“จริงๆ มูลนิธิฯ ทำงานเรื่องส่งเสริมสื่อมวลชนเพื่อเด็กมาตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีสื่อออนไลน์เหมือนสมัยนี้การหลอมรวมสื่อยังไม่มีเหมือนปัจจุบัน สมัยก่อนก็จะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อะไรต่างๆ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนตก็มาในช่วงหลังๆ ดังนั้นบทบาทของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กก็มองว่าจริงๆ แล้วบทบาทของสื่อ ส่วนหนึ่งก็มีความสำคัญกับการพัฒนาเด็ก ถ้าใช้ในทางที่ดี มีประโยชน์ เรียกว่าใช้ในเชิงบวกไม่ไปกระทบกับกลุ่มเด็ก-เยาวชนมากนัก”
เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวในการบรรยาย (ออนไลน์) หัวข้อ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กกับการคุ้มครองเด็กมิติการใช้สื่อ” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งมูลนิธิฯ ก่อตั้งมาแล้ว 43 ปี ทำงานด้านช่วยเหลือและพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ ภาวะทุพโภชนาการ แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงผลกระทบจากสื่อต่อเด็ก
เมื่อดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่เป็นยุคสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีการใช้เพื่อการเรียนการสอน สำหรับเด็กเล็กอายุ 2-5 ขวบ ตามหลักแล้วไม่ควรปล่อยให้อยู่กับหน้าจอเกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนอายุ 6-17 ปี ไม่ควรเกิน2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในความเป็นจริงจะเห็นเด็กตั้งแต่ 1 ขวบครึ่งจนถึง 5 ขวบอยู่หน้าจอนาน 8-10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และผู้ปกครองมักจะให้สื่อเหล่านี้ เช่น โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แท็บเลต กับบุตรหลาน
หนึ่งในตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง คือเมื่อไปร้านอาหาร พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะยื่นโทรศัพท์ให้กับบุตรหลาน เพื่อไม่ให้เด็กรบกวนเวลาที่ผู้ใหญ่กำลังรับประทานอาหาร แต่การปล่อยให้เด็กอยู่กับสื่อเหล่านี้ บางครั้งผู้ปกครองก็ไม่ทันสังเกตสิ่งแปลกปลอมที่ปะปนเข้ามา ขณะที่ “ผลกระทบ” หากเป็นกรณีของ “เด็กเล็ก” จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การนอนหลับ โรคอ้วนจากพฤติกรรมใช้สื่อไปก็หาอะไรกินไปด้วย หรือหากเป็นกรณี“เด็กโต” หรือวัยรุ่น จะมีปัญหาซึมเศร้า เป็นต้น
“เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา ในงานวิจัยของอเมริกาได้วิจัยถึงสื่อ 600 กว่าชิ้น ที่เกี่ยวกับความรุนแรงและผลกระทบกับเด็ก เด็กที่เสพสื่อความรุนแรงจะมีปัญหา 3 ประการตามมา ทั้งในเรื่องของการมีทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น หรือว่าการต่อต้านสังคม อันที่ 2 คือการเพิกเฉยหรือยอมรับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา อันที่ 3 คือการเครียดหรือหวาดวิตกต่อการถูกทำร้าย งานวิจัยก็ยังพบอีกว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากสื่อมากเป็นพิเศษ ก็คือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้อยู่แล้ว
ตลอดจนเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากครอบครัว มีปัญหาในครอบครัว ก็จะมีโอกาสสูง เราจะสังเกตเห็นง่ายๆ ในชุมชนแออัดหรือในครอบครัวที่มีการกินเหล้า-เสพยา มีการใช้ความรุนแรงก็คือถ้าเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เด็กก็จะซึมซับความรุนแรงอยู่แล้ว และมีโอกาสสูงที่เด็กจะเป็นซึมเศร้าและลอกเลียนความรุนแรงที่เห็นในชีวิตประจำวัน” ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ระบุ
ยังมีงานวิจัยที่ตรวจสอบโฆษณากว่า 2 หมื่นชิ้นต่อปี ซึ่งรวมถึงอาหารหรือขนมที่ไม่เป็นประโยชน์ โดยสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาจะคล้ายกับในประเทศไทย ที่โฆษณามีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคสิ่งเหล่านี้ของเด็ก ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐฯ อย่าง แคนาดา พบเด็กที่ดูโฆษณาเบียร์ 1-2 พันชิ้น โดยโฆษณานั้นสร้างภาพว่าการดื่มเบียร์เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชาย ส่วนในออสเตรเลีย อาหาร 18 จาก 22 ประเภทที่เด็กเลือกบริโภค มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความถี่ของการดูโฆษณา
เชษฐา เล่าต่อไปว่า ตั้งแต่ยุคสื่อโทรทัศน์มาจนถึงสื่อใหม่ในปัจจุบัน สภาพปัญหาจะคล้ายๆ กัน คือการลอกเลียนแบบพฤติกรรม ทั้งความรุนแรงและการซื้อสินค้าจากโฆษณาชวนเชื่อ อย่างไรก็ตาม “ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะลดเวลาการอยู่กับหน้าจอของเด็ก” โดยเฉพาะปัจจัยจาก “ทัศนคติของผู้ปกครอง”ซึ่งการทำงานในยุคแรกๆ ของมูลนิธิฯ คือการไปให้ความรู้ถึงทผลกระทบเชิงลบจากสื่อ พร้อมไปกับการส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมในการผลิตสื่อเชิงบวก
ยุคต่อมา เหตุการณ์สำคัญคือในปี 2549 ที่มี “ยุทธศาสตร์สื่อ”ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เช่น การเฝ้าระวังสื่อร้าย-ขยายสื่อดี การขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จนออกมาเป็นกฎหมาย การสร้างเครือข่ายสื่อเด็กและเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ การขับเคลื่อนหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อในสถานศึกษาระดับต่างๆ
“สมัยก่อนก็มองว่าถ้าทุนไม่สูง ทุนผูกขาดก็คือคนที่มีเงินเยอะสามารถที่จะผลิตสื่อได้ คนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถผลิตสื่อได้ เราก็มองว่ามันต้องมีกฎหมายหรือมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้สังคมไทยได้เข้าถึงและได้ไปใช้ประโยชน์กับกองทุนสื่อนี้ขึ้นมา อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่องค์กรได้เข้าไปขับเคลื่อนกับเครือข่าย ก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรที่มี พ.ร.บ.ตัวนี้ขึ้นมาก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอีกส่วนหนึ่ง” เชษฐา เล่าถึงการขับเคลื่อน พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์(ซึ่งออกมาเป็นกฎหมายในปี 2558)
สำหรับความท้าทายในปัจจุบัน “การหลอมรวมสื่อทำให้ตามทันได้ยาก” จะเห็นตัวแปรและปัญหาใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มิจฉาชีพออนไลน์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) การพนันออนไลน์ ซึ่งหากตัวเด็กเองตลอดจนองคาพยพต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก (ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา) ไม่มีภูมิคุ้มกัน เด็กก็จะไหลไปตามกระแสของสื่อเหล่านั้น และกลายเป็นปัญหาอื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น วัยรุ่นเยาวชนต้องการหาเงิน หลงไปกับการพนันออนไลน์ แต่ยิ่งเล่นก็ยิ่งเสีย นำไปสู่พฤติกรรมลักขโมยทรัพย์สิน หรือเสียมากๆ ก็ซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย
ทั้งนี้ ในการทำงานของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มองเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก ไล่ตั้งแต่สิทธิการมีชีวิตรอด สิทธิเรื่องการคุ้มครองและการดูแลปกป้อง สิทธิในการพัฒนาและการมีส่วนร่วม อนึ่ง “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” มีแนวคิดเกี่ยวกับสื่อ เช่น ในข้อ 12 กล่าวถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น (แต่ต้องไม่ไปละเมิดบุคคลอื่น) ส่วนข้อ 13 กล่าวถึงสิทธิในการแสดงออกและการเข้าถึงสื่อ หรือข้อ 16 ว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะเห็นว่าระยะหลังๆ สื่อมวลชนระมัดระวังมากขึ้นเรื่องการเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน อาทิ การเปิดเผยชื่อและใบหน้า
“ส่วนหนึ่งก็มาจากการเรียกร้องของเครือข่ายที่เราทำงานร่วมกันด้วย และส่วนหนึ่งสื่อมวลชนเองก็มีองค์กรคอยควบคุมดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน ก็ถือเป็นความก้าวหน้าที่ดีที่การเผยแพร่เรื่องของสิทธิเด็ก การไม่ละเมิดสื่อ สังคมวงกว้างเริ่มให้ความสำคัญค่อนข้างมาก อันนี้ก็เป็นภาพในสิ่งที่ดี” เชษฐา กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี