โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งท้องถิ่น คือ ศึกชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายกอบจ.) สมาชิกสภาจังหวัด(สจ.) ในหลายจังหวัด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ กำลังเข้มข้นด้วยการลงพื้นที่หาเสียงของผู้สมัครทั้งจากพรรคการเมือง กลุ่มบ้านใหญ่ และผู้สมัครอิสระ ที่ต่างก็ระดมคนดัง อดีตนักการเมือง และบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนมาช่วยเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ยิ่งทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคัก และดุเดือดเสมือนการจำลองสนามเลือกตั้งระดับชาติในแบบย่อมๆ
ดูแล้วอาจจะมีใบเหลือง ใบแดงตามมาภายหลัง
แม้การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนและมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยตรง แต่กลับพบว่าในหลายครั้งหลายจังหวัดผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ค่อยออกมาใช้สิทธิ์ จำนวนผู้ไปลงคะแนนเสียงในบางพื้นที่ไม่ถึง 50% สาเหตุหนึ่งมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ หรือเมืองศูนย์กลางต่างๆ ทำให้ความผูกพันกับบ้านเกิดลดลง
อบจ. เป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาจังหวัด โดยมีหน้าที่หลักในการดูแลและพัฒนาพื้นที่ในระดับจังหวัดรับผิดชอบด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างรอบด้าน จัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนน โรงพยาบาล การส่งเสริมการศึกษา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ ด้วยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและขอบเขตพื้นที่ดูแลที่กว้างขวาง การบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกด้าน
แหล่งรายได้หลักของ อบจ. ประกอบด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล รายได้จากการจัดเก็บภาษี รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีอากร อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ อบจ. คือการขยายตัวของบุหรี่เถื่อนซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้จากภาษีบุหรี่ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของ อบจ. ข้อมูลจากอุตสาหกรรม ล่าสุดระบุว่า บุหรี่เถื่อนครองส่วนแบ่งตลาดถึง 25% หรือเท่ากับ 1 ใน 4 ของบุหรี่ที่ขายในตลาดประเทศไทยเป็นบุหรี่เถื่อน
ในแต่ละปี อบจ. มีรายได้ภาษีจากบุหรี่ถูกกฎหมายที่ขายได้ในจังหวัด ซึ่งกำหนดเพดานที่ 1.86 บาทต่อซอง รวมทั้งภาษีมหาดไทยอีก 10% จากภาษีสรรพสามิต หรือประมาณซองละ 4 บาท (คิดจากราคาบุหรี่ราคาประมาณ 70 บาท) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยนำมาจัดสรรให้ท้องถิ่น จากสัดส่วนบุหรี่เถื่อน 25% ประมาณการได้ว่าอบจ. ทั่วประเทศกำลังสูญเสียรายได้ภาษี 2 ก้อนนี้ไปกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมถึงกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่ปัญหาบุหรี่เถื่อนมีความรุนแรงต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปี อาทิ สงขลา ภูเก็ต สตูล พัทลุง นครศรีธรรมราช รวมไปถึงจังหวัดที่กำลังมีการขยายตัวของบุหรี่เถื่อนในอัตราสูง เช่น เชียงราย นครราชสีมา หนองคาย นครสวรรค์ และปริมณฑล
การเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้จึงไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้งธรรมดา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น เป็นวันที่ประชาชนจะมีอำนาจในการเลือกตัวแทนที่มีความสามารถ และไว้วางใจได้ในการนำพาท้องถิ่นของพวกเขาให้เข้มแข็งและพัฒนาไปข้างหน้าได้
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับผู้สมัคร อบจ. ที่จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน อุดรูรั่วของรายได้เพื่อให้การจัดเก็บและการใช้งบประมาณท้องถิ่นเกิดประโยชน์สูงสุด หากปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรัง สุดท้าย เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามา อาจไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินนโยบายหรือทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี