สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานประจำปี “OIE FORUM 2024” ครั้งที่ 16เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ภายในงานมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้มีส่วนร่วมบูรณาการ เชื่อมโยงแนวคิด และให้ข้อเสนอแนะต่อแนวนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และมีการปาฐกถาพิเศษ โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในหัวข้อ “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่”
นายเอกนัฏกล่าวว่า รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าเติบโตได้ ภารกิจกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นพระเอกมีความท้าทาย หลายคนมองเอสเอ็มอีจะฟื้น ส่วนตัวหวังว่าจะมีส่วนดัน GDP ไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว
ทั้งนี้ จึงต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หากวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศ ยังอยู่ระหว่างกำลังฟื้นจากโควิด จะเห็นปัญหาหนี้สาธารณะเกือบแตะ 70% ซึ่งไทยตั้งงบขาดดุลทุกปีเพื่อนำเงินมาลงทุน เมื่อหนี้สาธารณะสูง จึงมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยหดตัว
ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า คนส่วนใหญ่มองเป็นปัญหาความท้าทายที่ไทยต้องเจอแต่ตนมองว่า เป็นโอกาสสำคัญของไทย ถ้าสามารถปรับตัวได้เร็ว และแรง เท่ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นกลับมาเป็นพระเอกให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตได้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ จึงต้องร่วมมือ และปรับตัว ทั้งรัฐ และเอกชน เพราะจุดเด่นไทยวันนี้เป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก จากการมีโลเคชันที่ดีเชื่อมต่อเหนือลงใต้ คาบมหาสมุทรผ่านประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนมา 10 ปี โดยใช้เงินมหาศาล มีซัพพลายเชนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความสมบูรณ์มากสุดที่หนึ่งในภูมิภาค มีคนไทย ประเทศน่าอยู่
นอกจากนี้ นายเอกนัฏ ยังได้หยิบยกที่ สศอ.คาดการณ์ว่า ในปี 2568 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5-2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งทุน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามปรับการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทาย คือต้นทุน เชื้อเพลิง ไฟฟ้า ทรัพยากรและน้ำ ดังนั้น จึงลงนามให้ปลดล็อกการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งการที่อดีตนายกรัฐมนตรี และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศลดค่าไฟ 3.70 บาท นั้น ถ้าช่วยกันจะต่ำกว่า 3 บาทได้ จะเป็นแต้มต่อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม เพราะไทยมีนโยบายเป็นมิตรกับการลงทุน มีซัพพลายเชน ทุกเซ็กเตอร์ได้ประโยชน์ นักลงทุนจะเข้ามาสร้างเศรษฐกิจประเทศมหาศาล
“วันนี้เราต้องการใช้ไฟสะอาด ซึ่งการซื้อไฟโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงมีราคาแพง การผลิตพลังงานก็ถูกดิสรัปที่เป็นบวกเกิดต้นทุนทำให้เนื้อไฟกว่าจะมาถึงจาก 2 บาทกลายเป็น 4 บาท การปลดล็อกทำให้ไม่ต้องผ่านหลายระบบ ดังนั้น หาก กฟผ.ทำหน้าที่พัฒนาสมาร์ทกริด แอปพลิเคชั่นสำรองไฟโดยเฉพาะแบตเตอรี่จะสามารถเอาพลังงานเหลือกลางวันมาใช้ในกลางคืนได้ถ้าช่วยกันทำจะเห็นค่าไฟเลข 2 บาทแน่นอน” นายเอกนัฏ กล่าว
ดังนั้น หากแก้ปัญหาพลังงาน ภาษี ปรับการส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์จะโต ซึ่งเซ็กเตอร์สำคัญได้แก่ ยานยนต์ ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาคนจะฟื้นให้ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน ปรับตัวทำให้สะดวกโปรงใส่ ลดต้นทุนพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มเติมเต็มซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เอสเอ็มอีประเทศ ไม่ให้ลักลอบเอาสินค้าที่ผลิตเกินมาดั๊มราคาในไทย
ขณะที่ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพใหม่ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นและมุ่งสู่ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่”ให้เติบโตบนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืนโดย สศอ. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน พร้อมนำแนวคิด “สู้ เซฟ สร้าง” และ นโยบาย MIND ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1. การสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 การส่งเสริมความอยู่ดีกับสังคม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ยกระดับการทำงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเปิดตัวแพลตฟอร์ม i-Industry ระบบบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวง ที่ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก เช่น การขอใบอนุญาตแบบดิจิทัล (Digital-License) การชำระค่าธรรมเนียม (Digital-Payment) และการรายงานข้อมูลผ่านระบบ iSingleForm ซึ่งจะช่วยให้ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการออกแบบนโยบาย รวมถึงสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการที่ดี สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมโดยรอบ
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานประจำปี OIE FORUM ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี