ทุกๆ เทศกาลวันหยุดยาวของประเทศไทยอย่าง “ปีใหม่-สงกรานต์” หนึ่งในภาพที่เห็นกันจนชินตาคือ “การเดินทางข้ามวันข้ามคืนเพื่อกลับภูมิลำเนา..ก่อนจะกลับเข้าเมืองหลวง (หรือเมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ) เพื่อสู้ชีวิตกันใหม่”ซึ่งเป็นธรรมดาของ “การย้ายถิ่นของประชากร” ที่เมืองซึ่งมีโอกาสมากกว่า (เช่น การเรียนการทำงาน) จะดึงดูดผู้คนจากส่วนอื่นๆ เข้าไปแสวงโชคเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม หนึ่งใน “ค่าครองชีพ” ที่ประชากรอพยพ-แรงงานย้ายถิ่น ต้องแบกรับคือ “ค่าเช่าที่อยู่อาศัย” ทำให้ยากจะเก็บออมเงินสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ขณะที่โครงการของรัฐบาลไทยที่ผ่านมามักมีลักษณะ “ส่งเสริมให้คนมีบ้าน” ซึ่งผลที่ได้ “ไม่ค่อยตอบโจทย์” ด้านหนึ่งกลุ่มคนระดับล่างหาเช้ากินค่ำเข้าไม่ถึงเพราะสถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โครงการที่รัฐก่อสร้าง แม้จะทำให้คนที่เข้าถึงได้มีบ้านเป็นของตนเอง แต่ก็อาจต้องแลกกับการอยู่ไกลแหล่งงาน ซึ่งก็เท่ากับต้องแบกรับ “ค่าเดินทาง” เข้ามาแทนไปโดยปริยาย
บ่ายวันที่ 10 ม.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวมีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยทำวิจัยเรื่อง “เสียงของผู้มีรายได้น้อยที่เช่าที่อยู่อาศัย : เรื่องเล่าซึ่งมักไม่ถูกได้ยิน” ลงพื้นที่พูดคุยกับทั้งผู้เช่าและเจ้าของห้องเช่าราคาถูกในกรุงเทพฯ แล้วเจอข้อค้นพบว่า เรื่องนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนักในสังคมไทย ทั้งในฝ่ายกำหนดนโยบายและแวดวงวิชาการ
- สังคมไทยจริงๆ ก็สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยอยู่ไม่น้อย อย่างเรื่องชุมชนแออัด (สลัม) ในเมือง คนไร้บ้านใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ หรือชุมชนในชนบทที่มีข้อพิพาทกับเขตอนุรักษ์ต่างๆ (เช่น อุทยานแห่งชาติ) แต่เหตุใดประเด็นคนเช่าที่อยู่อาศัยถึงแทบไม่มีใครสนใจเลย? : คนเช่าไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนคนในชุมชนแออัดที่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจน ก็เลยทำให้ความสนใจพวกเขาน้อย
ที่นี้ผมคิดว่าในเชิงนโยบายด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนแออัดหลายแห่ง จากเดิมไม่มีทะเบียนบ้านมียุคหนึ่งก็สามารถออกทะเบียนบ้านได้ การออกทะเบียนบ้านได้ก็เป็น Voter (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง)ความสนใจของนักการเมืองท้องถิ่น ถ้าในกรุงเทพฯก็ สก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) จนถึงนโยบาย สส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ด้วย ส่วนผู้เช่าก็จะถูกมองว่าอย่างไรเขาก็ไม่เป็น Voter เท่าไร แม้จะมีการเลือกตั้งล่วงหน้า ถ้าเขาเป็นคนต่างจังหวัด เขตเลือกตั้งเขาอยู่ต่างจังหวัดอยู่ดี ดังนั้นเขาก็เลยไม่ได้รับความสนใจ
- แม้กระทั่งภาคประชาสังคม (NGO) ดูเหมือนก็จะไม่เคยทำงานกับผู้เช่าที่อยู่อาศัยเลยใช่หรือไม่? : พูดได้เลยว่าน้อย ผมเองเคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนมาก่อน ก็พบว่าเวลาไปลงชุมชนชาวบ้านก็จะบอกว่า “ไม่ต้องไปสนใจหรอก..คนนี้เขาเป็นคนเช่า” เพราะคนเช่าจะถูกมองว่าไม่มีรากหรือไม่มีความผูกพันกับชุมชน หรือหากชุมชนถูกไล่ที่เขาก็จะบอกว่าคนเช่าไม่เดือดร้อนหรอก เขาก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเสียงของผู้เช่าถึงไม่ค่อยปรากฏ แต่ข้อเท็จจริงผมก็พบว่าในหลายชุมชนมีคนเช่าอยู่มากกว่า 10 ปี อยู่กันจนคนเช่าบางคนที่เช่าบ้านประธานชุมชน แล้วช่วยงานแข็งขันกว่าคนที่เป็นลูกบ้านจริงๆ เสียอีก
-ในงานวิจัยของอาจารย์ที่ไปสำรวจห้องเช่าราคาถูกของผู้มีรายได้น้อย ได้ไปเห็นอะไรบ้าง? : อย่างแรกคือ “ห้องน้ำรวม” คำว่าห้องน้ำรวมกระทบอย่างไรบ้าง? ตอนเช้าคุณต้องต่อคิวกันเข้าห้องน้ำ การแชร์ห้องน้ำที่เป็นห้องแคบๆ อับชื้น และหลายที่ผมคิดว่าน่าจะมีปัญหาเรื่อง “ที่ตากผ้า” ดังนั้น เราจะเห็นถึงความนิยมมากขึ้นของเครื่องซักผ้า-อบผ้าในชุมชน ในห้องเช่ามันจะจำเป็นเพราะไม่มีใครมาตากผ้า แล้วมันจะอับ
-ในมุมของผู้เช่าและผู้ให้เช่า พวกเขาคาดหวังอะไรกันบ้าง? : คือเรื่องคุณภาพมันก็สอดคล้องตามราคา แต่ในมุมของผู้เช่าเขาคาดหวังเรื่องการ Maintenance (การซ่อมบำรุง) แน่นอนว่าตอนที่เขาเข้าไป เขารู้ว่าห้องมันไม่ดีหรอก จำใจอยู่ แต่พออยู่ไปนานวันแล้วความชำรุดทรุดโทรมของห้อง ก็จะคาดหวังว่าเจ้าของห้องช่วยมาดูหน่อยเถอะ เดี๋ยวน้ำรั่ว น้ำหยด ห้องน้ำไม่ดี
อย่างห้องที่ผมไปเจอ เหมือนกับวอลล์เปเปอร์สวยๆ เลย แต่เขาบอกไม่ใช่หรอก ห้องมันชื้น อย่างเราสร้างบ้านหลังหนึ่งด้วยปูน สร้างเสร็จต่อไปชั้นที่ 2 ต่อหลังคา แต่ปรากฏว่าอาคารหลังนี้มันสร้างไม่เสร็จ มันสร้างเทพื้นปูนไปชั้นที่ 2 ยังไม่ทันได้ก่อ เงินก็หมด ชั้นที่ 2 จึงเป็นแค่โครงไม้ แต่ก็มีคนอยู่ เขาให้เช่าห้องอีกเรตหนึ่งถูกกว่าชั้นล่างอีก ชั้นล่างฝนมันซึมลงมาตามซีเมนต์ มันทำให้ห้องเขาชื้น
ส่วนฝั่งเจ้าของห้องเช่า 1.จ่ายค่าเช่าตรงเวลา ใครมีแนวโน้มจ่ายไม่ไหวก็จะบอกๆ กันว่าคนนี้หนีจากห้องนั้นมา ห้องเช่าเขาก็มีเครือข่าย เช่น อยู่ซอยเดียวกัน 2.รักษาห้องให้เขา ไม่ทำห้องเขาเสียหาย และ 3.ไม่ก่อปัญหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ถึงต้องมีเรื่องไม่กินเหล้า หรือถ้ากินก็ต้องกินในห้องเงียบๆ อย่าเปิดเพลงเสียงดังอะไรประมาณนี้ อันนี้ผมว่าเป็นสูตรสำเร็จของเจ้าของห้องเช่า
-เห็นอาจารย์บรรยายไว้ในงานวิจัยด้วยว่า เหตุที่ห้องเช่าราคาถูกยังดำรงอยู่ในย่านทำเลทองของเมืองได้ เพราะที่ดินตรงนั้นไม่สามารถพัฒนาได้ หมายความว่าอย่างไร? : มันมีเงื่อนไขที่ทำให้พัฒนาเป็นอพาร์ทเมนท์ไม่ได้ เช่น มันอยู่ในที่ตาบอด (ในงานวิจัยบรรยายไว้ว่าใช้ได้เพียงมอเตอร์ไซค์เท่านั้น รถยนต์สัญจรไม่ได้)เป็นหัวใจสำคัญเลย ไม่เช่นนั้นเจ้าของที่เขาก็ไปขายที่แพงๆ ทำคอนโดฯ ทำอพาร์ตเมนท์แต่ตรงนั้นมันพัฒนาไม่ได้ เลยเป็นเงื่อนไขให้แทรกอยู่
-แล้วรัฐสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนการมีอยู่ของห้องเช่าราคาถูกแต่คุณภาพดีได้อย่างไรบ้าง? : ผมได้ยินห้องเช่าที่หนึ่ง อันนี้ที่เขาจัดการดี เขาบอกไม่ต้องมาสนับสนุนอะไรเขาหรอก ถ้าหากลดหย่อนภาษีให้เขาได้ มันก็จะทำให้เขามาลดหย่อนค่าเช่าได้ต่อ แต่ทีนี้ความเห็นผม มันมีวิธีการอยู่หลายทาง แน่นอนเรื่องภาษีก็พูดกันตามเพดานความคิดที่เคยมี เนื่องจากในต่างประเทศเขาทำกันแต่บ้านเราไม่ค่อยถูกพูดถึง
ผมเลยพยายามเขียนว่าในต่างประเทศเขาทำอะไรกันได้บ้าง เช่น การอุดหนุนครั้งเดียว แปลว่าถ้าคุณมีห้องเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย รัฐอุดหนุนให้คุณเป็นยูนิต ขอให้คุณไปปรับปรุงคุณภาพให้มันอยู่ได้ อันนี้ผมคิดว่ามันไม่น่าจะเกินเลยนะ ทุกวันนี้รัฐบาลอุดหนุนบ้านของการเคหะฯ คือการเคหะฯ เขาสร้างบ้านหลังหนึ่งเพื่อจะขายเรา ราคามันจะต่ำกว่าต้นทุน 1 แสนบาทนั่นคือรัฐบาลอุดหนุน
แต่ถ้าผมบอกว่าคุณไปอุดหนุนคนจนอีกแบบหนึ่งก็ได้ เพราะผมจะพูดว่าคนที่ไปซื้อบ้านแล้วผ่อนได้คือคนที่ไม่จนเท่าไร เพราะคนจนมันกู้แบงก์ไม่ผ่าน แล้วผมเสนอไม่เยอะเลยนะ ยูนิตละ 1 หมื่นบาท ให้คุณไปปรับปรุงห้องให้มันดีกว่านี้ ปรับปรุงหลังคา ห้องน้ำ ไม่ให้คนลื่น ไม่ให้บ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่เขาลื่น แล้วก็มีเงื่อนไขว่าราคาต้องไม่ขึ้นนะ เพราะส่วนที่ปรับปรุงคือรัฐอุดหนุน ทำอย่างนี้ผมก็คิดว่าอย่างน้อยผู้อยู่อาศัยก็ได้ที่อยู่คุณภาพดี
-ผมเห็นอาจารย์ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ให้สิทธิ์การเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกกับผู้มีรายได้น้อยก่อน วิธีนี้หากนำมาใช้จะไม่เกิดปัญหาหรือ? เพราะในประเทศไทย นโยบายอย่าง “บัตรคนจน” (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) ก็มีปัญหา “คนจนไม่ได้-คนได้ไม่จน”อยู่พอสมควร : อันนั้นผมคิดว่าเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ แต่เอาหลักการก็คือว่าเวลาคนพูดจะมีคนแย้งว่าคุณทำให้ Housing Right (สิทธิด้านที่อยู่อาศัย) เป็นสิทธิของทุกคนมันก็ใช้งบประมาณมาก เราก็บอกว่าอย่างนั้นไม่ต้อง Universal (ทุกคน) ก็ได้
หรือในความเป็นจริงคุณจะบอกว่า Universal แต่คุณภาพไม่ดี ก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่มาใช้สิทธิ์ อันนี้ผมพูดกลางๆ ดังนั้นในเมื่อ Universal ไม่ได้ ก็ให้ Priority (ความสำคัญ) กับคนจนก่อน มันจึงเป็นเงื่อนไขว่าอย่างนั้นคุณกำหนดรายได้ไหม? ถ้าใครมีรายได้ไม่เกินเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ ซึ่งอาจจะถูกตำหนิว่าอย่างนี้ก็ต้องพิสูจน์ความจน แต่ผมคิดว่าตราบเท่าที่เราไม่มี Universal การให้ Priority กับคนจนก่อนมันจึงจำเป็น ซึ่งอย่างไรเสียมันดีกว่าทุกวันนี้ที่คุณไม่ได้ให้ Priority กับคนจน แต่ไปให้กับคนชั้นกลางที่ลดหย่อนภาษีได้
- แสดงว่าอาจารย์มองว่าที่ผ่านมานโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศไทยไม่ว่าแบบไหนก็มุ่งช่วยแต่คนชั้นกลาง? : ส่วนใหญ่! ถ้าอ่านงานที่ผมเขียนไว้ หลักๆ เลยผมก็จะบอกว่านโยบายด้านที่อยู่อาศัยของบ้านเราอย่าเรียกว่านโยบายที่อยู่อาศัยเลย เรียกว่าเป็นนโยบายกระตุ้นอสังหาฯ ดีกว่า เพราะว่าเป็นนโยบายที่มุ่งหวังช่วยให้บริษัทอสังหาฯ เขาขายบ้านได้ แล้วเขาขายได้อย่างไร? คุณก็ไปลดหย่อนภาษี ไปกระตุ้นการโอน อะไรทั้งหลายนี่เป็นมาตรการที่จะช่วยคนมีบ้านก็ได้ แต่ผมว่าโจทย์หลักมากกว่าที่เขาทำคือไปช่วยภาคอสังหาฯ
- เห็นอาจารย์พยายามรณรงค์มาหลายปี เรื่องการควบคุมราคาที่ดิน ไม่อยากให้ที่ดินถูกมองเป็นสินค้า คำถามคือจะอธิบายให้สังคมไทยเข้าใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? เพราะด้านหนึ่งชนชั้นนำทุกกลุ่มต่างก็ถือครองที่ดิน และอีกด้านหนึ่งคนทั่วไปก็มองการเก็บเงินเพื่อซื้อที่ดินเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง : เกมนี้คือเกมที่ทุกคนคิดว่าเราจะต้องกักตุนที่ดิน เพราะคิดว่าอนาคตมันแพง เกมนี้ถ้าทุกคนต่างกระโจนผลที่เกิดขึ้นมันจะเป็นอย่างไร? มันก็จะทำให้ที่ดินราคาสูงขึ้นเพราะต่างคนต่างเก็งดังนั้นมันจะยิ่งทำให้สถานการณ์มัน Worse (เลวร้ายลง)
แล้วมันจะ Worse ถึงฟองสบู่ คุณไปดูฟองสบู่ของจีน บ้านเรามันไม่เกิดฟองสบู่แบบปี 2540 เพราะแบงก์เข้มงวดกับการปล่อยกู้คนที่เดือดร้อนคือบริษัทอสังหาฯ เพราะคุณคิดว่าผลิตแล้วจะมีคนซื้อ แต่ตอนนี้คุณผลิตแล้วราคามันเกินกว่าที่คนจะมาซื้อ ต่างคนต่างเก็งกำไร พอเก็งกำไรไปถึงจุดหนึ่งมันเฟ้อ พอเฟ้อคือมันแพงเกินกว่าที่คนท้องถิ่นจะซื้อได้ แล้วมันกระทบกับเราไหม? กระทบสิ! ผมคิดว่ามันต้องทำให้ลดการ Speculate (เก็งกำไร) ลง
แล้วมันจะไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะกับคนซื้อเท่านั้น “คุณไปอ่านข่าวบริษัทอสังหาฯ สิ เขาจะบอกว่าโอดครวญต้นทุนที่ดินแพง ก็เพราะว่าทุกคนกระโจนเล่นอยู่ในเกมนี้ไง กระโจนอยู่ในเกมว่าที่ดินต้องขึ้นแน่ๆ เราเลยต้องกักต่างคนต่างกักมันก็ขึ้น” ดังนั้นเราต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่าที่ดินมัน Optimum (อยู่ในราคาที่เหมาะสม) อยู่อย่างนี้ แล้วคุณก็ไปแพงค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงานขึ้นตามปีไป แต่ไม่ใช่ด้วยการเก็งกำไรที่ดิน
ที่ผมพูดว่าที่ดินเป็นสินค้า ผมพูดไปอีกคำว่า “ทุกวันนี้ที่ดินไม่ได้เป็นแค่สินค้า สินค้าแปลว่าคุณซื้อมาใช้ แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นสินทรัพย์” การทำแบบนี้มันยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ผมเคยพูดเรื่องนี้ในวงเสวนาใหญ่ๆ เลยนะอาจารย์ที่เคยไปอยู่ต่างประเทศจะบอกว่า ใช่! สมัยเรียนอยู่ฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) เรียนอยู่แคนาดา ต่างประเทศทั้งหลายคนเขาเช่ากันทั้งนั้น แล้วมีนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งถามว่าแล้วเขาไม่ห่วงลูกหลานหรือ? โดยธรรมชาติก็ต้องห่วงลูกหลาน ก็ต้องซื้อที่ดินไว้
วิธีการคือคุณก็ต้องทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าในอนาคตบ้านและที่ดินมันจะไม่ได้แพงขึ้นมากนัก มันจะขึ้นไปตามค่าครองชีพ มันไม่ใช่ต้องเก็งกำไร ผมถึงบอกว่าคุณต้องลดตรงนี้ จะแพงเพราะค่าวัสดุ ค่าแรง แต่ไม่ใช่จากการเก็งกำไรเพราะคิดว่าจะขายได้อีก และการเก็งกำไรก็มาจากความเชื่อว่าอนาคตมันขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าคุณบอกว่ามันไม่ได้ขึ้นมากมายหรอก รัฐบาลเขาควบคุม ถ้าคุณขึ้นมาก คุณทำไป คุณขายไม่ออก รัฐบาลเขาทำบ้านราคานี้มาตัดราคาคุณ
-ที่ผ่านมาโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐมักถูกตั้งข้อสังเกตว่าไปอยู่ตามพื้นที่ชายขอบ (เช่น ย่านชานเมือง) ทำให้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร มองเรื่องนี้อย่างไร? : ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Miss Match (ไม่ตรงกัน) มันเป็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการที่อยู่อาศัยกับราคาที่เขาจ่ายได้ ผมจ่ายได้ราคานี้ ที่ดินราคาถูกมันก็อยู่ชานเมือง เพราะฉะนั้นการที่จะเอาที่ดินแถว กม.11 (หนึ่งในโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” เป็นที่ดินย่านบางซื่อ ที่กำลังจะเปิดให้จองในวันที่ 20 ม.ค. 2568) มาทำห้องราคาถูกผมคิดว่าน่าสนใจ
มันท้าทายตรรกะนี้ บ้านคนจนต้องอยู่ชานเมืองเท่านั้น ไม่ใช่! คนจนก็ทำงาน มี Contribute (มีส่วนร่วม) กับเมือง ก็ทำให้เขาอยู่ราคาถูกบ้าง หรือไม่ต้องจนมาก ที่ทำอยู่ไม่ได้เอื้อเฟื้อกับคนจนขนาดนั้นหรอก 4,000 บาท (อัตราผ่อนบ้านเพื่อคนไทย) เขาบอกคนจบใหม่หรือเริ่มทำงาน 30 อะไรก็ว่าไป แต่อย่างน้อยมันทำให้เขาไม่ต้องตะเกียกตะกายไปอยู่มีนบุรี ไปอยู่หนองจอก แล้วนั่งรถเข้ามาทำงาน
-ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยความพยายามให้ชาวต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย มองเรื่องนี้อย่างไร? :มีนักวิชาการชื่อดังที่ผมอ่านงานเขาบ่อยๆ เดวิด ฮาร์วีย์ เขาบอกว่ามันน่าเจ็บปวดขนาดไหนที่มีคนไร้บ้านในนิวยอร์กเต็มไปหมด แต่คุณมองไปที่ตึกสูงในนิวยอร์ก ตอนกลางคืนเปิดไฟไม่ถึง 50% มันแปลว่าคนที่ซื้อเขาไม่ได้อยู่ มันมีมหาเศรษฐีทั่วโลกที่อยากครอบครองห้องในนิวยอร์กแต่เขาไม่ได้อยู่ทั้งปี เขาทำธุรกิจอยู่ที่อื่นแต่เขามาซื้อห้อง ในขณะที่คนท้องถิ่นไม่สามารถ Afford (จ่าย) ได้
เหมือนที่บาร์เซโลน่า กลายเป็นว่าคนมีสตางค์อยากมาเที่ยว แต่คนท้องถิ่นกลายเป็นว่าเพิ่มราคาให้แพงขึ้น หรือคุณลองค้นหาที่พัทยาสิ เจ้าของห้องเช่าเป็นภาษาจีนทั้งนั้น คำว่า Ripple Effect (ปรากฏการณ์น้ำกระเพื่อม) รัฐบาลจะบอกว่าการให้คนต่างชาติมาซื้อคอนโดฯ แพงๆ มันเป็นคนละกลุ่ม ไม่ได้แย่งตลาดของคนระดับกลาง อันนี้ไม่จริง มีงานวิจัยในอังกฤษในอะไรทั้งหลาย
เขาบอกว่านับตั้งแต่คุณเปิดให้ต่างชาติเข้ามา มันเหมือนปรากฏการณ์น้ำกระเพื่อมแปลว่าที่ดินตรงกลางขึ้นราคาสูง มันเป็นไปไม่ได้ที่ที่ดินที่ห่างออกไปจะไม่ขึ้นราคา สมมุติที่ดินสุขุมวิท ย่านทองหล่อมันราคาเท่านี้แล้วคุณอยู่พระโขนงมันจะไม่ขึ้นราคาหรือ? มันเป็นการกระเพื่อมของราคาที่มันกระจายออกไปแล้วมันจะกระทบกับทุกคน มันไม่ใช่กระทบกับตลาดต่างชาติ
-คำถามสุดท้าย หากแนวคิดของอาจารย์ทำได้จริง ที่ดินไม่ถูกใช้เพื่อเก็งกำไรอีกต่อไป จะส่งผลกระทบอะไรกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมหรือไม่? : ถ้ามีการคุมราคาที่ดิน ธุรกิจก่อสร้างมันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะบ้านมันยังสร้างอยู่ เพียงแต่มันไม่ได้สร้างบนที่ดินที่ราคาแพงเวอร์ แล้วผลมันจะเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำในภาพรวมในแง่คุณสร้างแล้วคนซื้อไม่ได้ ผมคิดว่าแยกกันระหว่างที่ดินกับบ้าน
อย่างที่ผมบอกอุดหนุนห้องเช่า แปลว่าธุรกิจอสังหาฯ เขาเลิกไหม? ไม่! คุณก็ไปทำธุรกิจก่อสร้างบ้านให้คนเช่าแทน หรือบอกว่าอย่าทำที่ดินให้เป็นสินค้า ผู้ประกอบการก็จะได้ไม่ต้องเอาเงินจำนวนมากไปสะสมกับ Land Bank (ที่ดินรอการพัฒนา) ถ้าทุกคนลดการสะสม Cost (ต้นทุน) ของคุณก็น้อยลงผมคิดว่านี่เป็นประโยชน์ในภาพรวมของทุกคน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี