กางชาร์จภาพฝันรัฐบาล ดันสุดลิ่มทำคลอด‘เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์’
13 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ข้อที่ 7 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครบวงจร!เปิดพิมพ์เขียว‘เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์’ ดึง‘มวยไทย-ไก่ชน’ร่วมดวล)
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีเรื่อง “เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์” รวมอยู่ด้วย
ครั้งนั้น จนมาถึงวันนี้ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์” ในมุมของรัฐบาล มี “ภาพฝัน” โดยสรุปดังนี้...
#เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์
ที่มา : เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา วันที่ 12 ก.ย. 2567 อยู่ในนโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ “ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่” เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
#เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์” คืออะไร?
เขตพัฒนาพิเศษเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวของครอบครัวระดับโลก นำเสนอประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง
#ทำไมประเทศไทยควรมีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์? : มีคำตอบดังนี้
1.เพราะเป็นแนวทางสำคัญเพื่อยกระดับในการพัฒนาศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ เช่น กระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมการท่องเที่ยว การสร้างงาน ที่นานาประเทศเลือกใช้และสบความสำเร็จอย่างสูง และกำลังจะเกิดอีกในอนาคต เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น (เมืองโอซากา) หรือที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
2.กระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ภาคการท่องเที่ยวมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.19-2.38 แสนล้านบาท และส่งผลต่อเศรษฐกิจวงกว้างเนื่องจากดึงดูนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 5-10 ต่อปี กระตุ้นการใช้จ่ายช่วงโลว์ซีซันส์ (นอกฤดูกาลท่องเที่ยว) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จึงช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจาก 44,000 บาท เป็น 66,043 บาทต่อคนต่อทริป
3.สร้างโอกาสด้านการทำงาน โดยสร้างการจ้างงานได้อย่างน้อย 9,000-15,300 ตำแหน่ง (เทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงานคนไทย ร้อยละ 0.03-0.05) อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพแรงงานในประเทศและการจ้างงานจากธุรกิจต่อเนื่อง ประกอบด้วย 3.1 เพิ่มการจ้างงานโดยอ้อม (เช่น งานออกแบบ) 3.2 การจ้างงานโดยชักนำ (งานด้านขนส่งผู้โดยสารหรือสิ่งของ) และ 3.3 การจ้างงานเพิ่มเติมในสถานบันเทิงครบวงจรและธุรกิจโดยรอบ รวมไปถึงตำแหน่งระดับบริหารจัดการ
4.เพิ่มรายได้ให้กับรัฐ : ประมาณการไว้ที่ 12,037-39,427 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย 4.1 รายได้ภาษีจากกิจการอื่นๆ เช่น โรงแรม สวนสนุก (8,773-35,093 ล้านบาทต่อปี) 4.2 รายได้จากกาสิโน เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ภาษีการเล่นพนัน ขั้นต่ำ 3,264 ล้านบาทต่อปี นอกจากนั้น ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเข้ากาสิโนอีก ขั้นต่ำ 3,700 ล้านบาทต่อปี รายได้เหล่านี้สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดูแลสังคม การศึกษาและการสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ
#ภายในเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์จะมีอะไรบ้าง?
มีองค์ประกอบหลากหลาย เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุม โรงแรมระดับ 6 ดาว พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP สวนสนุก สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สนามกีฬา ยอร์ชและครูซซิงคลับ ร้านอาหาร ไนท์คลับ ผับ-บาร์ กาสิโนและกิจการอื่นๆ
#จะบริหารจัดการและกำกับดูแล “กาสิโน” อย่างไร?
มีมาตรการกำกับดูแลที่รัดกุมและโปร่งใส บริหารโดยบริษัทที่มีประสบการณ์ มีผลงานที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และมีมาตรฐานในการจัดการที่ดี นำรายได้บางส่วนมาฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ จำกัดคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง
ตัวอย่างรายได้ของ “เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์” ในต่างประเทศ : เวียดนาม 1.8 แสนล้านบาท/ปี สิงคโปร์ 4.3 แสนล้านบาท/ปี อินโดนีเซีย 1.4 แสนล้านบาท/ปี ฟิลิปปินส์ 2.2 แสนล้านบาท/ปี มาเก๊า 1.2 ล้านล้านบาท/ปี เกาหลีใต้ 3.2 แสนล้านบาท/ปี
“สิงคโปร์” กรณีศึกษาที่น่าสนใจ : ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เพิ่มร้อยละ 1-2 มีการลงทุนจากต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 4.4 แสนล้านบาท การท่องเที่ยวเติบโตร้อยละ 47 (ข้อมูลระหว่างปี 2553-2566) มีการจ้างงาน 2 หมื่นตำแหน่ง เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ ในสิงคโปร์ ยังช่วยสร้างจ้างงานส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานด้านบริการ การขนส่งสาธารณะ
“กรณีศึกษาสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศเพื่อนบ้าน พิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ขนาดตลาด 54 ล้านล้านบาทในปี 2565 (อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี) 4 ใน 7 ประเทศที่มีรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจรสูงสุดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สะท้อนถึงแนวโน้มธุรกิจที่แข็งแกร่งในภูมิภาค”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี