บุญเดือนสาม งานนมัสการองค์พระธาตุพนม 5-13 กพ.68 พลังศรัทธาสืบสานประเพณี ร่วมแห่อัญเชิญพระอุปคุตจากแม่น้ำโขง
3 กุมภาพันธ์ 2568 งานนมัสการองค์พระธาตุพนม ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-13 กุมภาพันธ์ 2568 (ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 - แรม 1 ค่ำ เดือน 3) รวม 9 วัน 9 คืน วัตถุประสงค์ของการจัดงาน มุ่งเน้นการสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของจังหวัดนครพนม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับองค์พระธาตุพนม
โดยในช่วงเช้าวันที่ 5 ก.พ.ซึ่งเป็นวันเปิดงาน ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมถึงพลังศรัทธาทั้งชาวไทย ชาวลาว ข้าโอกาสองค์พระธาตุพนม พร้อมใจร่วมในพิธีแห่พระอุปคุต ถือเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์สืบทอดมาแต่โบราณ
ทั้งนี้ งานนมัสการองค์พระธาตุพนม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหน้าอกของพระพุทธเจ้า เป็นบุญเดือนสามที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่ปี 2519 โดยเชื่อกันว่าก่อนที่จะเริ่มงานวันแรก ต้องมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ตามประเพณีความเชื่อ คือ อัญเชิญองค์พระอุปคุตมาปกปักษ์รักษา ให้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอด 9 วัน 9 คืน
ตามตำนานพระอุปคุต อยู่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช หรือหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 200 ปี เป็นผู้มีฤทธานุภาพสูง บำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ท้องสมุทร กล่าวกันว่า ณ กรุงปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกฯผู้ครองราชสมบัติในขณะนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ฉลองสมโภชพระสถูปเจดีย์ทั้งหมดที่พระองค์สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ถูกพญามารมาผจญ ท่านจึงนิมนต์พระอุปคุตจากใต้มหาสมุทรไปปราบจนยอมแพ้ จึงเป็นประเพณีความเชื่อสืบทอดกันมาถึงปัจจุบัน
ดังนั้น งานนมัสการองค์พระธาตุพนมของทุกปี ต้องมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว โดยการจำลองเหตุการณ์เมื่อ 2,000 กว่าปี ด้วยการอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมาจากแม่น้ำโขง มาประดิษฐานภายในวัด เพื่อปกปักษ์รักษา ให้งานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทำให้ทุกปีการเปิดงานวันแรก จะมีพลังศรัทธานับแสนคน มาร่วมพิธีแห่พระอุปคุตเพื่อความเป็นสิริมงคล
โดยตามตำนานความเชื่อในหนังสือพระอุรังคนิทาน กล่าวไว้ว่า ในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางอากาศ เพื่อไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูร สปป.ลาว ในปัจจุบัน จากนั้นได้เสด็จมาประทับแรมที่ภูกำพร้า คือ จุดที่ก่อสร้างองค์พระธาตุพนม ต่อมาพญาอินทร์ได้ทูลถามถึงการเสด็จในครั้งนี้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว สาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ เช่นกันกับพระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว ผู้เป็นสาวกจะเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้เช่นกัน
ภายหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสะปะ พระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ได้ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น พร้อมอัญเชิญพระอุรังคธาตุมาประดิษฐานไว้ในปี พ.ศ.8 โดยการนำของพญาเจ้าเมืองทั้ง 5 และพระอรหันต์ 500 องค์ ซึ่งในยุคแรกได้ก่อสร้างจากดินดิบ เป็นสี่เหลี่ยมข้างในเป็นโพรงมีประตูทั้ง 4 ด้าน
จากนั้นได้มีการบูรณะครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.500 และทำการบูรณะต่อเนื่องมารวม 6 ครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลง เนื่องจากฐานมีอายุเก่าแก่ และได้พบผอบแก้วบรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ อยู่ภายในพระธาตุ ภายหลังมีการสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นเจดีย์ทรงฐาน 4 เหลี่ยม ความสูงจากพื้นถึงยอดฉัตร 57 เมตร ฐานกว้างด้านละประมาณ 12 เมตร ยอดฉัตรประดับเพชร นิล จินดา และทองคำน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม จากนั้นได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองบูชาองค์พระธาตุพนมสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี