ดอกเบี้ยสูงหรืออาจจะไม่ได้เลย แต่มันจะเกิดการแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่ไม่แข่ง อันนี้ก็มีโอกาสที่ทำให้คนได้รับสินเชื่อง่ายขึ้น”นายอรรถวิชช์ ระบุ
ส่วนคำถามว่า ที่มีการตั้งเป้า GDP ประเทศไทยในปี 2568 จะเติบโตที่ร้อยละ 3 มีความเป็นไปได้มาก-น้อยเพียงใด?นายอรรถวิชช์ มองว่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างพลังงานเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลงทุนใหม่ๆ ก็น่าจะเกิดขึ้น นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีข้อดีอยู่มาก เช่น มีบางคนตั้งคำถามว่าเหตุใดประเทศไทยสำรองกระแสไฟฟ้าสูงแต่ค่าไฟฟ้าแพงกว่าเวียดนามหรือลาว ประเด็นนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย
โดยข้อดีคือลดความเสี่ยงไฟฟ้าดับ อย่างที่เวียดนาม การลงทุนฝั่งเหนือกับฝั่งใต้ก็แตกต่างกัน ระบบไฟฟ้าจึงไม่เสถียรเหมือนไทย แต่กลายเป็นว่าไทยต้องเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยข้อเรียกร้องเรื่องพลังงานสะอาด ดังนั้นเมื่อเปิดช่องให้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ย่อมจะทำให้มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา ตนจึงคิดว่าการลงทุนในไทยยังน่าสนใจอยู่ แต่ก็ต้องย้ำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวด้วย หากไม่ปรับตัวจะต่อสู้ได้ลำบากเพราะปีถัดไปมาตรการกีดกันทางการของยุโรปจะทำงานมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรื่องนี้ต้องบอกว่า ประเทศที่ไทยขาดดุลการค้ามากที่สุดคือจีน ความสัมพันธ์ไทยกับจีนนั้นดีเพราะไทยเป็นลูกค้าหมายเลข 1 แต่ในทางกลับกัน การค้าของไทยเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะหาเรื่องกีดกันไทย แต่ก็ต้องจับตาดูท่าทีของทรัมป์ด้วยว่าจะเหมารวมไทยกับจีนเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ เพราะทำท่าว่าจะเหมารวมทั้งจีน ไทยและเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งยังมีข้อดีคือ “ทรัมป์ไม่มุ่งไปนโยบายสีเขียว” เมื่อเทียบกับยุโรปที่นำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้กีดกันทางการค้า เช่น ในขณะที่ยุโรปและจีนมุ่งไปทางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่สหรัฐฯ รวมถึงญี่ปุ่น ทำท่าว่าจะยังคงอยู่กับยานยนต์เครื่องสันดาปภายใน ตนมองว่าตลาดโลกดูเหมือนจะสมดุล คือการกีดกันไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ไทยก็ยังมีโอกาสทำมาหากิน
ส่วนที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองปี 2568 ว่าเรื่องปากท้องของประชาชนจะมีผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล ประเด็นนี้ตนก็มองเช่นเดียวกัน เพราะปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ อย่างที่ตนก็ลุ้นว่าร่างกฎหมายเครดิตบูโรที่จะปฏิรูปการปล่อยสินเชื่อ หรือกฎหมายพลังงานแสงอาทิตย์จะผ่านหรือไม่ แต่เท่าที่ดูจากที่สิ่งที่ทำไป คิดว่า 4-5 เดือนนี้น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง
แต่ก็ต้องดูเรื่องการเมืองด้วยว่าจะไปในทิศทางที่ดีต่อกันหรือไม่ หากทุกคนมองเหมือนกันแล้วทำอย่างที่รับปากไว้เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้ง ผมมองว่าจะเห็นหน้า-เห็นหลัง คือบางคนที่ประเมินสถานการณ์เขาอาจไม่ได้ดูที่นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงมากในปี 2568 ดังนั้นหากพรรคร่วมรัฐบาลยังเกาะกันแน่นและปล่อยให้กฎหมายเหล่านั้นผ่านออกมาได้เพื่อให้ประชาชนได้จริง ตนคิดว่าจะเห็นผล แต่หากมีการขวางหรือมีปัญหาเรื่องการเมือง จุดนี้คือปัจจัยทำให้ไม่นิ่ง ปากท้องสำคัญและไปได้ แต่การเมืองไม่นิ่งจะยุ่งใหญ่
“สิ่งที่น่ากลัวคือภาคลงทุนจะถอนตัวไหม? 1.เรื่องค่าแรง เมื่อตัดสินใจขึ้นหมด 400 ทั้งแผง มันไหวไหม? คือตอนนี้ 400 ขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องขึ้น แต่มันขึ้นบางจังหวัด ซึ่งปกติค่าแรงบ้านเรามันไม่เท่ากันทั้งประเทศไทย มันเคยมีหนหนึ่งประกาศขึ้นเท่ากันก็คือ 300 บาท ครั้งนั้นเสียหายพอสมควร หมายถึงในมุมคนถอนตัวนั้นเยอะ คราวนี้มาเป็น 400 ผมก็เห็นด้วย แต่เห็นด้วยบางจังหวัดไม่ใช่ทุกจังหวัดเหมือนกันหมด ถ้าทุกจังหวัดเหมือนกันหมดก็ยุ่ง
เพราะ 400 มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ตรง 400 หรอก มันเรื่องใหญ่ตรงแรงงานที่เป็นแรงงาน Skill (ทักษะ) คือพอ 400 คน ที่ค่าแรงทักษะสูงก็ไต่ไปหมดทั้งแผง คราวนี้มันก็โดนเปรียบเทียบประเทศอื่น ว่าลงทุนประเทศอื่นมันง่ายกว่าไหม?ย้ายฐานไหม? เพราะตอนนี้สิ่งที่น่าเสียวที่สุดคือย้ายฐาน โรงงานญี่ปุ่น เอาเฉพาะรถยนต์ เราเพิ่งแก้ปัญหาไปในส่วนของอุตสาหกรรม รัฐมนตรีเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก็คุยไปแล้ว คือเขาบินไปญี่ปุ่น ไปคุยไปเจรจารักษาฐานญี่ปุ่นเอาไว้” นายอรรถวิชช์ กล่าว
นายอรรถวิชช์ ขยายความเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย ว่า สมมุติว่าการเปิดตัวรถยนต์รุ่นหนึ่งได้รับสิทธิตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยกเว้นภาษี 8 ปี รถยนต์รุ่นต่อไปจะเปิดหรือไม่ก็ต้องดูท่าที แต่ทราบว่าญี่ปุ่นตัดสินใจแล้วที่จะเปิด เช่นเร็วๆ นี้ ก็จะเห็นค่ายญี่ปุ่นเจ้าดังออกรถยนต์รุ่นใหม่มา หมายถึงไม่ถอนกำลังการผลิตออกไป แม้จะมีบางค่ายที่เลือกถอนออกไปหลังหมดสิทธิ BOI ก็ตาม ในส่วนของยานยนต์จึงยังคงรักษาฐานไว้ได้ แต่ภาคอื่นหากปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไร
ซึ่งการย้ายฐานการผลิตเป็นปัจจัยที่มีผลมาก และต้องบอกว่าเวียดนามนั้นน่ากลัวเพราะทุกปีมีการเปลี่ยนแปลงตลอด รวมถึงมีประชากรวัยหนุ่ม-สาวจำนวนมาก โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้นมี 2 ประเทศ คือสิงคโปร์กับไทยที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุไปแล้ว ลักษณะนี้แอบน่ากลัวเพราะคนวัยทำงานจะหายไป นโยบายรับแรงงานทักษะใหม่ๆ ก็ต้องเปิดเรื่องเหล่านี้ต้องไปกันเป็นลูกโซ่ ขึ้นอยู่กับนโยบายคนบริหารด้วย
โดยสรุปแล้ว ตนคิดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะโตได้มากกว่าปี 2567 เพราะเวลาประเมินซึ่งดูจากเครื่องยนต์4 ตัว ตามที่กล่าวไปข้างต้น หากทั้ง 4 เครื่องยนต์ยังทำได้ดีกว่าปีก่อน GDP ก็ต้องโตกว่า แต่ก็ต้องย้ำว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งหากการเมืองไม่ตอบโจทย์ที่ดีพอ ในปี 2569 เศรษฐกิจก็จะแย่ลงทุกอย่างจะพันซึ่งกันและกัน
“อยู่ที่นโยบายว่าไปได้ไหม? ถ้านโยบายไปกันแบบราบรื่น สิ่งที่ประชาชนต้องการ-นักลงทุนต้องการ แล้วไม่ย้ายฐานการลงทุน ผมว่าเศรษฐกิจไปได้” นายอรรถวิชช์ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
CBAM คืออะไร? : บทความ “ทำความรู้จัก CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)” โดยฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ใน SET Note Volume 4/2565 ระบุว่า CBAM คือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU อันเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
โดยในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)
มาตรการ CBAM เสมือนเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกำลังพัฒนาหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาด EU ได้ ทั้งนี้ การปรับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้าเข้าเกณฑ์การพิจารณาค่าคาร์บอนในระยะแรก อาจกระทบสินค้าส่งออกของไทยไป EU มูลค่าสูงถึง 28,573 ล้านบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี