เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ชัยภูมิ กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ประจำปีการศึกษา 2568-2570 โดย นางสาวสุรีวรรณ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ และ ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ
น.ส.สุรีวรรณ กล่าวว่า อบจ.ชัยภูมิ ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาของท้องถิ่นโดยมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม หรือ เทคโนโลยี โดยมองว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพ เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีกระบวนการคิด มีการลงมือทำ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น อบจ.ชัยภูมิมุ่งหวังให้นักเรียนเข้าถึงการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้และรู้วิธีเรียนรู้ มีกระบวนการคิดขั้นสูง มีระดับผลสัมฤทธิ์ O-NET และ PISA สูงขึ้น นักเรียนจะต้องได้รับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะการงานอาชีพและทักษะชีวิต ที่นักเรียนนำไปใช้พัฒนานวัตกรรม ต่อยอดเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีอยู่หลากหลายของจังหวัดชัยภูมิ ไปสู่การสร้างรายได้ระหว่างเรียนและเห็นช่องทางการสร้างอาชีพ สร้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ชุมชนและสังคมให้ดียิ่งขึ้น เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ
“การที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ เราต้องสร้างปัจจัยความสำเร็จอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนและบริหารจัดการชั้นเรียนให้ได้ผลดี การเพิ่มภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหาร และการสร้างความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอน หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงง่าย เรียนรู้ง่าย เรียนรู้ได้เร็ว สนุก เรียนรู้อย่างมีความสุข และค้นพบศักยภาพของตนเอง ซึ่ง พว.เป็นองค์กรชั้นนำทางวิชาการ มีประสบการณ์ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นผู้คิดค้น วิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps มีสื่อการเรียนการสอนและหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย เข้าถึงง่ายตอบสนองความสนใจของนักเรียนและลดภาระงานของครูสำหรับสถานศึกษาทุกระดับ ดังนั้นเมื่อได้รับการประสานจาก พว. ทำให้เรามองเห็นประโยชน์ที่ครูและนักเรียนจะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ทันที โดยเราจะเริ่มพัฒนาและส่งเสริมให้กับโรงเรียนในสังกัดทั้ง 26 แห่งทันทีภายในปีนี้ และเชื่อว่าการทำ MOU ครั้งนี้ จะสามารถพลิกโฉมการจัดการศึกษาและการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพคนตามนโยบายของ อบจ.ชัยภูมิ นโยบายของกระทรวงมหาดไทย และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางของการปฏิรูปประเทศได้อย่างแน่นอน”นายกอบจ.ชัยภูมิ กล่าว
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลมีจุดเน้นที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมการอ่าน การคิดวิเคราะห์เพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ กระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง มีสื่ออุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียนแต่ละวัย และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ในการพัฒนาหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความรู้ความสนใจของผู้เรียน ต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps
ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดของการถักทอสร้างความรู้ของผู้เรียน นำไปสู่การสร้างชิ้นงาน โครงงาน และนวัตกรรมจากการเรียนรู้และการนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ของนักเรียน เป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสมรรถนะของผู้เรียนให้สูงขึ้นบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรอิงมาตรฐาน และสอดคล้องกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะ สามารถออกแบบจัดกิจกรรมได้อย่างเป็นระบบมีขั้นมีตอน เป็นผู้สร้างนวัตกรรมจนเกิดความชำนาญและเป็นนวัตกรในที่สุด
“เป้าหมายปลายทางของการปฏิรูปการศึกษา คือ การลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศ ออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก” ดร.ศักดิ์สินกล่าว
และว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการพลิกโฉมการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้มีการสร้างโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้แบบ Active Learningอย่างน้อยจังหวัดละ 3 โรง และกำลังขยายไปในระดับอำเภออีกอำเภอละ 2 โรง ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ซึ่ง อบจ.ชัยภูมิก็กำหนดทิศทางการจัดการศึกษาในแนวทางนี้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเราสามารถปฏิบัติได้รวดเร็วและเกิดผลจะถือว่าเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงได้ทันที และสร้างเป็นการสร้างสังคมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี