วันที่ 20 มกราคม 2568 นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอเจด" ถึงหัวข้อ ไขมันพอกตับ คนผอมก็ไม่รอด! ระวังก่อนเป็นมะเร็งตับ
โดยระบุว่า เวลาได้ยินคำว่า “ไขมันพอกตับ” หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องของคนอ้วน หรือคนที่กินแต่อาหารมันๆ เท่านั้น แต่ความจริงคือ คนผอมก็เป็นได้ ใครจะไปคิดว่าไขมันในตับนี่ไม่ได้เลือกน้ำหนักตัวเลย เดี๋ยวเล่าให้ฟัง ว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวกับอะไร ใครเสี่ยงบ้าง และต้องทำยังไงถึงจะเลี่ยงได้นะครับ
1. ไขมันพอกตับคืออะไร? คนผอมทำไมถึงเป็นได้?
ไขมันพอกตับ คือการที่มี ไขมันไปเกาะอยู่ในตับเกิน 5% ของน้ำหนักตับ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์นะ มันมาจากวิถีชีวิตเราล้วนๆ ถ้าปล่อยไว้นานก็อาจทำให้ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือแย่สุดๆ คือกลายเป็นมะเร็งตับได้
ทีนี้เกี่ยวกับคนผอมยังไง ต้องบอกแบบนี้นะว่าไขมันไม่ได้อยู่แค่ใต้ผิวหนัง (แบบที่ทำให้เราดูอ้วน) แต่ยังมี “ไขมันในอวัยวะภายใน” อย่างตับ หรือที่เรียกว่า Visceral Fat เจ้าไขมันพวกนี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ แม้คุณจะผอมก็ตาม
ปัจจัยที่ทำให้คนผอมเป็นไขมันพอกตับ มีอะไรบ้าง?
•กินอาหารไม่ดี โดยเฉพาะของหวานๆ น้ำตาลเยอะ แป้งขัดสี หรือของมันๆ
•ขยับตัวน้อย ซึ่งอันนี้คนสมัยนี้เป็นกันเยอะนะ ถ้าคุณนั่งทำงานทั้งวัน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ก็เสี่ยง
•ดื้อต่ออินซูลิน อินซูลิยเป็นฮอร์โมนที่คอยจัดการระดับน้ำตาล พูดง่ายๆ คือร่างกายเราจัดการน้ำตาลได้ไม่ดี ทำให้มีไขมันสะสมในตับเพิ่ม
2. แบบไหนที่เสี่ยงไขมันพอกตับ แม้จะผอม?
บางคนอาจจะคิดว่า “ฉันผอมอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงหรอก” ก็จริงอยู่ครับ แต่ถ้าคุณมีพฤติกรรมหรืออาการเหล่านี้ อาจต้องเริ่มระวังตัวนะ เพราะเสี่ยงไขมันพอกตับเหมือนกัน
•พุงยื่น ถ้าคุณผอมแต่มีพุง หรือลองวัดรอบเอวแล้วเกิน 90 ซม. (ผู้ชาย) หรือ 80 ซม. (ผู้หญิง) ก็ต้องระวัง
•กินหวานมันแป้งเยอะ อันนี้คือไขมันพอกตับชอบมากนะ ไม่ว่าจะเป็นชานมไข่มุก น้ำอัดลม ขนมหวาน หรืออาหารแปรรูปบ่อยๆ
•ไม่ออกกำลังกาย นั่งทำงานทั้งวัน ไม่มีเวลาขยับตัว หรือไม่ชอบเล่นกีฬา
•น้ำตาลในเลือดสูง: แม้ยังไม่เป็นเบาหวาน แต่ถ้าน้ำตาลเริ่มสูง ก็มีโอกาสเป็นไขมันพอกตับได้
3. ไขมันพอกตับอันตรายแค่ไหน?
ปกติไขมันพอกตับระยะแรกๆ มันจะไม่ค่อยมีอาการอะไร แต่ถ้าปล่อยไปนานๆ มันจะเริ่มทำร้ายตับแบบเงียบๆ และอาจกลายเป็นมะเร็งได้ เช่น
•ตับอักเสบ (NASH) ไขมันที่สะสมทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง
•ตับแข็ง (Cirrhosis)เนื้อเยื่อตับกลายเป็นพังผืด ตับก็เริ่มทำงานได้น้อยลง
•มะเร็งตับ (Hepatocellular Carcinoma): ในเคสที่หนักมาก ไขมันพอกตับอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง
•โรคหัวใจและเบาหวาน ไขมันพอกตับมักมาคู่กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้เสี่ยงเบาหวานและโรคหัวใจตามมา
พูดง่ายๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของตับอย่างเดียว แต่ยังตามโรคอื่นๆมาอีกเพียบโรคอื่นๆ อีกเพียบ
4. จะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็นไขมันพอกตับ?
สิ่งที่น่ากลัวคือ ไขมันพอกตับมักไม่มีอาการในระยะแรก บางคนอาจรู้ตัวอีกทีก็ตอนตรวจสุขภาพ แต่ถ้าคุณอยากเช็กชัวร์ๆ ก็มีวิธีดังนี้
•อัลตราซาวด์ตับ ตรวจง่ายๆ เพื่อดูว่าไขมันเกาะตับหรือเปล่า
•FibroScan เครื่องนี้จะช่วยบอกระดับไขมันและความแข็งของตับ
•ตรวจค่าเอนไซม์ตับ (ALT, AST) ถ้าค่าสูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของตับอักเสบ
•ตรวจเลือด ดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
ถ้าใครมีความเสี่ยงหรือรู้สึกไม่สบายใจ แนะนำให้ไปตรวจเช็กกับหมอเลยก่อนจะเสี่ยงไขมันพอกตับ และมะเร็งตับนะครับ
5. ป้องกันและดูแลไขมันพอกตับยังไงดี?
ไขมันพอกตับสามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมชีวิต
•ลดหวาน ลดแป้งขัดสี หลีกเลี่ยงชานม ขนมปังขาว หรือข้าวขาว เปลี่ยนมากินข้าวกล้อง ธัญพืช และน้ำเปล่าแทน
•เลือกไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ปลาแซลมอน หลีกเลี่ยงของทอดและไขมันทรานส์
•ออกกำลังกาย ออกอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะวิ่ง ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานก็ได้
•ลดความเครียดและพักผ่อนให้พอ ความเครียดทำให้ร่างกายเก็บสะสมไขมันมากขึ้น
•ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยง ควรตรวจเช็คตับปีละครั้ง
•อาหารเสริมปัจจุ
บันยังไม่มียารักษาไขมันพอกตับโดยตรง แต่มีอาหารเสริมที่ช่วยได้ เช่น
• วิตามินอี (Vitamin E):
ลดการอักเสบของตับ แนะนำ 800 IU/วัน แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
• โอเมก้า-3 (Omega-3):
ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด แนะนำ 2-4 กรัมต่อวัน
• โคลีน (Choline):
ช่วยกำจัดไขมันสะสมในตับ พบในไข่แดง เนื้อสัตว์ และถั่วเหลือง
• เบอร์เบอรีน (Berberine):
ช่วยปรับการเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน
• ซิลีมาริน (Silymarin):
สารจาก Milk Thistle ช่วยปกป้องและฟื้นฟูเซลล์ตับ
เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่า “ผอมแล้วรอด” คุณอาจดูรูปร่างปกติ แต่พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตอาจทำให้เกิดไขมันสะสมในตับได้แบบไม่รู้ตัว ดังนั้น อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดี เช็คสุขภาพ และปรับวิถีชีวิตตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่เรื่องเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่นะจ๊ะ ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะครับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี