ชำแหละพ.ร.บ.‘ซุกกาสิโน’ ไม่ตรงปก ตีเช็คเปล่า เอื้อทุนใหญ่ ผลักไทยเป็นแหล่งฟอกเงิน
15 มกราคม 2568 มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ที่ติดตามเรื่องการยกร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ให้มีการเปิดกาสิโนในเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ของรัฐบาลมาต่อเนื่อง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า...
หยุด พ.ร.บ.ซ่อนแอบ ซุกกาสิโนใต้เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
“ไม่ตรงปก..ตีเช็คเปล่า..เอื้อทุนใหญ่..ไม่เห็นหัวประชาชน”
ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ที่นำเข้าสู่การรับฟังความเห็นประชาชน ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เมื่อวันที่ 2 - 18 สิงหาคม 2567 มีสาระสำคัญที่ควรแก่การวิพากษ์วิจารณ์ ดังนี้
1. “ไม่ตรงปก” ขึ้นต้นเป็นสิงคโปร์ แต่ลงท้ายเป็น...
รัฐบาลรวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร “ขายฝัน” มาตลอดว่าเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่เสนอนี้ จะเป็นสถานบันเทิงครบวงจรขนาดใหญ่แบบสิงคโปร์ที่มีแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีกาสิโนไม่เกิน 5% (อ้างถึงรายงานกมธ. ชุดที่แล้ว) คนไทยที่จะเข้าเล่นได้ต้องมีฐานะระดับ HI-END มีเงินในบัญชี 500,000 บาท (กมธ.ชุดที่แล้ว) และจะต้องมีกลไกป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (อ้างถึงบทสรุปผู้บริหาร หน้า ญ. / รายงานหน้า 75 ของกมธ.ชุดล่าสุด) และต้องมีกองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (อ้างถึงบทสรุปผู้บริหาร , รายงานหน้า 75 และ 96 ของกมธ.ชุดล่าสุด)
แต่สิ่งที่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ. ฉบับรัฐบาล กลับพบว่าสิงคโปร์โมเดลที่เอ่ยอ้างนั้นถูกตัดหายไป ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ระบุถึงกิจการที่ประกอบกับกาสิโน เป็นสถานบันเทิงครบวงจร อย่างน้อย 4 กิจการประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า (คำว่า “ครบวงจร” หายไป) โรงแรม (คำว่า “ระดับ 5 ดาว” หายไป) ศูนย์การประชุม /สถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่และศูนย์สุขภาพครบวงจร (หายไป) แตกต่างจากร่างเดิมที่เสนอโดยกรรมาธิการศึกษาฯ ชุดล่าสุด
ที่สำคัญ คือ กลไกป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ไม่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ร่างแรกของกมธ. อีกทั้งกองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่ถูกเสนอไว้ในหมวด 8 ของร่างเดิมที่เสนอโดยกมธ. ได้ถูกตัดออกไปทั้งยวงในร่างนี้
รวมทั้งเงื่อนไขการอนุญาตให้คนไทยเข้าในกาสิโน ที่ต้องมีเงินในบัญชี 500,000 บาทก็ไม่มีการกล่าวถึง
2. “ตีเช็คเปล่า” ให้บอร์ดนโยบายมีอำนาจล้นฟ้า
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร จำนวนไม่เกิน 18 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี 1 คน และคณะรัฐมนตรีอีก 6 คน ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคม กระทรวงยุติธรรม และข้าราชประจำ 3 คน ได้แก่ เลขาธิการสนง.ส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการสนง.ปปง. (ฟอกเงิน) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมการได้ไม่เกิน 6 คน มีเลขาธิการสำนักงานกำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจร เป็นเลขานุการ
ที่น่าสังเกตคือ บอร์ดชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงครบวงจรทั้งหมด ทั้งการกำหนดจำนวนสถานบันเทิงครบวงจรว่าจะให้มีกี่แห่ง จะให้ตั้งที่ใด จะให้กาสิโนมีสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ของพื้นที่ จะให้เอกชนรายใดเป็นผู้ประกอบการ (โดยไม่ต้องประมูล แต่ใช้วิธีการอนุญาตโดยบอร์ดชุดนี้) จะเก็บภาษีเท่าใด (ไม่มีการกล่าวถึง) จะเก็บค่าธรรมเนียมคนไทยเท่าไร (โดยกฎหมายกำหนดไว้ขั้นสูงให้เก็บได้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท แต่ไม่กำหนดขั้นต่ำ)
3. “เอื้อทุนใหญ่” ให้ผลประโยชน์แบบจัดเต็ม
เอกชนรายใดที่จะเสนอขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเงื่อนไข ดังนี้
• เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
• หากเป็นบุคคลต่างด้าว ให้ได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และมิให้บังคับใช้พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ข้อที่ว่าบริษัทต้องมีกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินกิจการของบริษัทประกอบด้วยกรรมการอย่างน้อยห้าคน และกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร และมิให้บังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเรื่องเงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรก ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
• ใบอนุญาตมาจากการอนุญาตโดยคณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ต้องประมูล (ถูกตัดออกจากร่างเดิมที่ กมธ.ศึกษาชุดล่าสุดเสนอไว้)
• อายุของใบอนุญาตเพิ่มเป็น 30 ปี (เดิมกมธ.เสนอไว้ 20 ปี)
• ให้สิทธิในการ “เช่าที่” ถือครองได้เบ็ดเสร็จรวมแล้ว 99 ปี
• ให้กาสิโน (ขูดรีดซ้ำจากผู้เข้าเล่นพนัน) ปล่อยสินเชื่อให้ผู้เล่นพนันได้ และถือเป็นหนี้ถูกกฎหมาย (มาตรา 11,51,59)
• ถ้ามีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดก่อให้เกิดความไม่สะดวกให้คณะกรรมการนโยบาย เสนอให้มีการปรับปรุง แก้ไข ยกเลิก หรือให้มีกฎหมายใหม่ก็ได้
4. “ไม่เห็นหัวประชาชน”
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่เสนอโดยรัฐบาลนี้ ตัดมาตรา 50 ที่เสนอโดยกมธ.ศึกษาชุดล่าสุดว่า “ก่อนจะประกาศกำหนดเขตพื้นที่ตั้ง ให้จัดให้มีการรับฟังความเห็นประชาชนในท้องที่ดังกล่าวและใกล้เคียง” จึงไม่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ไม่ต้องหวังว่าจะมีการทำประมติแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กลไกการป้องกันปัญหาและผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการมีสถานบันเทิงครบวงจรและกาสิโน ก็ไม่มีการกล่าวถึง อีกทั้งกองทุนป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่อยู่ในหมวด 8 ของร่างเดิมที่เสนอโดยกมธ. ก็ถูกตัดออกไปทั้งยวงในร่างนี้
"ไม่ชอบธรรม ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้ใจ" เหตุผล 3 ไม่ ... ที่คนไทยไม่เอากาสิโน
1.“ไม่ชอบธรรม”
กาสิโนไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการ แต่เป็นความต้องการของผู้คุมอำนาจทางการเมืองและอำนาจทุน และกำลังพยายามจะใช้อำนาจมากลากไปเพื่อให้เปิดกาสิโนได้ตามอำเภอใจ
“ไม่ฟัง”
ผลการศึกษาทางวิชาการของทุกสถาบันล้วนตรงกันว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนคนไทยไม่เห็นด้วยกับการมีกาสิโน
• ผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ในการสำรวจทุกครั้ง ตั้งแต่ปี 2558,2560,2562,2564 และ 2566 คนไทยเกิน 50% ไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยเปอร์เซนต์ของผู้ไม่เห็นด้วยอยู่ระหว่าง 51% ถึง 65% มากกว่าผู้เห็นด้วยกับการเปิดให้มีกาสิโนถูกกฎหมายเกือบเท่าตัว
• ผลสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้าโพลล์) วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 พบว่า 46.5% และ 10.3 ไม่เห็นด้วยเลยและไม่ค่อยเห็นด้วยให้มีกาสิโนถูกกฎหมาย
• แม้กระทั่งผลที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจรฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 1 สำรวจโดยวิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ก็ยังพบว่า มีผู้ตอบเพียง 36% ที่เห็นด้วยกับการมีกาสิโนถูกกฎหมาย
แต่ดูเหมือนรัฐบาลไม่เคยฟังเสียงของประชาชน
“ไม่ซื่อ”
ที่สำคัญ ในการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา การตั้งสถานบันเทิงครบวงจรอันมีกาสิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่ได้ถูกประกาศในนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดเลย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และรวมถึงพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา อันเป็นพรรคแกนนำสำคัญ
การกระทำเยี่ยงนี้จัดได้ว่าเป็นความไม่ซื่อของพรรคร่วมรัฐบาล ที่พอมีโอกาสได้บริหารประเทศ ก็ใช้อำนาจกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกพ้องของตน โดยไม่สนใจรับผิดชอบต่อสิ่งที่หาเสียงไว้กับประชาชน
“ไม่อาย”
รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้จัดทำการรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ผ่านทางช่องทางอินเตอร์เน็ต โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง และรีบร้อนรวบรัด เปิดรับฟังเพียง 18 วัน และไม่ได้มีข้อคำถามว่า “ประชาชนเห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่?” แต่หลังจากนั้น บุคคลในรัฐบาลกลับให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ประชาชนกว่า 80% เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ นับเป็นเรื่องที่ไม่ละอาย
2.“ ไม่เชื่อมั่น”
“ไม่โปร่งใส”
กฎหมายที่รัฐบาลกำลังเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ยกอำนาจการตัดสินทุกเรื่องเกี่ยวกับกาสิโนให้แก่ คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร หรือเรียกว่า “ซุปเปอร์บอร์ด” อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี 1 คนกับรัฐมนตรีบางกระทรวง 6 คนและข้าราชการประจำ 3 คน กับผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 6 คน โดยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่น ทั้งภาคท้องถิ่น และภาคประชาสังคม
ที่สำคัญคือ กฎหมายนี้ได้ตัดมาตราว่าด้วย“การรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่สถานบันเทิงครบวงจรจะไปตั้ง และพื้นที่ใกล้เคียง” ออกไปจากร่างเดิม แสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส และไร้ซึ่งธรรมาภิบาล
“ไม่จริงใจ”
รายงานการศึกษาเพื่อเปิดสถานบันเทิงครบวงจร ฯ ของสภาผู้แทนราษฎร เสนอว่าประเทศไทยควรยึดต้นแบบ “สิงคโปร์โมเดล” เป็นสำคัญ โดยต้องมีกลไกป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคมจากการมีกาสิโน แต่ในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอกลับไม่มีหน่วยงานป้องกันปัญหาและลดผลกระทบ รวมทั้งตัดหมวดว่าด้วย “กองทุนลดผลกระทบทางสังคม” ออกไป แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจต่อการจะดูแลสังคมของรัฐบาล
“ไม่ไหวแน่”
ปัญหาใหญ่ของประเทศที่มีกาสิโนถูกกฎหมายทั่วโลก คือ ความข้องเกี่ยวกับขบวนการอาชญากรรมและการถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการทุจริตคอรัปชั่น และความย่อหย่อนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจ และไม่มีการปราบคอรัปชั่นอย่างจริงจัง จะไม่มีทางจัดการปัญหาอาชญากรรม และการฟอกเงินในกาสิโนได้
3.“ไม่ไว้ใจ”
“ไม่รู้จะรีบไปไหน?”
ปฏิบัติการของฝ่ายการเมืองต่อภารกิจนี้ มีความรีบร้อน และรวบรัด พยายามจะผลักดันกฎหมายให้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ โดยเร็ว ไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ รวมถึงไม่มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมอย่างถูกต้องชอบธรรม
“ไม่รู้ว่าเอื้อใคร?”
ในบัญชีแนบท้ายกฎหมายของรัฐบาลฉบับนี้ ได้ลดสเปคกิจการต่าง ๆ อันเป็นส่วนประกอบของสถานบันเทิงครบวงจรร่วมกับกาสิโน เช่น โรงแรมไม่ต้อง 5 ดาว ห้างสรรพสินค้าไม่ต้องครบวงจร ศูนย์ประชุมฯไม่ต้องมี มีสระว่ายน้ำ สวนสนุก และร้านขายสินค้าOTOP เท่านั้นก็พอ
เหล่านี้น่าจะเป็นการเอื้อให้ผู้ลงทุนสามารถลดต้นทุนในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกาสิโนได้
“ไม่รู้เป็นตู้เอทีเอ็มของนายใหญ่ ... ?”
ในกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้ง “สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร” ขึ้นมา ที่น่าสนใจคือ สำนักงานนี้จะมีรายได้มาจากหลายทาง โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และอื่น ๆ ซึ่งเป็นหลักพันล้านในแต่ละปี โดยมีบทบัญญัติว่า “เงินและทรัพย์สินของสำนักงาน เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว เหลือเท่าใดให้สำนักงานนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน”
การเปิดช่องไว้เช่นนี้ อาจทำให้สำนักงานที่ตั้งใหม่นี้กลายเป็นช่องทางให้เกิดการนำเงินที่รัฐควรได้จากกิจการสถานบันเทิงครบวงจร มาใช้จ่ายเพื่อตอบสนองนโยบายของฝ่ายการเมืองได้ คล้าย ๆ กับกรณีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในสมัยหนึ่ง ที่รายได้จากการจำหน่าย “หวยบนดิน” ที่ไม่ได้นำส่งเข้าแผ่นดิน กลายเป็นตู้เอทีเอ็มให้นายใหญ่กดนำมาใช้ดำเนินงานทางการเมืองได้อย่างสบายมือ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี