15 ม.ค. 2568 ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มีการแถลงข่าวเรื่อง รายงานสถานการณ์ประชากรของประเทศไทย ปี 2567 “เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” โดย รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการของสถาบันฯ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2567 ไทยมีประชากรทั้งสิ้น 65,951,210 คน คน
ขณะที่จำนวนการเกิด แม้ในปี 2566 ผู้ติดตามสถานการณ์ประชากรอาจใจชื้นเพราะเห็นเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น จำนวนการเกิดมากกว่า 5 แสนคน ในสถาบันฯ ก็มีการพูดคุยกันว่าในปี 2567 เป็นปีมังกรก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนไทยตัดสินใจมีลูก แต่แล้วสถิติที่ทางสำนักบริหารการทะเบียนฯ ประกาศออกมา พบว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน และเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี นับจากปี 2492 ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน นอกจากนั้น ปี 2567 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 571,646 ราย ยังเป็นปีที่ 4 ที่ประเทศไทยมีคนตายมากกว่าคนเกิดอย่างต่อเนื่อง
“การกลับมาพิจารณาเรื่องของการเกิดน้อยยังคงมีความสำคัญอยู่ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นนโยบายส่งเสริมการมีบุตร มีลูกเพื่อชาติ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่เกิดกับปี 2567 ยังค่อนข้างสวนทาง ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ว่าเราต้องมาฉุกคิดให้ชัดเจนขึ้นว่าเกิดน้อยแล้วอาจยังไม่กระเตื้องขึ้นอีก ทางเลือกหรือโจทย์หรือโอกาสที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาน่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว
รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวต่อไปว่า หากดูบริบทของโลก ประเทศที่จำนวนประชากรขึ้นสู่จุดสูงสุดและเปลี่ยนสู่ประชากรลดลง ส่วนใหญ่คือประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้สูง แต่ไทยก็ไปอยู่ในประเทศกลุ่มนี้ด้วยทั้งที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีรายได้ปานกลาง ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยอยู่ที่ 1.0 อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศกลุ่มที่มีอัตราการเกิดน้อย อนึ่ง สถาบันฯ คำนวณอนาคต 50 ปีข้างหน้า นับจากปี 2566 ที่ไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน แต่ในปี 2616 ประชากรไทยจะเหลือราว 40 ล้านคน หรือหายไป 25 ล้านคน
เมื่อมองถึงจำนวนกำลังแรงงานในประเทศไทย ในปี 2567 มีคนทำงาน 37.2 ล้านคน แต่ในปี 2616 จะลดเหลือ 22.8 คน หรือคนทำงานจะหายไปราว 15 ล้านคน เป็นที่มาของการใช้คำว่าวิกฤติประชากร แต่สิ่งที่ตนอยากสื่อคือจะกลายเป็นวิกฤติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว หากเตรียมตัวไว้ดีและมีการบริหารจัดการที่ดี จากคำว่าวิกฤติก็จะกลายเป็นเพียงคำว่าเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่าน และการมองหาโอกาสในวิกฤติเป็นโจทย์ที่สำคัญกว่า
ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้สำรวจความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนไทย อายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,042 คน ระหว่างวันที่ 28 ต.ค. - 20 ธ.ค. 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71 มองว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤติของประเทศ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.8 เท่านั้นที่ตอบว่าจะมีลูกอย่างแน่นอน ในขณะที่อีกร้อยละ 29.9 ตอบเพียงว่าอาจจะมีลูก ซึ่งกลุ่มนี้สำคัญหากจะมีนโยบายส่งเสริมการเกิด ต้องไปดูให้ชัดเจนว่ามีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ตอบเพียงอาจจะ ทั้งในแง่อุปสรรคที่ทำให้ไม่อยากมีลูก และนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีลูก
ประการต่อมา ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนรุ่น Baby Boomer และ Gen X ซึ่งเป็นประชากรที่เลยช่วงวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมการมีลูก คนรุ่น Gen Y และ Gen Z ที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์กลับไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ที่มีสัดส่วนผู้ที่เฉยๆ หรือไม่เห็นด้วยมากกว่าเห็นด้วยอย่างชัดเจน และแม้นโยบายส่งเสริมการเกิดยังสำคัญและต้องทำต่อ แต่เรื่องประสิทธิผลอาจต้องเผื่อใจไว้
นอกจากนั้น ท่ามกลางการมีลูกน้อยลงของคนไทย ในกลุ่มประชากรที่ยังมีลูกอยู่ก็อาจเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมต่ำ เช่น เกิดแบบท้องไม่พร้อม เกิดในครอบครัวฐานะยากจน คุณภาพการเกิดจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ประเทศไทยก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ข้อมูลบัญชีกระแสการโอนแห่งชาติ (NTA) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พบว่า ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูประชากรตั้งแต่อายุ 0-21 ปี ในประเทศไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนรายได้สูงสุดกับรายได้ต่ำสุด ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ใช้ห่างกันถึง 35 เท่า และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก เพราะกลัวไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายด้านนี้
อนึ่ง ในทฤษฎีประชากรศาสตร์ มีคำว่า “การปันผลทางประชากร” ซึ่งรอบแรกคือการที่มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากๆ รัฐก็จะมีกำลังแรงงานโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ขณะที่การปันผลทางประชากรรอบที่ 2 ต้องอาศัยการลงทุน แต่ประเทศไทยก็ผ่านช่วงการปันผลรอบที่ 2 นี้มาแล้ว ดังนั้นก็ต้องมาขับเคลื่อนการปันผลทางประชากรรอบที่ 3 ซึ่งครั้งนี้จำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากผู้สูงอายุ เนื่องจากเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย รวมถึงประชากรผู้หญิง
กล่าวคือ ที่ผ่านมาผู้หญิงมีอัตราการอยู่ในตลาดแรงงานต่ำกว่าและออกจากตลาดแรงงานเร็วกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจมาจากปัจจัยด้านภาระการดูแลบ้าน ดูแลครอบครัว แต่ในอนาคตเมื่อเด็กเกิดน้อยลงภาระของผู้หญิงก็จะน้อยลงด้วย แต่การที่ผู้หญิงจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้นไม่ใช่เกิดขึ้นเองแต่ต้องมีนโยบายมาเกื้อหนุน เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ หากเป็นผู้หญิง เมื่ออายุเข้า 50 ปี และผู้ชาย เมื่ออายุเข้า 55 ปี จะเห็นการออกจากตลาดแรงงานชัดเจน โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนยังคงอยู่ในตลาดแรงงานต่อไปได้นานกว่านี้
“จากการวิจัยของสถาบันฯ เราพบว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือจิตวิทยาเพื่อสังคม หรือมุมมองของคนไทยต่อการแก่ชรา ดังนั้นในเรื่องของการนิยามให้คำจำกัดความว่าใครแก่เป็นผู้สูงอายุแล้ว เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่เราจะต้องพัฒนา หรือตั้งคำถามว่าปัจจุบันนี้ 60 น่าจะยังไม่แก่ ถึงเวลาหรือยังที่เราน่าจะคุยกันถึงเรื่องนิยามของผู้สูงอายุ หรือปรับนิยามให้มีอายุที่เพิ่มสูงขึ้น” รศ.ดร.เฉลิมพล ระบุ
รศ.ดร.เฉลิมพล ยังกล่าวอีกว่า ในการสำรวจครั้งนี้มีการตั้งคำถามว่า คิดเห็นอย่างไรหากมีการปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปี พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งหากนิยามเปลี่ยนอายุเกษียณก็จะเปลี่ยน และแม้ผลสำรวจนี้อาจไม่ได้สะท้อนความเห็นของคนไทย แต่อยากเน้นย้ำความสำคัญเรื่องจิตวิทยาสังคม หากขยับตรงนี้ได้ต่อไปการทำงานหลังอายุ 60 ปีจะไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างบางบ้านจะมีคำถามว่าพ่อแม่อายุ 60 แล้วยังให้ไปทำงานอีกหรือ นี่เป็นปัจจัยที่ลดโอกาสในการทำงานของประชากรสูงอายุ
อีกด้านหนึ่ง ต้องส่งสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพูดเรื่องการนำเข้าประชากรเพื่อทดแทน (Replacement Migration) ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแม้จะยังจำเป็นอยู่ แต่อาจต้องเน้นไปที่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะ นโยบายดึงดูดแรงงานทักษะสูงเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดให้ชัด และอีกกลุ่มคือลูกหลานของแรงงานข้ามชาติที่เกิด เติบโตและเรียนหนังสือในประเทศไทย ใช้ภาษาไทยและไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน หากจะมองเด็กกลุ่มนี้ทดแทนเด็กไทยที่เกิดน้อยลงก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
ผลสำรวจยังพบข้อน่าสนใจเรื่องการย้ายเข้า-ออกระหว่างประเทศด้วยว่า กลุ่มประชากร Gen Z ถึง 3 ใน 4 มีแนวคิดพร้อมย้ายประเทศหากมีโอกาสอย่างชัดเจน ดังนั้นการกำหนดนโยบายก็ต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาด้วย ในการเกิดน้อย ยังมีการพูดถึง Gen Beta ที่เริ่มนับเด็กเกิดใหม่ตั้งแต่ปี 2568 เป็นปีแรก โดยจะเป็นประชากรที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และใช้ในทุกมิติของชีวิต
ยังมีมุมมองที่น่าสนใจ ในการที่อัตราการเกิดน้อยและประชากรมีแนวโน้มลดลงอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะมีการศึกษาที่เรียกว่า จำนวนประชากรที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มี (Optimum Population) แล้วพบว่า โลกใบนี้ควรมีประชากรประมาณ 3 พันล้านคนเศษๆ หรือประเทศไทยควรมีประชากรราว 40 ล้านคนเศษๆ ซึ่งในส่วนของไทยก็เป็นจำนวนที่คาดการณ์ไว้ในปี 2616 แบบนี้จะมองว่าเป็นโอกาสได้หรือไม่ในแง่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนในแง่สิ่งแวดล้อมก็ได้
ประการสุดท้าย ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุอยู่มาก และมีประชากรที่กำลังจะสูงอายุอีกมากเช่นกัน การช่วยเหลือของภาครัฐและการสร้างความตระหนักให้แต่ละคนเตรียมตัวก็สำคัญ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจระบุว่า สุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด รองลงมาคือเรื่องการเงิน แต่ประเทศไทยก็มีความท้าทาย เช่น การเจ็บป่วยด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การบาดเจ็บและพิการจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นต้น นอกจากนั้น หนึ่งในสิ่งที่พยายามผลักดัน คือการทำ “พินัยกรรมชีวิต (Living Will)” เพื่อแสดงเจตจำนงไม่ยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต
“ในการสำรวจครั้งนี้เราพบว่าประชากรมีความตระหนักและเห็นด้วยกับวาระนี้ค่อนข้างมากทีเดียว ที่ร้อยละ 84.8 ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ดี แต่เชื่อว่าเห็นด้วยแล้วแต่ทำอย่างไร ดำเนินการอย่างไรให้ Living Will สามารถเกิดขึ้นได้ ยังเป็นสิ่งที่เราต้องให้ข้อมูล ให้ความรู้” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี