“ในปกติที่เรามีกิจกรรมทางกายก็ขึ้นอยู่กับสภาพโครงสร้างหรือสภาพชีวภาพของเราด้วย เบื้องต้นเราเกิดขึ้นมาเป็นเด็กน้อย เรามีกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างที่ยังไม่แข็งแรงมากนัก กิจกรรมทางกายอาจมีไม่มาก แต่พอเราโตขึ้นเป็นวัยรุ่น มีกล้ามเนื้อมีกระดูกโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น เราก็มีแรงที่จะวิ่ง กระโดด ทำอะไรมากๆ ฉะนั้นในช่วงวัยนี้จึงไม่แปลกที่จะเป็นช่วงขาขึ้นของการที่เราจะมีกิจกรรมทางกาย จนเราเข้าสู่วัยสูงอายุ กล้ามเนื้อต่างๆ ก็จะถดถอย ฝ่อเล็กลง ณ ช่วงเวลานั้น กิจกรรมทางกาย
ที่เคยมีมาในช่วงหนุ่ม-สาวก็จะลดลง”
นพ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวในงานแถลงสถานการณ์ “12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย” เมื่อช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ถึง “กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)” ที่เพิ่มขึ้นและลดลงตามช่วงวัยแต่นอกจากปัจจัยด้านสังขารแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการมีกิจกรรมทางกายมากหรือน้อยของแต่ละบุคคล เช่น ความน่าสนใจของกิจกรรม นโยบายหรือแผนต่างๆ ที่สามารถกระตุ้นให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น เป็นต้น
เมื่อจำแนกเป็นช่วงวัยกับระยะเวลาพฤติกรรมทางกายที่เหมาะสม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะพบว่า 1.วัยเด็กเล็ก หากอายุไม่ถึง 1 ขวบควรอยู่ที่อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน แต่หากอายุ 1-4 ขวบควรอยู่ที่อย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน แต่ในความเป็นจริง มีเด็กไทยกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 25.4 หรือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ และเมื่อไม่เพียงพอก็ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการที่สมวัยด้วย
2.วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น (อายุ 5-17 ปี) กิจกรรมทางกายที่เหมาะสม ควรเป็นระดับกลางถึงหนัก เฉลี่ยอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยมากก็จะเป็นการวิ่งเล่นหรือกิจกรรมอื่นๆ ตามช่วงวัย หากไม่มีพฤติกรรมติดจอ และการได้ขยับร่างกายก็ช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งไปในตัว แต่ความท้าทายสำคัญคือ ค่านิยมของผู้ปกครองที่อยากเห็นบุตรหลานเรียนเก่งได้คะแนนสูงๆ จึงผลักดันแบบเข้มข้นทั้งในและนอกเวลาเรียนตามปกติ ซึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลที่พบว่า ประชากรไทยวัยนี้เพียงร้อยละ 23.1 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ
3.วัยผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) เป็นช่วงที่โครงสร้างกระดูกกล้ามเนื้อแข็งแรงที่สุด กิจกรรมทางกายระดับปานกลางอยู่ตั้งแต่ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนักอยู่ที่ 75-150 นาทีต่อสัปดาห์ ส่วนพฤติกรรมเนือยนิ่งไม่ควรเกิน 14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งประชากรวัยผู้ใหญ่ของไทย มีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ 70 ถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ต้องการให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ 80มากที่สุด
และ 4.วัยสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) แม้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง แต่ก็ยังแนะนำให้มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอยู่ตั้งแต่ 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับหนักอยู่ที่ 75-150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยสำหรับผู้สูงอายุ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอยังลดความเสื่อมหรือฝ่อของกล้ามเนื้อ ซึ่งเชื่อมโยงกับสมดุลการยืนและเดิน ลดความเสี่ยงจากการหกล้มความเสี่ยงสมองเสื่อม รวมถึงมีผลต่อสภาพจิตใจ ลดอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ ซึ่งประชากรวัยผู้ใหญ่ของไทย มีกิจกรรมทางกายเพียงพอที่ร้อยละ 64.8 ต่ำกว่าวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน (อายุ 18-59 ปี) เล็กน้อย
“จากข้อมูลของวัยเด็กและเยาวชน เราเจาะลึกลงไปก็พบว่ามีตัวชี้วัดอยู่ 3 ตัวที่อยู่ในระดับต่ำติดต่อกัน 3 รอบของการสำรวจ คือปี 2559, 2561 และ 2565 คือ 1.การเล่นออกแรง (Active Play) ให้เด็กวิ่งจนเหงื่อโชก 2.การมีกิจกรรมทางกายโดยรวมในแต่ละวัน ก็คือภาพรวมของการขยับเคลื่อนไหว การเล่นของเด็กก็ยังต่ำอยู่ 3.พฤติกรรมเนือยนิ่ง เด็กอยู่นิ่งมากเกินไป 3 ประเด็นนี้ส่งผลให้กลุ่มเด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ” นพ.วันฉัตร ระบุ
นพ.วันฉัตร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้น สังคมไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนบางกลุ่มมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ไม่มีรายได้ กลุ่มว่างงาน กลุ่มที่ไม่มีพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมทางกายใกล้บ้านกลุ่มผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) และกลุ่มคนรายได้น้อย (ต่ำกว่า 3,500 บาทต่อเดือน) ซึ่งโดยสรุปแล้ว คนไทยยังมีปัญหากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเรียน-วัยรุ่น ซึ่งน่ากังวลเรื่องพฤติกรรมติดจอ ดังนั้น บทบาทของกรมอนามัยในการส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของกิจกรรมทางกาย จะเป็นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายผ่านภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกภาครัฐเพื่อให้ระดับกิจกรรมทางกายของคนไทยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ ย้ำความสำคัญของ “พื้นที่ที่เอื้ออำนวย” ซึ่งมีผลต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยมีคำว่า “เมืองสุขภาวะ” ที่มีหลัก 1.การพัฒนาไม่ได้ทำเฉพาะทางกายภาพ แต่ทำเป็นองค์รวมทุกด้าน และ 2.เป็นเรื่องของกระบวนการไม่ใช่ผลลัพธ์
โดยเมืองสุขภาวะนั้นมีเป้าหมาย 4 ด้าน 1.สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เป็นความหมายที่ตรงไปตรงมา หมายถึง เอื้อให้ผู้คนขยับร่างกาย มีความกระฉับกระเฉง2.ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งก็คือความสุขของคน 3.การสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่ และ 4.ส่งเสริมนวัตกรรมและความมีชีวิตชีวาให้กับชุมชน โดยนัยหมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส
“พื้นที่สุขภาวะที่ดีจะต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่ตอบโจทย์กับคนใช้ มีเรื่องของสังคมที่เป็นเอกภาพ มีความกลมเกลียว อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน บางที่เราพบว่าเราออกแบบสถานที่และก่อสร้างงานดีมาก แต่มันอยู่ในทำเลที่ไม่เอื้อให้คนเข้าไปใช้ ฉะนั้นจริงๆ ถ้ากระบวนการทำเรื่องพื้นที่สุขภาวะ จริงๆ เราเริ่มจากที่ที่มันเข้าถึงได้สำหรับกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมาย และเรื่องของความรู้สึกสบายใจที่เข้าไปใช้ ซึ่งพวกเราใช้คำว่าอัตลักษณ์ของพื้นที่ คนที่ไม่ใช่สถาปนิกหรือนักออกแบบอาจจะงงว่าทำไปเพื่ออะไร แต่จริงๆ ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่าเกิด Sense of Belonging (ความรู้สึกเป็นเจ้าของ) ให้ผู้คนเข้ามาใช้ ซึ่งอันนี้เป็นการเพิ่มจำนวน” ประยงค์ กล่าว
ประยงค์ ยกตัวอย่างผลการศึกษาที่เป็นความร่วมมือกันของสถาบันอาศรมศิลป์ กับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า การมีพื้นที่สุขภาวะในระดับชุมชน จะช่วยเพิ่มนาทีเฉลี่ยของการมีกิจกรรมทางกายของผู้คนในย่านนั้นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือไม่ต่ำกว่า 20 นาที นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ในแง่มุมอื่นๆ เช่น ขจัดความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ตัวอย่างจากย่านตลาดน้อย ที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ๆ ขึ้น
การเชื่อมร้อยความเท่าเทียมในชุมชน ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ทำให้คนต่างชนชั้นได้มีโอกาสพูดคุยกัน กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง สามารถออกมาใช้พื้นที่ใกล้บ้านเพื่อเพิ่มเวลาการมีกิจกรรมทางกายได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ “พื้นที่สุขภาวะสามารถใช้ได้หลายสถานการณ์ ไม่เฉพาะแต่รูปแบบของลานกีฬาเท่านั้น” โดยการออกแบบมีปัจจัยสำคัญคือต้องเข้าใจผู้ใช้งานอย่างละเอียดก่อน นำข้อมูลมาค้นหาแนวทางที่เหมาะสม ราคาไม่แพงและทำได้จริง!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี