“ชาวบ้านเกิดภาวะเครียด ทำให้หลายรายมีทั้งเสียชีวิตและป่วยติดเตียงซึ่งการได้รับผลกระทบครั้งนี้มันถือเป็นครั้งยิ่งใหญ่ของประชาชนพี่น้องชาวเกษตรกร บางรายส่งลูกเรียนหนังสือ เหลืออีกเทอมเดียวก็จะจบแล้วหมดปัญญา คือได้รับผลกระทบ ไม่มีรายได้เข้าสู่ครอบครัวเลย เราไม่ได้เข้าไปทำกินในพื้นที่เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มจากที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)จาก 3 เอบวก ตอนนี้ไม่ต้องพูดถึงแล้วครึ่งเอจะเหลือหรือเปล่า”
ชวโรจน์ เปี้ยทา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า สมัยรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วงปี 2559โดยในตอนแรก มีเจ้าหน้าที่มาขอให้ชาวบ้านพาไปชี้จุดที่เป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน บอกว่าจะกันไว้ให้ได้ทำกินต่อไปแต่ต่อมาในปี 2560 ชาวบ้านกลับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีบุกรุกป่า
จากการต่อสู้ของชาวบ้าน เช่น การยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมทั้งระดับอำเภอและจังหวัด ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การตั้งกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ อันประกอบด้วยตัวแทนจากทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และประชาชน กระทั่งในปี 2565 อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง แต่ยังต้องต่อสู้กันต่อไปเพื่อให้ได้สิทธิ์ทำกินในที่ดินโดยไม่ผิดกฎหมาย
ไม่ต่างจาก กฤษณา ศรีสัมพันธ์ ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ยืนยันว่าที่ดินที่ตนเองใช้ทำกินนั้นได้รับมรดกมาจากพ่อแม่ และทำกินอย่างเปิดเผยมาตลอดก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการอะไร อีกทั้งในบางยุคสมัยรัฐยังมีนโยบายสนับสนุน เช่น ช่วงปี 2552 ได้รับประโยชน์จากโครงการที่รัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างให้ผู้ปลูกมันสำปะหลังกรณีขายไม่ได้ราคา มีการเสียภาษีให้กับองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) จนมาถูกขับไล่ในปี 2559 ซึ่งทุกวันนี้สิ่งที่เรียกร้องคือขอให้ได้กลับเข้าไปทำกิน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นโฉนดที่ดินก็ตาม
“แต่ก่อนเราไม่เคยเจอ ก็ทำกินๆ แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร พอมาเจอปัญหานี้รู้สึกเสียขวัญ เสียกำลังใจเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยได้รับ ที่มรดกของพ่อของแม่ให้มา เหมือนกับทำมาปีหนึ่งอยู่ดีกินดี เราก็ทำมาเรื่อยๆ เหมือนกับเราถูกปล้น ที่เข้าใจว่านี่คือมรดกที่พ่อแม่ให้ไว้ พอเจอปัญหาก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะพึ่งใคร คนที่มายึดก็คือเป็นนโยบายของรัฐ ประชาชนตัวน้อยๆ อย่างเราจะไปพึ่งใคร กินไม่ได้นอนไม่หลับ” กฤษณา กล่าว
เช่นเดียวกับ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชรตัวแทนชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่เล่าว่า กรณีบางกลอยเป็นเรื่องยาวมาตั้งแต่ปี 2524-2539 ที่รัฐไปขอให้ประชาชนย้ายออกจากป่า โดยอ้างว่าบริเวณนั้นเป็นแหล่งต้นน้ำ หากปล่อยให้ชาวบ้านอยู่อาจทำให้ป่าเสื่อมโทรม แล้วบอกว่าให้ชาวบ้านลองลงมาอยู่ด้านล่างก่อน ในบริเวณที่ไปขอแบ่งจากชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่โป่งลึก มีการบอกว่าหากอยู่ไม่ได้แล้วค่อยย้ายกลับขึ้นไป
แต่การย้ายลงมาย่อมมีผลกระทบ 1.สูญเสียพื้นที่ทำกิน เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่ดี และเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 2.สูญเสียวิถีวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีภาษา การแต่งกายและความเชื่อเป็นของตนเอง เช่น ในอดีตเสื้อผ้าจะมาจากฝ้ายที่ปลูกไว้แล้วนำมาทอเอง แต่ปัจจุบันการทอเสื้อสักตัวหนึ่งต้องสั่งเส้นด้ายจากภายนอก หรือในอดีตการจะเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าต้องมีพิธีกรรมแต่เด็กรุ่นหลังๆ ก็แทบไม่รู้จักแล้ว และ 3.สูญเสียความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจากที่อยู่กันแบบแบ่งปันกลายเป็นทุกอย่างคือเรื่องการซื้อ-ขายทั้งหมด
“นี่คือสิ่งสำคัญที่เราพยายามกลับขึ้นไปรอบหนึ่ง เราพยายามจะบอกว่าวิธีการจัดการของรัฐที่พยายามยัดเยียดมาให้เรามันไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความต้องการ และส่งผลกระทบกับเรา พยายามสื่อสารและกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม เพื่อจะบอกว่าการจัดการอย่างนี้มันจะดีที่สุด ดังนั้นเราก็เลยกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จนได้รับคดีความ ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคดีความอยู่ แม้กระทั่งตัวผมเองก็เช่นกัน” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ทั้ง 3 กรณี เป็นส่วนหนึ่งจากหลายๆ กรณี ที่มีตัวแทนมาบอกเล่าใน “เวทีรณรงค์สาธารณะเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐด้านที่ดินและป่าไม้ พ.ศ. ..” เมื่อช่วงปลายเดือนม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ถึงผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากนโยบายของรัฐหลายยุคสมัยจากที่เคยทำมาหากินและส่งต่อพื้นที่กันมารุ่นสู่รุ่น กลับต้องถูกขับไล่และกลายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีบุกรุก
เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจ และคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพาย้อนกลับไปยัง “พุทธศักราช 2497” อันเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมี “ประมวลกฎหมายที่ดิน” โดยเวลานั้น รัฐกำหนดให้ประชาชนแจ้งการครอบครองที่ดินภายใน 180 วัน ซึ่งเมื่อประชาชนมาแจ้งแล้วรัฐจะออกเอกสารเรียกว่า ส.ค.1 ให้
แต่ปัญหาคือ “มีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน” ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ชาวบ้านทำประโยชน์ในที่ดินนั้นไปโดยไม่มีบุคคลใดมารบกวนสิทธิ์ เพราะชาวบ้านในละแวกนั้นก็รู้จักกันหมดจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องไปแจ้ง หรือไม่ได้รับการสื่อสารว่าต้องไปแจ้งเนื่องจากอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดาร แต่เมื่อประชาชนไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินในระยะเวลาที่กำหนดก็ทำให้เสียสิทธิ์ เท่ากับเสียสิทธิ์ในครั้งที่ 1
“ยกตัวอย่างเช่นที่ป่าตองภูเก็ตสมัยก่อนไปยากมากเพราะไม่มีเส้นทางจากอำเภอเมืองข้ามภูเขาไป ใครเดินทางจากอำเภอเมืองข้ามภูเขาไปตายหมด เพราะมีเสือ ใครข้ามไปเจอเสือกัดตายหมด จะต้องเดินทางทางเรือเท่านั้น ฉะนั้นส่วนที่ป่าตอง ถ้าไม่ได้ไปแจ้ง ส.ค.1 ก็ต้องบอกว่าเสียดายมากแล้วหลายคนก็ไมได้ไปแจ้งจริงเพราะอาจจะเกิดจากถิ่นทุรกันดาร แต่ถ้าใครถือ ส.ค.1 จนถึงปัจจุบันนี่ผมว่าเป็นมหาเศรษฐีนะ เพราะที่ดินราคาไม่ต่ำกว่า 70 ล้าน” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว
พ.ต.ท.ประวุธ เล่าต่อไปว่า การเสียสิทธิ์ครั้งที่ 2 ของประชาชน เกิดขึ้นเมื่อ “รัฐประกาศกฎหมายป่าไม้หรือกฎหมายอุทยาน กำหนดให้ไปแจ้งคัดค้านภายในเวลา 90 วัน” ขณะที่รัฐก็ไปทำแผนที่ขนาด 1 ต่อ 50,000 ขึ้นมาติดในชุมชน คำถามคือ “ชาวบ้านจะรู้หรือไม่ว่าที่ดินของตนเองอยู่ในแผนที่ประกาศเป็นเขตป่าหรืออุทยาน?” แต่การไม่มาแจ้งสิทธิ์คัดค้านการประกาศพื้นที่ป่าหรืออุทยานก็เท่ากับเสียสิทธิ์เป็นครั้งที่ 2 ที่ดินนั้นกลายเป็นของรัฐทันทีและชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็ถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ หากไปดูกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ จะพบนิยามที่ระบุว่า ป่า หมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จึงหมายความว่าพื้นที่ใดที่ออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิไม่ได้ก็ถือเป็นป่าทั้งหมดและมีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบันและยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ประชากรจำนวนเพิ่มขึ้น และแม้จะมีการประกาศพื้นที่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ชั่วคราว เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. แต่ก็ไม่เพียงพอ
แม้กระทั่ง “แนวปฏิบัติของแต่ละแห่งก็ยังแตกต่างกัน” เช่นที่ จ.ภูเก็ต มีกรณีป่าเขารวก-เขาเมือง มีการสำรวจจำนวนประชากรที่อาศัยในพื้นที่ ให้ทางเลือกว่าสำหรับผู้ที่ยินดีย้ายออกจะได้รับค่าชดเชย ส่วนผู้ที่ไม่ย้ายออกก็จะกันพื้นที่จุดนั้นออกจากเขตป่าสงวนหรือขอให้ย้ายจากบริเวณกลางป่ามาอยู่บริเวณริมขอบแนวเขตป่า เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ซึ่งตามหลักการแล้วควรทำแบบนี้ แต่อีกหลายพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการแบบเดียวกัน
“ผมยกตัวอย่างบ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงาในหมู่บ้านเดียวกันถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนทั้งหมู่บ้าน ในขณะที่ประกาศเขตป่าสงวนชุมชนเกิดขึ้นแล้ว เป็นหมู่บ้านแล้ว บ้านหลังหนึ่งมีการไปแจ้ง ส.ค.1 ไว้ ช่วงปี 2497 อีกหลังหนึ่งข้างๆ ไม่ได้ไปแจ้ง พอเขาประกาศเป็นเขตป่าสงวนก็ไม่มีใครไปคัดค้าน กลายเป็นว่าที่ดินตรงนั้นกลายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่คนที่ได้ ส.ค.1สามารถไปออกโฉนดได้เพราะเขาถือว่ารัฐให้ประโยชน์คุณก่อนประกาศเป็นเขตป่าสงวน ในขณะที่ข้างบ้านออกโฉนดไม่ได้แถมยังเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนอีก” พ.ต.ท.ประวุธ ระบุ
จากหลายๆ กรณีข้างต้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดย พ.ต.ท.ประวุธ กล่าวว่าข้อเสนอของภาคประชาชนต้องการให้นิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายในยุค คสช. แต่ทางกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ควรย้อนไปถึง 2497 เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ประชาชนเสียสิทธิ์เนื่องจากการไม่ได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดินหรือแจ้งคัดค้านการประกาศพื้นที่ป่าหรือพื้นที่อุทยาน
ประการต่อมา กลุ่มเป้าหมายแรกของการนิรโทษกรรมคือผู้ที่อยู่มาก่อน และควรได้สิทธิ์ในที่ดินนั้นคืนด้วย ไม่ว่าจะครอบครองเนื้อที่เท่าใดก็ตาม หากพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าอยู่มาก่อนจริง ซึ่งการพิสูจน์ก็ไม่ยาก ในฐานะที่ตนเคยอยู่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มาก่อน เรื่องนี้สามารถใช้ภาพถ่ายทางอากาศซึ่งเริ่มถ่ายกันมาตั้งแต่ปี 2493 และถ่ายทุกๆ 10 ปี มาเปรียบเทียบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินแปลงนั้นมีการใช้ประโยชน์มาก่อนหรือไม่ นอกจากนั้นยังจะมีการล้างมลทิน เพื่อไม่ให้มีประวัติอาชญากรรมติดตัวซึ่งจะกระทบต่อการไปหางานทำ
ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนเรียกร้องเข้ามาว่าอยากให้เพิ่มเติมกลุ่มคนที่มาทีหลังการประกาศเขตป่าสงวนหรืออุทยาน ซึ่งด้านหนึ่งต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้เป็นผู้กระทำผิด แต่อีกด้านหนึ่งสาเหตุอาจมาจากความยากจน ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จึงใส่กลุ่มนี้ไปด้วย แต่ให้เฉพาะการนิรโทษกรรมและล้างมลทินเท่านั้น ไม่ให้สิทธิ์ในที่ดิน และไม่ได้ให้กับทุกคน เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำคดีมา การบุกรุกที่เป็นจำนวนมากๆ มักเป็นผู้มีอิทธิพล
“เราก็เลยมองว่าจำนวนเนื้อที่เท่าไหร่ดีถึงจะเป็นแนวขีดเส้นที่เราจะนิรโทษกรรม เราก็เลยไปมองที่กฎหมาย บอกว่าถ้าบุกรุกเกิน 25 ไร่ถือว่าเป็นเหตุเพิ่มโทษ ก็แสดงว่าคนที่บุกรุกเกิน 25 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนรายใหญ่ เราไม่ต้องการให้นายทุนแทรกซึมเข้ามาในกลุ่มนี้ เราก็เลยไปขีดเส้นไว้ที่ 25 ไร่ ว่าใครบุกรุกเกิน 25 ไร่ เราไม่นิรโทษกรรมให้เราไม่ล้างมลทินให้” พ.ต.ท.ประวุธ กล่าว
มุมมองจากฝ่ายการเมืองที่อยู่ในรัฐสภามาแล้วหลายยุคสมัย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แนะนำถึง “3 เส้นสำคัญ” ที่ผู้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีที่ดินและป่าไม้ต้องเน้นย้ำให้ชัด ประกอบด้วย 1.การออกส.ค.1 ที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปแจ้งสิทธิ์ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะขนาดปัจจุบันหน่วยงานราชการมีสื่อสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าประชาชนจะเห็น ในยุคอดีตที่ไม่มีอะไรนอกจากกระดาษ A4 ไปแปะประกาศที่หมู่บ้าน จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมากจะตกสำรวจ บางคนก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก
2.อะไรที่ไม่ได้ออกโฉนดคือพื้นที่ป่า ตามนิยามของกฎหมายป่าไม้ และ 3.สำทับไปอีกคือการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตป่า มีการขีดเส้นบนแผนที่ที่รายละเอียดน้อยมาก ทับใครไปบ้างแม้แต่คนขีดก็ยังไม่รู้ ทั้งนี้ “การนิรโทษกรรมคือกรณีป่าไปรุกคน..ไม่ใช่กรณีคนไปรุกป่า” และอย่าเพิ่งพ่วงอะไรเข้ามา เช่น พวกที่เข้ามาหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 30 มิ.ย. 2541 เพราะต้องทำให้การผลักดันนี้เกิดความชอบธรรม
“เราต้องชวนให้คนในเมือง และคนที่กำลังอยู่ในเส้นทางที่เราจะต้องไปคุยกับเขาด้วยว่าเรามาสนใจ 3 เส้น 3 เวลานี้กันเถอะ แล้วคุณจะเรียกมันว่านิรโทษหรือไม่ แล้วแต่คุณไปบัญญัติมาก็แล้วกัน เพราะถ้าคุณเห็น 3 เส้นนี้ แล้วคุณจะเห็นแล้วว่าไม่เป็นธรรมยาวนานต่อเนื่องมาตลอดทุกครั้งที่มีการขีดเส้น 3 เส้น ฉะนั้นเรื่องเล่าต้องย้อนไปถึง 3 เส้นนั้นให้ได้ อย่าเพิ่งเล่าเฉพาะวันถูกจับเพราะวันที่ถูกจับแปลว่าท่านไม่สามารถแยกแยะตัวท่านเองจากพวกหลังมิถุนา’41 ต้องแยกให้ได้เพื่อให้เราเกี่ยวข้องกับ 3 เส้นนั้น เส้นใดเส้นหนึ่งก็ยังดี” วีระศักดิ์ กล่าว
ความเห็นจากภาควิชาการศ.(กิตติคุณ) สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนตั้งคำถามว่า ชีวิตของประเทศไทยมีหรือเปล่า สังคมที่เราอยู่มีชีวิตร่วมกันหรือไม่ ซึ่งชีวิตของประเทศจะไม่มีหากเราไม่สามารถร่วมทุกข์กันได้ ในขณะที่กฎหมายถูกใช้เพื่อความสะดวกของนักกฎหมาย ไม่ใช่ความสะดวกของการทำความเข้าใจความทุกข์ของประเทศ หากประเทศไม่สามารถจะร่วมทุกข์กันได้ ก็ต้องช่วยกันตั้งคำถามว่าประเทศเรามีชีวิตร่วมกันอยู่ตรงไหน
“เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราอยากจะร่วมทุกข์กันได้ในบางแง่มุมที่เราเข้าใจกันได้ แล้วอันนี้ผมก็พูดเพราะมีความหมายต่อมหาวิทยาลัยด้วย มีความหมายว่ามหาวิทยาลัยร่วมทุกข์กับพี่น้องที่เผชิญกับการประกาศเรื่องซึ่งสำคัญมาก ก็คือป่าถูกทำลายเยอะ มันต้องทวงคืน นี่ก็ถูก แต่ว่าการประกาศบนภาษาที่คนยอมรับแต่ลึกๆ ไปกลายเป็นใช้ประกาศนั้นไปรังแกคนที่ยังฟังไม่ทันเลยว่าเราอยู่กันมาปู่ย่าตายาย ประเด็นแรกคือความทุกข์ร่วมกันเป็นคำซึ่งในศาสนธรรมที่เรารู้จักตั้งแต่เด็ก นั่นละคือความทุกข์ร่วม เรารู้สึกถึงโอกาสที่จะคิดข้างหน้าร่วมกัน” ศ.(กิตติคุณ) สุริชัย กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีอะไรมากคือตอนขีดเส้นกับแผนที่ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ตอนขีดใช้ดาวเทียมโดยไม่ได้ดูว่าจะไปกระทบกับประชาชนที่อยู่มาก่อนหรือไม่ และเมื่อประกาศออกไปประชาชนก็กลายเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่ป่าสงวนหรืออุทยานต่างหากที่มาบุกรุกประชาชน เพราะการบุกรุกคือคนมาทีหลังมาบุกรุกคนมาอยู่ก่อน นี่คือปัญหาของประเทศไทยที่เอากฎหมายไปบุกรุกประชาชนแต่บอกว่าประชาชนบุกรุก
แต่การที่จะทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จออกมาได้ก็ต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งหลักการที่สำคัญคือสิ่งที่จะถูกย้อนกลับมาว่าทำแบบนี้คนบุกรุกป่าก็พ้นผิดกันหมดแล้วก็จะเกิดการบุกรุกกันอีกใหญ่โตก็ต้องพูดให้ชัดว่าเราแก้ปัญหาป่าหรืออุทยานบุกรุกคน รวมถึงลูกหลานของเจ้าของที่ดิน ที่เป็นการสืบมรดกอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กับคนที่มาซื้อที่ดินต่อจะครอบคลุมหรือไม่ เรื่องนี้จะเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ยิ่งซื้อต่อไปทำอย่างอื่น เช่น ทำรีสอร์ท ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่เพื่อทำกิน สิทธิ์นี้ก็ไม่ควรครอบคลุมไปถึง
“นี่เป็นรายละเอียด แต่ผมเพียงชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้จะสำเร็จถ้าเราชูเรื่องความเป็นธรรม เราแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน อุทยานบุกรุกคนตรงไหนป่าบุกรุกคน ตรงไหนอุทยานบุกรุกคน ก็ต้องไม่ผิด ความจริงไม่ควรเกิดการจับกุมแต่แรกอยู่แล้วแต่ในเมื่อมันยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียทีก็ต้องนิรโทษกรรมเลยแล้วกันแต่ว่าภายใต้หลักการนี้ นิรโทษกรรมคนซึ่งไม่ผิด ที่ไม่ผิดเพราะว่าป่าบุกรุกคนอุทยานบุกรุกคน คืออยู่มาก่อนการประกาศเขตทั้งหลาย ถ้าหากเราชัดเจนในการสื่อสารออกไปอย่างนี้ เรื่องของชื่อ 1 หมื่นชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยาก” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี