ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 ที่ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ประเด็นที่กำลังเป็นที่กังวลของสังคมไทย คือ การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาในปัจจุบันที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังเข้ามาแทนที่บุหรี่มวนแบบดั้งเดิม ข้อมูลจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทยปี 2565 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.3% เป็น 17.6% หรือเพิ่มขึ้น 5.3 และกว่า 50% ใช้เงินที่ได้จากครอบครัวในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปีละ 26,944 บาท หรือประมาณเดือนละ 2,245 บาท
บัดนี้ กมธ.วิสามัญฯ ได้ทำการศึกษามาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้สรุปรายงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยมีข้อเสนอแนะ 3 แนวทางหลักได้แก่ 1.การคงการห้ามนำเข้าและจำหน่ายแบบเบ็ดเสร็จและเพิ่มความเข้มงวดด้วยการเพิ่มโทษให้กับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า 2.คงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่อนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนที่ยังคงใช้ใบยาสูบเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย และ 3.อนุญาตให้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย ซึ่งทั้งสามแนวทางล้วนมุ่งหมายเพื่อใช้กลไกกฎหมายป้องกันเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย โดยผู้คัดค้านย้ำถึงเหตุผลและความจำเป็นในการแบนบุหรี่ไฟฟ้า โดยเน้นความสำคัญของการปกป้องเยาวชนจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และเห็นว่าการแบนอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายเสนอให้ใช้กฎหมายควบคุมแทนการแบนเพราะเชื่อว่าการควบคุมอย่างเป็นระบบจะลดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนได้ดีกว่า โดยการใช้กฎหมายภาษีสรรพสามิตและกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อควบคุมการจำหน่ายและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการแบน เพราะการปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ในใต้ดินส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะไม่สามารถป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงได้จริง
เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศไทยอาจมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 1 ล้านคน และมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกฎหมายแบนในปัจจุบันที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้งานในเด็กและเยาวชนได้ พร้อมยกตัวอย่าง 80 กว่าประเทศทั่วโลกที่ใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการใช้ในกลุ่มเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่กฎหมายดังกล่าวทำให้การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี
แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีมุมมองที่แตกต่าง แต่จุดมุ่งหมายของทั้งสองฝ่ายคือการปกป้องเยาวชนและลดผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า กมธ.วิสามัญฯ ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องและรอบคอบ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากทุกมิติ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย การตัดสินใจว่าควรทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายหรือไม่จึงต้องอิงอยู่บนข้อเท็จจริงและประโยชน์สูงสุดต่อสังคมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลจึงควรเร่งพิจารณาข้อเสนอของ กมธ. อย่างเร่งด่วนและไม่ปล่อยให้แรงกดดันจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจ หากดำเนินการตามข้อเสนออย่างเป็นระบบ เช่น การกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสมกับบริบทของไทย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการให้ความรู้แก่สังคมเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องเยาวชนและการจัดการปัญหาทางสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี