“ตอนนั้นพาลูกไปขายพวงมาลัย ก็อยู่กับลูกแค่แป๊บเดียวพอมาอีกทีน้องหายไปแล้ว พอไปแจ้งความก็โดนปฏิเสธเพราะยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง พอหลังจากนั้นมาเราก็หาเอง แจ้งทุกหน่วยงาน ก็มีมูลนิธิกระจกเงาเข้ามาช่วย”
เรื่องเล่าจาก “คุณแม่น้องจีจี้” ซึ่งลูกสาวหายตัวไปตั้งแต่เมื่อ 14-15 ปีก่อน ในแถลงข่าวสถานการณ์เด็กหายประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 ณ ห้องประชุมภวัตชั้น 4 อาคารสถาบันนิติเวชวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยาโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งในขณะที่ลูกหายไปนั้น ในแวดวงตำรวจยังมีแนวปฏิบัติที่ว่าการแจ้งความคนหายต้องรอให้ผ่านไป 24 ชั่วโมงเสียก่อน
ในงานดังกล่าว ยังมีคุณแม่อีก 2 คน ที่ปัจจุบันยังคงหวังว่า จะได้เจอลูกอีกครั้ง คือ “คุณแม่น้องดา” ที่ลูกสาวหายตัวไปนานถึง 11 ปี ซึ่งเล่าว่า วันสุดท้ายที่อยู่กับลูก วันนั้นพาลูกไปร่วมงานศพ ในขณะที่ตนเองกำลังช่วยญาติคนอื่นๆ อยู่ภายในงาน และปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น พอใกล้พลบค่ำออกมาดูลูกก็ไม่พบแล้ว และได้รับข้อมูลจากผู้เฒ่าในหมู่บ้านที่กลับจากเลี้ยงวัว บอกว่าเหมือนเห็นเด็กหญิงขึ้นรถยนต์ออกไป ซึ่งก็เช่นเดียวกับคุณแม่น้องจีจี้ ที่การไปแจ้งความถูกปฏิเสธเพราะยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง
รวมถึง “คุณแม่น้องอัษ” ที่ลูกชายหายตัวไปแล้ว 6 ปี เล่าว่า วันที่ลูกหายเป็นวันที่ครอบครัวอันประกอบด้วยพ่อ แม่และลูกจะไปกินข้าวนอกบ้านด้วยกัน โดยให้พ่อพาไปรอ ส่วนตนเองที่ทำงานอยู่จะตามไปทีหลัง นัดกันเวลา 15.30 น. มีจังหวะหนึ่งที่พ่อไปเข้าห้องน้ำ แต่เมื่อออกมาก็ไม่เจอลูกแล้ว พอไปตามที่ร้านค้าก็ได้ข้อมูลว่าเหมือนมีเพื่อนมาเรียกลูกชาย พอไปถามร้านเกมก็พบว่าลูกไม่ได้มาที่นี่ มีความพยายามตามหากันอยู่ 3 วัน จึงตัดสินใจไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ก็ยังต้องไปไล่ตามภาพจากกล้องวงจรปิดเอง ซึ่งก็มีกล้องบางตัวใช้การไม่ได้อีก
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ คุณแม่ทั้ง 3 คน ได้เข้ากระบวนการเก็บสารพันธุกรรม ในโครงการ “DNA-PROKIDS”ซึ่ง พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา กล่าวว่า เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่ถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวง โดยเมื่อพ่อแม่ไปแจ้งความลูกหาย หากพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาก็จะเข้ากระบวนการเก็บสารพันธุกรรมไว้เป็นฐานข้อมูล DNA ของสถาบันนิติเวชวิทยา หากภายหลังพบเด็กที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้และอาจเข้าข่ายถูกล่อลวงหรือถูกลักพาตัว ก็จะมีการเก็บสารพันธุกรรมมาตรวจสอบว่าตรงกับพ่อแม่ที่เคยแจ้งลูกหายหรือไม่
“ดังนั้นการเก็บตัวอย่าง DNA ของพ่อแม่ จะเป็นประโยชน์ในการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ที่สูญหายออกจากบ้านให้ได้กลับคืนมา อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่ลูกหายสามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา เพื่อช่วยในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน ทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจ DNA ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ เพื่อเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ในระบบฐานข้อมูล DNA ของสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ต่อไป” พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าว
อีกด้านหนึ่ง เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา สถิติเด็กหายอยู่ที่ 314 คน เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง ร้อยละ 6 สาเหตุของการหายตัวไปอันดับ 1 กว่าร้อยละ 72 หรือ 227 คน สมัครใจหนีออกจากบ้านอายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุเพียง 7 ขวบ รองลงมาคือเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่าร้อยละ 9 หรือ 29 คน เช่นพลัดหลง ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกลักพาตัว หรือมีการแย่งสิทธิ์การปกครองเด็ก
ในกลุ่มสมัครใจหนีออกจากบ้าน หลักๆ จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือการติดเพื่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือปัญหาภายในครอบครัว ขณะที่กลุ่มถูกลักพาตัว ในปี 2567 มีจำนวน 5 ราย อายุต่ำสุดคือ 9 เดือน สูงสุดคือ 11 ปีเพศชายถูกลักพาตัวมากกว่าเพศหญิง โดยผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจจากความเสน่หา ต้องการนำเด็กไปเลี้ยงดู รองลงมาคือผู้ก่อเหตุปัญหาความขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัวของเด็ก
ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของเด็กที่ถูกลักพาตัวคือ 4 ขวบ ดังนั้นเด็กวัยนี้พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องระมัดระวัง เช่น การปล่อยให้เด็กพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรืออยู่ตามลำพัง ในส่วนช่วงอายุของเด็กที่หายออกจากบ้านมากที่สุด อันดับ 1 เป็นกลุ่มเด็กในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ช่วง 11-15 ปี รวม 171 คนรองลงมาเป็นช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ 16-18 ปี รวม 103 คน และกลุ่มแรกเกิด - 10 ขวบ 40 คน หายออกจากบ้านเป็นอันดับสุดท้าย
“ที่น่าตกใจ” คือล่าสุดยังพบด้วยว่า “นับจากช่วงปลายปี 2566-2567 มีกลุ่มเด็กและเยาวชนหายออกจากบ้านไปโดยที่เด็กถูกล่อลวงและชักจูงไปทำงานเว็บพนันออนไลน์ เป็นแอดมินเว็บ และถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสิ้น 11 ราย” อายุต่ำสุดที่ถูกหลอกไปคือ 14 ปี ถ้ามากที่สุดในกลุ่มเยาวชนคือ 22 ปี โดยทั้ง 11 คน ที่ถูกล่อลวงไปร่วมขบวนการมิจฉาชีพออนไลน์ เป็นชาย 7 คน และหญิง 4 คน ส่วนใหญ่ถูกหลอกไปประเทศกัมพูชา แต่ในจำนวนนี้มี 1 คน ที่ไปทำมาแล้วในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชาและเมียนมา
เอกลักษณ์ ยกมีตัวอย่างเยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งต้องการมีรายได้ ไปค้นหาประกาศรับสมัครงานในอินเตอร์เนต เจอโฆษณางานแอดมิน ให้ค่าจ้าง 15,000 บาทต่อเดือน มีสถานที่ทำงานคือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยระหว่างการเดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย หากต้องจ่ายค่าโดยสารยานพาหนะ ขบวนการจะเป็นผู้โอนเงินจ่ายให้ด้วยวิธีติดต่อทางโทรศัพท์แล้วให้เยาวชนนั้นยืนโทรศัพท์ให้ผู้ขายค่าโดยสารพูดคุย
เมื่อถึงจุดนัดหมาย ก็มีรถยนต์มารับต่อเพื่อพาไปยังบริเวณชายแดน แล้วเดินข้ามช่องทางธรรมชาติเข้าไปยังเขตประเทศกัมพูชา รูปแบบการทำงาน วันแรกๆ จะมีคู่มือให้ศึกษาว่าจะหลอกเหยื่ออย่างไร และในเดือนแรกยังมีเงินเดือนให้ แต่เดือนที่ 2 จะไม่มีเงินเดือนแล้ว โดยรายได้จะมาจากส่วนแบ่ง ทำนองค่าคอมมิชชั่น ยิ่งหลอกได้มากก็จะได้ส่วนแบ่งมาก ซึ่งเยาวชนรายนี้เล่าว่า ในเดือนแรกหลอกใครไม่ได้เลย แต่เดือนต่อมาก็เริ่มหลอกได้
กระทั่งทำงานไปถึงเดือนที่ 5 พบว่าตนเองไปหลอกพระให้โอนเงินมาอยู่หลายครั้ง จนได้วีดีโอคอลเห็นพระร้องไห้ ก็รู้สึกผิดไม่อยากทำงานนี้อีก ซึ่งถูกเรียกค่าไถ่ตัว 1.3 แสนบาทประกอบกับหาช่องทางติดต่อผู้ปกครองแล้วประสานมาทางมูลนิธิกระจกเงา จนสามารถช่วยเหลือออกมาได้ ซึ่งเยาวชนรายนี้เล่าว่า โดยปกติจะไม่ถูกทำร้ายร่างกาย จะเน้นการกดดันด้วยคำพูดเพื่อให้ทำยอดการหลอกเสียมากกว่า แต่ตอนที่ถูกทำร้ายคือตอนที่ไปบอกว่าไม่อยากทำแล้วและต้องการกลับบ้าน
“เด็กอยากมีรายได้ อยากมีเงินเป็นของตัวเอง งานสำหรับเด็กถ้ามีเงินหลักหมื่นมันไม่มีงานอื่นเลย อย่างเด็กที่เป็นกรณีศึกษา เดิมทีเด็กออกจากโรงเรียน สิ่งที่เด็กทำได้คือไปรับจ้างก่อสร้าง ได้วันละ 350 บาท แต่มันหนักเกินไป เด็กก็เลยพยายามหางานที่มันสบายและได้เงินดี ดังนั้นเขาจึงหลงเชื่อว่ามันมีงานแอดมินเว็บไซต์ ซึ่งเด็กก็คิดว่าตัวเองเล่นเกมออนไลน์ ใช้โทรศัพท์มือถือใช้คอมพิวเตอร์เป็นอยู่แล้ว น่าจะทำได้ ก็เลยไปสมัครและหลงเชื่อว่าจะได้งานและได้เงินแบบนั้นจริงๆ ส่วนใหญ่เคสที่เราสัมภาษณ์ข้อมูลมาก็จะเป็นลักษณะแบบนี้” เอกลักษณ์ ระบุ
เอกลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในเด็กและเยาวชนที่ตัดสินใจเดินทางไปตามโฆษณาชวนเชื่อหางานออนไลน์ ก็อาจมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้ว่านั่นคืองานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บางคนอาจเล่นการพนันออนไลน์อยู่แล้ว จึงต้องการหาเงินแบบที่เป็นงานสบายรายได้ดี โดยจากทั้งหมด 11 คน มี 9 คน กลับมาประเทศไทยแล้ว อีก 1 คน ติดคุกอยู่ที่กัมพูชาเนื่องจากถูกจับฐานใช้ยาเสพติด และอีก 1 คนสมัครใจทำงานนั้นต่อไป
ในทางกลับกัน ในปี 2567 ที่ผ่านมา ร้อยละ 85 ของเด็กที่หายไปได้รับการติดตามตัวจนพบ โดยแนวทางจะเป็นการสืบสวนเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยว่า “หากผู้ที่หายไปเป็นวัยรุ่น ควรใช้การสืบสวนเป็นหลักก่อน เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประชาสัมพันธ์ภาพเด็กหายที่เป็นวัยรุ่น เมื่อเด็กกลับบ้านแล้วการกลับไปใช้ชีวิตปกติก็จะมีความยากเพราะภาพเด็กหายไปอยู่บนโลกออนไลน์แล้ว” ยกเว้นแต่ไม่เจอจริงๆ หรือประเมินแล้วว่าอาจเข้าข่ายการลักพาตัวและต้องการเบาะแส จึงจะใช้วิธีประชาสัมพันธ์
นอกจากนั้น “สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปร่วมงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีคนพลุกพล่าน” มีข้อแนะนำว่า 1.เตรียมข้อมูลสำหรับติดต่อผู้ปกครอง กรณีเด็กเล็กให้เขียนใส่ไว้ในกระเป๋า หรือก่อนออกเดินทางให้ถ่ายภาพบุตรหลานไว้ เพราะภาพนั้นรูปพรรณสัณฐานมีความเป็นปัจจุบันที่สุด จะได้ง่ายในการให้ข้อมูลเพื่อติดตามตัวหากเกิดการพลัดหลง 2.บอกเด็กถึงจุดสำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น จุดประชาสัมพันธ์หรือศูนย์อำนวยการของงานนั้น เพื่อที่หากเกิดอะไรขึ้นจะได้มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้
และ 3.ฝึกทักษะการขอความช่วยเหลือให้เด็ก เพื่อให้สามารถรับมือได้หากเกิดเหตุที่ไม่ปลอดภัยขึ้น!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี