“แม้แต่หน้าแอปพลิเคชั่นเอง เหมือนเวลาเรารับออเดอร์ซ้อนมา 3 ออเดอร์ ถ้ารับออเดอร์แรกเสร็จ หน้าแอปฯ จะขึ้นว่าไรเดอร์กำลังเอาอาหารไปส่งคุณ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเรากำลังไปงานที่ 2 ทำให้ลูกค้าเขาไม่เข้าใจ ถามว่าไปอยู่ไหนมาเพราะบอกตั้งแต่ชั่วโมงที่แล้วว่ากำลังจะมา ไปหลงอยู่ตรงไหน พออธิบายว่ารับงานพ่วงก็ถามว่าจะรับทำไมงานพ่วง ซึ่งเขาไม่เข้าใจเขานึกว่าไรเดอร์เลือกรับได้ แต่จริงๆ เวลาแพลตฟอร์มมันยิงมามันมาทีเดียวเลย 3 งาน ถ้าเราไม่รับเท่ากับว่าเราพลาด3 งานนั้นไปเลย”
ธัญญ์นรี จารุประสิทธิ์ ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ จังหวัดกระบี่ กล่าวในเวทีสาธารณะ “เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพเฉพาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพด้วยพาหนะสองล้อ” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กร เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งสิ่งที่ชาวไรเดอร์ต้องเจอแบบ “ทั้งขึ้นทั้งล่อง” เมื่อแพลตฟอร์มกำหนดให้ต้องกดรับงานพ่วง
โดยหากไม่รับหรือพลาดงานไปเปอร์เซ็นต์ในการรับงานก็จะลด ทำให้โอกาสได้งานในครั้งต่อไปก็จะน้อยลง แต่หากรับแล้วไปส่งช้าก็จะถูกลูกค้าที่ไม่เข้าใจต่อว่า เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดหรือแม้แต่แพลตฟอร์มที่อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ นอกจากนั้น“ค่ารอบของไรเดอร์ก็น้อยเมื่อเทียบกับระยะทาง” เช่นที่ จ.กระบี่ น่าจะน้อยที่สุดในประเทศไทยแล้ว เช่น วิ่ง 3 งาน 30 บาท ทั้งที่ระยะทางไกล 10-20 กิโลเมตร
ขณะที่ เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเคยเจอสมาชิกในวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา คือนั่งอยู่ดีๆ ก็น็อกไปเลย พวกตนที่นั่งอยู่ในวินพยายามช่วยกันปั๊มหัวใจแต่ก็ไม่สามารถช่วยไว้ได้ หรือบางคนพักผ่อนน้อย แม้คนในวินด้วยกันจะเตือนแต่กลับถูกย้อนถามว่าแล้วจะช่วยค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้หรือไม่ สุดท้ายก็เสียชีวิตเพราะขี่มอเตอร์ไซค์แล้วเกิดหลับในไปชนท้ายรถประจำทาง
“ปัญหาสุขภาพทางจิตใจ ที่ผ่านมาวินเราเคยมีรายได้ แต่พอมีการแข่งขันทางบริษัทแพลตฟอร์มเข้ามา มันทำให้เรารู้สึกว่าขัดแย้งกัน ในใจผมไม่ได้ขัดแย้ง แต่คนที่อยู่ตรงกลางยังไม่ได้แก้ไขปัญหานี้ แต่วันนี้เราต้องขอบคุณทาง สสส. นะที่สามารถสนับสนุนให้เรามีแพลตฟอร์มเป็นของตนเองโดยไม่เอาเปรียบผู้ขับขี่ ตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็น่าจะทำให้เราเสร็จแล้ว อันนี้สิ่งสำคัญ ไรเดอร์ก็เหมือนกัน ถ้าได้แพลตฟอร์มเป็นของไรเดอร์เอง ไม่ต้องพึ่งพาเอกชน” เฉลิม กล่าว
นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย ยังกล่าวถึงการความยากเข้าถึงอาชีพอิสระอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่เป็นช่องทางหาเลี้ยงชีพของประชากรกลุ่มชายขอบ อย่างตนเคยเสนอต่อทางการว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นทะเบียนคนประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้น แต่ติดเงื่อนไขต้องไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และโดยเฉพาะต้องหาเงินประกัน 2 แสนบาท มาวางซึ่งคำถามคือจะไปหาจากที่ไหน เมื่อกฎระเบียบทำให้คนทำงานอิสระเข้าไม่ถึง สุดท้ายเขาก็เป็นคนผิด
สอดคล้องกับ อนวัช จันทร์หงษ์ นักวิจัยโครงการ Healthy Rider ที่ระบุว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ค่ารอบของไรเดอร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงื่อนไขการทำงานก็น่ากังวลและส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ กล่าวคือ เมื่อค่ารอบลดลง ไรเดอร์ต้องใช้เวลาไปกับทำงานยาวนานขึ้นและหนักขึ้น นำไปสู่ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ขณะที่ทั้งไรเดอร์และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่ถูกนับเป็นแรงงานในนิยามของกฎหมายไทย จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ทั้งที่มีความเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บจากการทำงาน
“แรงงานกลุ่มนี้ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดด้วยตัวเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไม่ค่อยดีเท่าไร จึงนำมาสู่การทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้ ทางหนึ่งคือการผลักดันชุดสิทธิ
ประโยชน์ผ่าน สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งตัวเลขจากการใช้สิทธิ์สวัสดิการสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ พบว่าราว 70% ของแรงงานกลุ่มนี้ใช้สิทธิ์ 30 บาท เราก็คิดว่าการผลักดันผ่านช่องทางนี้ น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง” อนวัช ระบุ
เรื่องของภาวะการเจ็บป่วยของชาววินและไรเดอร์ พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ ผู้รับผิดชอบโครงการ Healthy Rider ยกตัวอย่าง ข้อมูลจากการตรวจสุขภาพของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและไรเดอร์ ที่ไปใช้บริการตรวจสุขภาพตามโครงการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างไรเดอร์กว่า 700 คน และมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกกว่า 2,000 คน เมื่อปี 2567 พบประเด็นน่าเป็นห่วง ดังนี้
1.ภาวะอ้วนลงพุง โดยร้อยละ 53 พบระดับดัชนีมวลกาย (BMI) เข้าข่ายอ้วน ขณะที่ไขมันในช่องท้อง กว่า 3 ใน 4 มีปัญหาไขมันแทรกตับ แบ่งเป็นระดับเล็กน้อยร้อยละ 34 ระดับอันตราย ร้อยละ 23 และระดับอันตรายมากร้อยละ 21 2.สุขภาพปอด พบกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 22.4สมรรถภาพปอดผิดปกติ 3.สมรรถภาพการได้ยิน พบร้อยละ 63.4 ผิดปกติ
4.สุขภาพตา พบเกือบ 2 ใน 5 หรือร้อยละ 38 มีอาการของต้อลมหรือต้อเนื้อ และ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 มีปัญหาเรื่องการมองระยะไกล ซึ่งเกิดจากการขี่มอเตอร์ไซค์โต้ลมและฝุ่นเป็นเวลานาน 5.อาการปวดเมื่อยล้า จากการต้องใช้ชีวิตบนมอเตอร์ไซค์อย่างยาวนาน ส่งผลต่อความยืดหยุ่นและเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ และ 6.สุขภาพจิต เช่น ความเครียด ซึมเศร้า พบร้อยละ 44 หรือเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพจิตแย่กว่าคนทั่วไป
ผศ.พญ.ภาณินี จารุศรีพันฎ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านหู ราชวิทยาลัยโสต คอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเสี่ยงทางสุขภาพของแรงงาน 2 ล้อทั้ง 2 กลุ่ม คือการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ได้ยินเสียงดังอยู่ตลอดเวลา เช่น เสียงท่อไอเสียยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นจากรถของตนเองในกรณีไปแต่งให้ท่อดังเพื่อความสะใจ หรือแม้แต่รถของตนเองไม่ได้แต่งท่อ ก็ยังต้องได้ยินเสียงจากรถของคนอื่นๆ บนท้องถนนที่แต่งอยู่ดี
ซึ่งโดยปกติแล้ว เสียงท่อรถมอเตอร์ไซค์ทั่วๆ ไป จะดังประมาณ 80-85 เดซิเบล และตามหลักก็ไม่ควรอยู่บนท้องถนนที่มีเสียงดังของรถเป็นจำนวนมากนานเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และอันตรายจะเพิ่มขึ้นหากเป็นการแต่งท่อให้มีเสียงดังกว่านี้ แต่เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ทั้งสังคมต้องช่วยกันลดเสียงเพราะเป็นภัยเงียบที่อยู่รอบตัวเรา หรือการเกิดอุบัติเหตุรถชน-รถล้มศีรษะกระแทกอย่างรุนแรงจนหมดสติ ฟื้นขึ้นมาก็อาจสูญเสียการได้ยินได้ ซึ่งก็ยังดีที่ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดให้การขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ
“การที่เราใส่หูฟัง เราอาจจะรู้สึกว่าฉันเปิดไม่ได้ดังเลยนะ แต่พอไม่ได้ยินลูกค้าเราก็เร่งเสียงดังมากขึ้น มันเนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่ดังขึ้น เราใส่หูฟังก็ต้องเปิดให้มันชนะเสียงสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งดังขึ้นไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราได้ยินเสียงดังโดยที่ไม่รู้ตัว ก็ทำให้เราสูญเสียการได้ยินได้” ผศ.พญ.ภาณินี เตือนไรเดอร์ที่ต้องใส่หูฟังสื่อสารกับลูกค้า
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านปอด กรรมการคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์นิทรรักษ์ศิริราช กล่าวว่า คนเราหายใจนำอากาศเข้าร่างกายปีละ 2.6 ล้านลิตร หากนับจากวัยทำงาน อายุ 20 ปี ไปจนถึงวัยหลังเกษียณ ราวอายุ 70 ปี หรือรวมเวลาทั้งหมด 50 ปี เราจะหายใจนำอากาศเข้าร่างกาย 130 ล้านลิตร ซึ่งหากเป็นอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เช่น ฝุ่น PM2.5 ดังนั้น ไรเดอร์ที่ทำงานเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อวัน ก็ต้องสูดดมอากาศแบบนี้ ผลคือไม่ต่างอะไรกับการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าทั้งวัน
“อาชีพของผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง คือไรเดอร์และขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างทั้งหลาย ก็จะเสี่ยงต่อการสูดเอามลพิษทางอากาศ มีทั้งควันไอเสียจากรถยนต์ ที่รู้จักกันคือ PM2.5 แต่จริงๆ มันมีมากกว่านั้น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แม้แต่โฮโซนที่เราคิดว่าไปสูดโอโซนบริสุทธิ์ จริงๆ โอโซนบนพื้นโลกในระดับที่มากเกินไป พิษของมันไม่ต่างจาก PM2.5” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว
รศ.ดร.อุสา สุทธิสาคร นักวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง “ความตระหนักรู้ว่าตนเองมีสิทธิด้านสุขภาพอะไรบ้าง” ว่า จากที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พบว่า แม้ กทม. จะเปิดโครงการให้ไปตรวจสุขภาพ แต่คนที่ไปตรวจจริงๆ พบว่ามีน้อยมาก เนื่องจากความที่มีรายได้เป็นรายวัน หลายคนจึงลังเลไม่ได้ตรวจเพราะการหยุดงานก็เท่ากับขาดรายได้ ซึ่งในกลุ่มไรเดอร์ก็น่าจะคล้ายกัน
“คือตอนนี้มันยังไม่ป่วยไม่เจ็บ มันยังทำงานได้ก็เอาเงิน เพราะมันต้องมีรายได้เป็นรายวัน อันนี้มันเป็นสิ่งที่บีบจะไปตรวจทำไมเสียเวลา ป่วยก็ไม่ไปหาหมอ บัตรทอง30 บาทมี ไปหาหมอก็ไม่ไป ครึ่งวันรายได้หายไปเยอะ ก็ซื้อยากินเองหายเหมือนกัน นี่คือวิถีที่เราต้องกระตุ้นให้เกิดการตระหนักเรื่องสุขภาพของผู้ที่มีสิทธิ์ แล้วก็ต้องให้เขาตระหนักด้วย” รศ.ดร.อุสา กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี