หมายเหตุ : บทความนี้เดิมชื่อ “เตือนภัยนักลงทุน : โลกร้อนกระทบเงินปันผล บริษัทแห่กันชะลอจ่าย รับความไม่แน่นอน” เขียนโดยคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin School of Management) ประกอบด้วย รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส ศ.ดร.ภรศิษฐ์ จิราภรณ์ และ ดร.สรวงรัตน์ ปภังกร
ปรากฏการณ์โลกร้อนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรม ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆ
ท่ามกลางความท้าทายนี้บริษัทจดทะเบียนทั่วโลกกำลังทยอยปรับลดการจ่ายเงินปันผลลง เพื่อสำรองเงินสดไว้รับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่นเดียวกับครัวเรือนที่ต้องเก็บเงินไว้ซ่อมแซมบ้านหลังประสบภัย ธุรกิจเองก็ต้องเตรียมความพร้อมในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม การลงทุนติดตั้งระบบสำรองน้ำ ไปจนถึงการอัปเกรดเครื่องจักรและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งล้วนต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมาก
สถิติระดับโลกชี้ว่า เมื่อความไม่แน่นอนของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น บริษัทโดยเฉลี่ยมักจะจ่ายเงินปันผลลดลงราว 5% แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่เคยมีประวัติการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ ก็เริ่มชะลอการจ่ายเพื่อสำรองเงินไว้ลงทุนในโครงการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากปัจจัยด้านความไม่แน่นอนและภาระค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงกิจการแล้ว ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นเนื่องจากมุมมองความเสี่ยงของธนาคารที่มีต่อบริษัทที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงจากโลกร้อน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทจำเป็นต้องชะลอการจ่ายปันผล
อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักในบ้านเรา ได้แก่ โรงไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจพลังงาน ซึ่งล้วนต้องใช้งบลงทุนมหาศาลในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการผลิตให้ทันสมัยและลดการปล่อยมลพิษ แน่นอนว่าการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการจ่ายปันผลของบริษัท
ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่ท้าทายเช่นนี้ นักลงทุนจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ การประเมินความเสี่ยงจากโลกร้อนของแต่ละบริษัท พิจารณาแผนรับมือด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท รวมถึงกระจายการลงทุนไปยังหุ้นในกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากกระแสโลกร้อน ทั้งในด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับพอร์ตการลงทุน นอกจากนี้ การหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากเงินปันผลที่อาจลดลงก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
สุดท้ายนี้ เมื่อโลกร้อนกลายเป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งบริษัทและนักลงทุนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บริษัทที่สามารถวางแผนเชิงรุกในการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในระยะยาว ในขณะที่นักลงทุนที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและปรับพอร์ตให้สอดคล้อง จะสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนแม้ในยุคที่สภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้
อ้างอิง : Ongsakul, V., Chintrakarn, P., Papangkorn, S., & Jiraporn, P. (2024). Climate change exposure and dividend policy: evidence from textual analysis. International Journal of Accounting & Information Management.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี