วันที่ 24 มกราคม 2568 รศ.นพ.มงคล สมพรรัตนพันธ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือ ฝุ่น PM2.5
โดยระบุว่า PM2.5 ขั้นวิกฤต หมอศิริราชแนะนำวิธีการรับมือ
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯรุนแรง น่าเป็นห่วงมาก เกิดผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ รถยนต์ การเผา สภาพอากาศปิด (ลมอ่อนและอากาศไม่ถ่ายเท) ทำให้ฝุ่นสะสมหนักขึ้น ตั้งแต่เช้ามืด จนกระทั่งถึงตอนเช้า ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสูง การออกไปนอกอาคารทำให้รับฝุ่นพิษในปริมาณมากในเวลาอันสั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการของโรคเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามแม้เราจะอยู่ในอาคารอย่างเดียว อาจจะช่วยลดการสัมผัสฝุ่นได้มากกว่านอกบ้านก็จริง แต่ฝุ่นสามารถเล็ดลอดเข้ามาภายในอาคารได้ แม้จะปิดประตู-หน้าต่างหรือเปิดเครื่องปรับอากาศ
ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพ
1. ผลระยะสั้น เช่น อาการภูมิแพ้กำเริบ หลอดลมตีบ โรคหัวใจกำเริบ และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเฉียบพลัน
2. ผลระยะยาว ฝุ่นมลพิษ PM2.5 ไม่เพียงทำให้เกิดภูมิแพ้ แต่ยังส่งผลกระทบต่อหลอดเลือดของ หัวใจ หลอดเลือดสมอง และเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่ปัจจุบันพบในคนอายุน้อยลงมากขึ้น
ไม่เพียงแค่ฝุ่น PM2.5 เท่านั้น มลพิษจากการเผาไหม้ยังปล่อย ก๊าซพิษ เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเครื่องฟอกอากาศหรือหน้ากากทั่วไปอาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด
คำแนะนำเพื่อลดพิษฝุ่นในชีวิตประจำวัน
1. อยู่ภายในบ้าน ออกนอกบ้านให้น้อยสุด
- ปิดหน้าต่าง ลดการเผาไหม้ในบ้าน/จุดธูป
- เปิดเครื่องฟอกอากาศชนิด HEPA filter ทุกคืน
- งดออกกำลังหรืออยู่นอกอาคารเป็นเวลานาน
- การมีระบบติดตั้งเครื่องความดันบวก มีประโยชน์
2. ถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้าน
- สวมหน้ากากที่แนบสนิทกับใบหน้า รุ่นกันฝุ่น เช่น N95 หรือรุ่นที่เทียบเท่า
- รองลงมา (แต่ดีกว่าไม่ใส่เลย) คือ สวมหน้ากากอนามัยที่แนบสนิท หรืออาจใช้ 2 ชั้นที่ปิดรอยรั่วของกันและกัน เช่น หน้ากากผ้า + หน้ากากอนามัย แต่ควรกลับเข้าอาคารเป็นระยะ
3. อาการผิดปกติที่ท่านอาจจะเจอได้
มลพิษทางอากาศสามารถผ่านทะลุเยื่อบุผิวตามส่วนอวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ตา ทางเดินหายใจ ผิวหนัง ดังนั้นอวัยวะที่สัมผัสกับฝุ่นก่อนมักจะแสดงอาการให้เห็นความผิดปกติก่อน ส่วนอวัยวะภายในก็เป็นสิ่งที่ตามมาและบ่งถึงการ รับเอาฝุ่นมลพิษเข้าสู่ร่างกายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
4. อาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
- อาการเร่งด่วน: แน่นอก หอบ หายใจเสียงวี๊ด ไอปนเลือด ซึม หมดสติ
- อาการที่ไม่ด่วนแต่ควรนัดหมายพบแพทย์: น้ำมูก คัดจมูกมาก จาม คันตา ผื่น คัน ฯลฯ
- ท่านที่มีโรคประจำตัวช่วงนี้ควรกินยาและใช้ยาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง บางรายหากแพทย์มีคำแนะนำให้ปรับยาเพิ่มก็ควรกินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี