วันที่ 16 มกราคมของทุกปี ได้รับการกำหนดให้เป็น “วันครูแห่งชาติ” เพื่อให้ลูกศิษย์ได้น้อมรำลึกถึงพระคุณของครู ผู้ที่ได้ให้การถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดีของสังคม
หนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับวันครูอย่างสม่ำเสมอ คือ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น-อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ โดยในปีนี้ก็ได้จัดงาน “รำลึกพระคุณครู”เนื่องในโอกาสวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2568 เช่นที่ผ่านมาเสมอ ซึ่งเป็นการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 17 พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “เชิดชูครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง”เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของความเป็นครู
ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” และนิทรรศการ กล้าเปลี่ยน...กระดานบอร์ด ให้กล้าแสดงออก โดยสามารถเขียนข้อความแสดง
ความคิดเห็น ในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน,กล้าเปลี่ยน...กระดานดำ ให้เรียนสนุก ที่โชว์การเรียนการสอนสนุกๆ ในวิชาต่างๆ และ กล้าเปลี่ยน...ห้องเรียน ให้นอกกรอบ จำลองห้องเรียนเพื่อให้รับรู้ถึงการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน
นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา จึงได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมขึ้นมา 2 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) รวมถึงศูนย์การเรียนรู้ปัญญาภิวัฒน์อีกกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง คนดี มีความสามารถ
พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการสานต่อมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมากกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เพราะ “ครู”คือ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ผู้สร้างอนาคตของชาติโดยการนำเสนอเรื่องราวเพื่อเชิดชูจิตวิญญาณความเป็นครูผ่านภาพยนตร์ส่งเสริมสังคม เพื่อระลึกถึงพระคุณครูผู้ที่ให้ความรู้และพัฒนาเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณภาพ มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 17 ปี
จีรภัทร์ สุกางโฮง
รศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา อาจารย์พิเศษประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักแสดงผู้สวมบทคุณครูในภาพยนตร์โฆษณา กล่าวว่า การได้มาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์โฆษณาครั้งนี้ รู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสได้นำบทบาทของครูในชีวิตจริงมาร่วมถ่ายทอดอาชีพความเป็นครูที่ต้องเปลี่ยนแปลงแนวคิด การเรียนการสอน เพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ทั้งความรู้ ความสนใจของนักศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีการอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากตำราเรียน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่แอปพลิเคชั่น ที่มีการพัฒนาให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา
“การจะสอนให้ผู้เรียนมีความสุขนั้น ต้องเริ่มที่ความสุขของครูก่อน ครูต้องรู้สึกก่อนว่า วันนี้ฉันจะอยากสร้างความสุขอะไรบ้าง แล้วก็ไปจับมันกับรายวิชาที่ต้องสอน แล้วเราก็รู้ว่า เนื้อหาบางทีมันยาก เราก็ปรับว่า เราพูดแบบไหนแล้วเด็กมีความสุข สิ่งหนึ่งที่เราจะทำให้ผู้เรียนมีความสุขคือ เราต้องไม่ไปตัดสินว่าเขาถูกหรือเขาผิด เวลาที่เขาตอบอาจจะไม่ตรงกับที่เราอยากได้ เราจะถามว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น แล้วเขาอธิบาย ก็จะทำให้เราสองคนเกิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนกัน นั่นคือความสุขและความสนุกร่วมกัน เพราะเราไม่ตัดสินว่า มันผิดหรือมันถูก ตราบเท่าที่เขาหาเหตุผลรองรับสิ่งที่เขากำลังจะเสนอ เรารับได้หมดเลย แล้วเขาก็จะมีความสุข เพราะว่า วันนี้เขาสามารถขายไอเดียตรงนั้นได้ แล้วเราปรับไอเดียของเขานิดๆ หน่อยๆ เขาจะรู้สึกว่า สิ่งนี้มันเป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา” รศ.ดร.นันทพร กล่าว
ครูนกเล็ก-จีรภัทร์ สุกางโฮง ครูสอนระดับชั้นประถมศึกษา และ แม่พิมพ์ยูทูบเบอร์ ที่มีผู้ติดตามกว่า 9.92 ล้านคน กล่าวว่า ด้วยความเป็นครูประถมจะสอนหลายวิชา ทั้งภาษาไทย, วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ จึงหาวิธีในการทำคอนเทนต์สื่อการเรียนการสอน เพื่ออยากให้นักเรียนแอคทีฟ สนุกและอยากที่จะเรียนต่อเรื่อยๆ จึงหาวิธีต่างๆ เข้ามาช่วยในการสื่อสาร นำดนตรีมาประยุกต์ใส่ความสนุกเข้าไป ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมกับสิ่งที่เราสอน มีการโต้ตอบในชั้นเรียน หลังจากนั้นก็เริ่มทำเป็นสื่อการเรียนการสอนแบบง่ายๆ แล้วก็พัฒนามาทำเป็นละครสั้นโดยให้นักเรียนเสดง แล้วครูเป็นคนเล่าเรื่องและพากย์เสียง ทำเป็นแผ่นซีดี จนกระทั่งมี YouTube ก็ได้ทำคอนเทนต์หลากหลายเพิ่มขึ้น ใส่ทำนองให้เป็นเพลง หรือทำเป็นเกม ให้มีความสนุกมากขึ้น รวมถึงวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ เช่น การเกษตร งานบ้าน งานประดิษฐ์ ที่เด็กๆ ต้องรู้จักและใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
รศ.ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา
ในการทำคอนเทนต์นั้นเราต้องรู้จักสังเกตว่าเด็กสนใจอะไร ชอบอะไร แล้วก็นำมาดัดแปลง แต่งเติมเพิ่มเนื้อหาเข้าไป ให้เหมาะสม
“การที่มีผู้ติดตามในยูทูบเป็นจำนวนมาก ความจริงไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรเลย เพียงแค่ว่าเรารักในสิ่งที่จะทำ พอเรารักในสิ่งที่จะทำ เราก็จะทำออกมาด้วยความสุข และสิ่งที่เราถ่ายทอดออกไป คิดว่าทุกคนสัมผัสได้ว่าเราสื่อออกไปด้วยความสุข” ครูนกเล็ก กล่าว
เมื่อถามว่า ในระหว่างที่พยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง เคยมีเสียงคัดค้าน ตำหนิ จนทำให้เราไม่อยากไปต่อหรือไม่ ครูนกเล็กตอบว่า มีเข้ามาตั้งแต่ในช่วงแรกเลย เพราะแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีคลื่นแน่นอน เป็นสิ่งที่ทุกคนมักจะตั้งแง่อยู่แล้ว แต่เราก็มีคำตอบในใจของเราอยู่แล้ว ว่าเราทำไปเพื่ออะไร แล้วทำทำไม อันนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราฝ่ากำแพงออกไปได้
นายอภิภูมิ ชื่นชมภู นิสิตสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศิษย์เก่ารุ่นที่ 1 โรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(PIM) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาในกลุ่มซีพี ออลล์ ว่า ตนได้มีโอกาสเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ชั้น ม.1 การได้มาเรียนที่นี่ทำให้ค้นพบศักยภาพในตัวเอง และได้รับแรงบันดาลใจจากครูอาจารย์ การเรียนที่นี่ไม่จำกัดแค่ในห้องเรียน แต่ยังเปิดโอกาสให้เราได้ไปดูงานที่บริษัทต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้เห็น
โลกกว้าง เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ และยังมีเวทีการแข่งขันที่ช่วยให้เราได้แสดงศักยภาพของตัวเอง และฝึกฝนการนำเสนอ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทักษะต่างๆ อีกด้วย
อภิภูมิ ชื่นชมพู
ที่สำคัญคือที่นี่เราสามารถเลือกเสริมสิ่งที่สนใจได้เอง และได้รับการสนับสนุนจากครูอาจารย์ ทีมผู้บริหาร และวิทยากรผู้มีประสบการณ์ รวมถึงการมีครอบครัวที่ช่วยผลักดันผมอย่างเต็มที่ จนทำให้ผมสามารถคว้ารางวัลทั้งในประเทศและระดับโลก เช่น รางวัลพระราชทานจากกระทรวงศึกษาธิการ, เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ด้านการศึกษา วิชาการ และนวัตกรรม, รางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (NSC) ประจำปีการศึกษา 2564 รวมถึงรางวัลจากการแข่งขัน Swift Student Challenge ของ Apple ถึง 3 ครั้ง เป็นต้น
“ตอนที่ผมเป็นนักเรียนผมมีความสุขกับการเรียนในห้องเรียนมาก เพราะคุณครูสอนแบบสนุกสนาน พอเรามาเป็นคุณครูบ้างก็ต้องมาเตรียมการเรียนการสอนให้ดีเช่นกัน คุณครูพยายามเต็มที่ที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในศาสตร์นั้น ผมรู้สึกว่าการที่เราได้เป็นทั้งนักเรียนในสมัยก่อน และตอนนี้ก็ยังเป็นนิสิตอยู่ แล้วได้เป็นทั้งอาจารย์ที่สอนไปด้วย คิดว่าสองอย่างนี้ไปกันได้อย่างมาก เพราะว่าการที่ผมได้สอนนั้น ระหว่างทางผมก็ได้เป็นนักเรียนด้วย ได้เรียนกับอาจารย์ไปด้วย และพอถึงปลายทางที่ว่าเราเก่งในเรื่องนี้แล้ว เราได้ไปสอน มันไปกันได้อย่างน่าประหลาดใจ เราเรียนเสร็จปั๊บ ได้ไปสอนต่อ ตอนที่สอนมันได้ทบทวนตัวเองด้วยว่าสิ่งที่เราเรียนมาสามารถทำอะไรได้เยอะแยะเลย” นายอภิภูมิ กล่าว
นายอภิภูมิกล่าวว่า ตนได้นำความรู้และประสบการณ์มาฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในชีวิต อยากให้การศึกษาของไทยกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากตำราเรียน ให้พวกเขาได้เห็นและสัมผัสประสบการณ์จริง และสนับสนุนในสิ่งที่เด็กสนใจและหลงใหล เชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถทำได้ดีและเป็นใครก็ได้ที่พวกเขาต้องการ ถ้ามีแรงผลักดันและความใฝ่รู้ การเปิดโอกาสให้พวกเขาก้าวข้ามขีดจำกัดจะเป็นประตูแห่งโอกาสที่ช่วยให้พวกเขานำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวออกมาได้เต็มที่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี