จากบริบทชุมชนของจังหวัดสุรินทร์ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้น้อย และไม่มีอาชีพเสริม ประกอบกับบริบทพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผ้าประมาณ 2-3 แห่ง นายชัชวาลย์บุสยาตรัส ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้า บ้านตรึม อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ จึงเกิดแนวคิดนำเศษผ้าสำลีเหลือใช้จากโรงงานมาผลิตเป็นพรมเช็ดเท้า เนื่องจากผ้าสำลีมีคุณสมบัติเรื่องความหนาและนิ่ม ซักง่าย จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนและลดขยะจากเศษผ้า
“เริ่มทำตั้งแต่ ปี 2549 ก่อนหน้านี้ได้จดเป็นวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าบ้านตรึมอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้นเรามีคณะกรรมการอยู่ 6 คน มีสมาชิกอยู่ 10 กว่าคน โดยไปรับซื้อจากชาวบ้านที่ทอพรมเช็ดเท้าเพื่อนำไปขาย ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หลังจากนั้น ได้เข้าร่วมอบรมกับหลักสูตรธุรกิจปันกัน”
หลักสูตรธุรกิจปันกัน คือหลักสูตรภายใต้กรอบวิจัย“การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่เป็นการพัฒนา “ธุรกิจชุมชน” ด้วยแนวคิดการทำงาน “คน-ของ-ตลาด” ซึ่งรศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ ในฐานะผู้อำนวยการกรอบการวิจัย Local Enterprises ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรปันกันจะต่างจากหลักสูตรธุรกิจอื่นๆ คือ การใช้กระบวนการโค้ช มาช่วยเจ้าของธุรกิจแต่ละรายได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยข้อมูลที่เป็นของเขาเอง โดยผ่านตัวช่วยสำคัญ 3 ตัวคือ SUPER COACH ซูเปอร์ผู้ใหญ่บ้านปันกัน การเชื่อม ช่วย เชียร์ ปรับเปลี่ยน mindset ให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มพูนความสามารถในการทำธุรกิจ การเก็บข้อมูล การทำการตลาด ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลาย SUPER BOARD GAME ซูเปอร์บอร์ดเกมกลยุทธ์ธุรกิจ ที่จะปลูก skillset ให้กับผู้ประกอบการทุกระดับตามความเหมาะสม และ SUPER APP ที่เป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น อาทิ กระเป๋าตังค์ครัวเรือน กระเป๋าตังค์ธุรกิจ สมุดบันทึกการผลิต การจัดการห่วงโซ่คุณค่า เป็นต้น โดยมีเป้าหมายมุ่งให้เกิดธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และเกิดกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก
น.ส.นารีนาถ พวงจีน ผู้ช่วยวิจัยภายใต้โครงการธุรกิจปันกัน ในฐานะ Super Coach ของ วิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้า บ้านตรึม กล่าวว่า ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าของนายชัชวาลย์ ที่เข้าอบรมในหลักสูตรธุรกิจปันกันตั้งแต่ปี 2563 นอกเหนือตัวหลักสูตรธุรกิจปันกัน ที่เป็นการพัฒนา “คน” ในปีแรกแล้ว ในปีต่อมาทางโครงการได้มีการหนุนเสริมในเรื่องการจัดการการเงินและการตลาด (ผ่านการรู้จักลูกค้า) จากนั้นจึงพัฒนาต่อในเรื่องการออกแบบและการสร้างแบรนด์โดยมีทีมงานเข้ามาช่วยทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ เป็นลำดับ
“จุดเริ่มต้นจะเริ่มจาก Pain Point ของผู้ประกอบการในขณะนั้น คือเกิดปัญหาโควิดและต้องการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้
หลากหลาย ให้เป็นที่น่าสนใจของตลาด ตอนนั้นมีการอบรมการบันทึกรายรับ-รายจ่ายของแต่ละหมวดบัญชีครัวเรือน รวมถึงการตลาด โดยทำความเข้าใจสามารถวิเคราะห์ลูกค้าได้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ลูกค้าประจำและลูกค้าไม่ประจำต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นจึงลงลึกไปยังรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งเครือข่ายการทำงานและการหนุนเสริมแต้มต่อของการทำธุรกิจ ซึ่งตนเองในฐานะ Super จะเป็นเสมือนเพื่อนช่วยคิด และคนให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจเขาเติบโตไปได้อย่างเหมาะสม”
สอดคล้องกับ นายชัชวาลย์ ที่ระบุว่า ปัจจุบันคู่แข่งทางการตลาดพรมเช็ดเท้ามีจำนวนมากโดยเฉพาะตลาดจากประเทศจีน เนื่องจาก
เทคโนโลยีการทอที่ทันสมัยกว่า ประกอบกับราคาถูกกว่า โจทย์คือทำอย่างไรเพื่อให้พรมเช็ดเท้าของไทยสามารถแข่งขันทางการค้าได้
“พอได้รับความรู้จากหลักสูตรธุรกิจปันกันในเรื่องการดูเป้าหมายคู่แข่งของเรา ลักษณะฝีมือการทอต้องแน่น มีคุณภาพ มีการออกแบบลวดลายและวางกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าที่ซื้อเป็นใคร เพราะตอนแรกเราคิดว่าเป้าหมายคือใครก็ได้ พอวิเคราะห์แบบเจาะลึกพบว่าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชอบทำความสะอาดบ้าน และขยายฐานลูกค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรด ทำให้มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและฐานลูกค้าใหม่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ พรมที่วางจำหน่ายมีไซส์มาตรฐาน ขนาด 40x60 นิ้ว โดยขายในกลุ่มแม่บ้าน เกษตรกร มีลวดลายหลากสี ขณะที่ลูกค้าในกลุ่มโมเดิร์นเทรด ขยับเป็นไซส์ที่ใหญ่ขึ้น มีลวดลายที่หลากหลาย บางผืนบอกเล่าเรื่องราวของบริบทชุมชน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการซื้อในกลุ่มโมเดิร์นเทรด นอกจากจะนำไปเช็ดทำความสะอาดแล้วยังมีการประดับตกแต่งสถานที่ด้วย
น.ส.ปราณี สมศักดิ์ อายุ 48 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจพรมเช็ดเท้าบ้านอำปึล หมู่ 6 ต.สะกาด อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นเครือข่ายการทอพรมส่งให้กับผู้ประกอบการ เล่าว่า เริ่มทอเป็นงานอดิเรกกว่า 10 ปี สามารถทอได้วันละ 20 ผืน เนื่องจากมีเครื่องทอจึงทอได้ง่ายและรวดเร็ว สำหรับการทอพรมมีข้อจำกัดคือ สีผ้าที่ได้มาจากโรงงานมักจะไม่ค่อยมีสีสัน จึงทำให้ออกแบบลวดลายแต่ละผืนได้น้อย โดยพบว่าผืนที่มีลวดลายและมีสีสันจะขายง่ายกว่าผืนที่มีเฉพาะสีพื้นอย่างเดียว
“ตอนแรกเริ่มจากการทอคนเดียว โดยไปรับผ้ามาจากโรงงานโดยมีพี่ชัชวาลย์เป็นคนมารับไปขาย จากนั้นมีคนในหมู่บ้านสนใจหลายคนจึงรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจพรมเช็ดเท้าบ้านอำปึล ซึ่งการทอที่ได้ มาตรฐานคือ ต้องผ้าแน่นไม่มีช่องว่างให้แหย่เข้าไปได้ส่วนลายที่ทอเป็นลายพื้นขาวดำ มีสีบ้างแล้วแต่ลอตของผ้าที่ไปรับมาจากโรงงาน บางทีมีสีแดง สีแสด สีเขียว เข้ามาบ้าง ทำให้สามารถออกแบบลวดลายได้สวยและมีสีสัน”
ปัจจุบัน พรมเช็ดเท้าวิสาหกิจชุมชนฯ มีแบรนด์ภายใต้ชื่อ “จีดุง” มาจากเป็นภาษาส่วยซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาษาท้องถิ่นของ จ.สุรินทร์ แปลว่า “กลับบ้าน” โดยตีความจากความหมายของคำว่ากลับบ้าน คือ การกลับมาทำงานในพื้นที่
ทั้งนี้ พรมสุรินทร์สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน รายได้เฉลี่ยคน ต่อเดือน เดือนละ 5,000 บาทขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับเวลาการทอของแต่ละคน มีสมาชิก 80 คน ขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียงกว่า 300 ครัวเรือน และขายส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายในประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี