“ไฮซีซั่น (Hi Season)” เป็นคำที่ใช้ในแวดวงเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว หมายถึง “ช่วงที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยว” ซึ่งจะเป็นช่วงที่บรรยากาศตามแหล่ง
ท่องเที่ยวต่างๆ คึกคัก เป็นช่วงโกยรายได้ของคนทำงานหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการนักท่องเที่ยว โดยในกรณีของประเทศไทย ไฮซีซั่นจะหมายถึงช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังมีอีกคำหนึ่งที่ถูกนำมาเรียกกันในช่วงไม่กี่ปีล่าสุด คือ “ฤดูฝุ่น” เพราะจะเป็นช่วงที่มีปัญหา “ฝุ่น PM2.5” หรือฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนไล่กันตั้งแต่พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่มักจะมีรายงานปริมาณฝุ่น PM2.5 หนาแน่น ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม (หรือบางปีอาจยาวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนกุมภาพันธ์) ขณะที่พื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือจะยาวตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นเช่นนี้ทุกปี จนดูเหมือนคนไทยจะ “ชินชา” แม้จะรู้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพก็ตาม
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” วันที่ 30 ม.ค. 2568 ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมพูดคุยในประเด็นฝุ่น PM2.5 โดยยกตัวอย่างพ่อของตนเอง ซึ่งก่อนหน้านี้สุขภาพยังแข็งแรงสามารถเดินเหินได้ปกติแม้จะอายุเข้าเลข 8 แต่ล่าสุดล้มป่วยและแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล เนื่องจากฝุ่น PM2.5 ก่อให้เกิดการอักเสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะตนทำคลิปให้ข้อมูลเรื่องอันตรายจากฝุ่น PM2.5 เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ มาหลายปีแล้ว
“คนคิดว่าปัญหา PM2.5 เป็นปัญหาฤดูกาล ผมบอกเลยว่ามันไม่จริง โดยรวมช่วงที่อากาศเย็น อากาศปิด เราจะเห็นมากเป็นพิเศษ แต่จริงๆ แล้ววันนี้เอาเครื่องวัดฝุ่นไปวัดตรงสี่แยก ตรงป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งมีรถผ่านหนาแน่น เกินทุกวัน ใต้รถไฟฟ้า เกินเป็นร้อยสองร้อยทุกวัน มันเป็นภาวะที่เกิดทุกวันแต่มาเห็นได้ชัดในช่วงอากาศปิด คือช่วงฤดูหนาว มันจะไม่เกิดทุกวันได้อย่างไร ในเมื่อยังตามรถเมล์ควันดำ บ้านอยู่ลาดกระบัง จะเข้ากรุงเทพฯ เห็นรถสิบล้อ รถเทรลเลอร์ปล่อยควันดำอยู่เลย ก็เติมทุกวันมันจะน้อยลงได้อย่างไร”
ฝุ่น PM2.5 นั้นเกิดขึ้นทุกวัน มาทั้งจากรถยนต์ ไซต์งานก่อสร้าง รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจะหนาแน่นในช่วงเช้าที่คนเดินทางมาก จากนั้นพอช่วงเที่ยงถนนมีความร้อน อากาศยกตัวขึ้น ช่วงบ่ายจึงเห็นว่าค่าฝุ่นดีขึ้น แต่เมื่อตอนเย็นอากาศเย็นลง ฝุ่นก็ตกลงมาอีก จะพบสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเฉพาะบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นหรือจุดที่มีการก่อสร้าง ดังนั้นต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่าฝุ่นไม่ใช่ปัญหาตามฤดูกาล และคนที่เห็นว่าตนเองไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ วันดีคืนดีไปตรวจสุขภาพอาจเจอว่าป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ ถามว่าแล้วใครจะรับผิดชอบ
ขณะที่มาตรการที่รัฐบาลเข็นออกมา เช่น “การให้ขึ้นรถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี” ก็ต้องบอกว่า “ไม่ช่วยแก้ปัญหา”ไม่ต่างจากการปิดโรงเรียน “ปิดโรงเรียนให้เด็กเรียนออนไลน์อยู่บ้าน แต่ไม่ปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษ ไม่ห้ามรถยนต์ที่ปล่อยควันดำวิ่ง และไม่ห้ามไซต์งานก่อสร้างที่ไม่ป้องกันฝุ่น”จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล และหากไปดูต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ซึ่งมีรถบรรทุกวิ่งกันเป็นจำนวนมาก และโรงงานอุตสาหกรรมก็มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยมาก แต่กลับไม่มีปัญหาควันดำ ทั้งที่รถบรรทุกก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นรถเก่า
เมื่อ “ขีดวง” เข้ามาในพื้นที่เมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร (กทม.)” อย่างแรกที่ต้องบอกคือ “อย่าเพิ่งไปโทษฝุ่นจากภายนอก” ตราบใดที่ยังไม่จัดการกับปัจจัยกำเนิดฝุ่นที่กล่าวมาข้างต้นให้เรียบร้อยเสียก่อน และต้องย้ำว่า “กทม. มีอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม” ยกตัวอย่างกฎหมาย เช่น ข้อบัญญัติเรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจัดการกับสถานประกอบการที่อาจมีผลต่อสุขภาพ การควบคุมอาคาร เป็นต้น
“เห็นไซต์งานไม่ได้คลุมเลย รถสิบล้อ เครื่องจักรตูมๆ ขนของ อิฐ หิน ดิน ทราย ควัน ของร่วง เข้าไปจัดการได้เลยเพราะตึกเวลาจะสร้างขออนุญาตจากเขต ถ้าอย่างนั้นเขตก็ต้องไปจัดการ บอกคุณทำอย่างนี้สร้างความรำคาญมีโอกาสความเสี่ยง มีความไม่สะอาดเรียบร้อย ขอปิดและเพิกถอนใบอนุญาตหรือชะลอการก่อสร้าง เจ้าของเขาก็จะตกใจ เขาก็ต้องแก้ปัญหา
ไปไล่บี้กับผู้รับเหมา ผู้รับเหมาก็ไปไล่บี้กับบริษัทขนส่ง สุดท้ายเขาจะกล้ามีรถควันดำมาส่งอีกไหม? แล้วโรงงานอุตสาหกรรม คนออกใบอนุญาตคือกรมโรงงานอุตสาหกรรม จริงอยู่ แต่ กทม. ดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อย ความปลอดภัย และสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มันมีวิธี แค่ไปตรวจบ่อยๆ กล้าทำอะไรไหม? ขวัญหนีดีฝ่อกันทั้งนั้น ก็รู้กันอยู่ อยู่ที่ท่านจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง”
ประการต่อมาคือ “สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน” เช่น อุปกรณ์วัดค่าฝุ่นซึ่งปัจจุบันราคาไม่แพง หรือหากประเทศไทยจะผลิตเองก็สามารถทำได้ อย่างในกรุงเทพฯ
มีสัมปทานป้ายโฆษณาเต็มไปหมด ก็น่าจะมีส่วนหนึ่งที่ติดระบบแจ้งเตือน อย่างน้อยก็ช่วยให้ประชาชนได้รับรู้และป้องกันตนเองในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นมาก อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามแหล่งกำเนิดฝุ่นด้วย เพราะไซต์งานก่อสร้างผู้ประกอบการขนส่ง จะรู้สึกว่าถูกเพ่งเล็งหากปล่อยรถควันดำมาวิ่งหรือไม่มีมาตรการป้องกันพื้นที่ก่อสร้าง
หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่องการเผา ปัจจุบันประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 ที่สามารถถ่ายภาพในละเอียดถึงระดับ 50 เซนติเมตร ยังไม่ต้องถึงกับเผาแปลงใหญ่ๆ ขนาดเผาหลังบ้านก็ยังมองเห็น จึงเอาผิดคนเผาได้ทันทีเพราะมีหลักฐานชัดเจน “กฎหมายเดิมมีอยู่และทำได้เลย..ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ออกมา” ซึ่งก็คือ “ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด” โดยสาระสำคัญคือการกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษให้ตรงกัน อย่างในต่างประเทศ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ถือว่าอันตรายแล้ว ส่วนของไทยอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือ “คณะกรรมการจัดการด้านมาตรการทางเศรษฐศาสตร์” ซึ่งจะมาแก้ไขปัญหา “ฝุ่นข้ามพรมแดน” ที่มักจะพูดกันเสมอว่าทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย แต่จริงๆ มีมาตรการที่ทำได้ “บริษัทไหนก็แล้วแต่ที่ก่อมลพิษ..หากเข้ามาขายสินค้าไทยสามารถปฏิเสธไม่ซื้อได้” นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อให้ลงไปถึงพื้นที่ ถึงกระนั้นก็ต้องย้ำว่า “การบังคับใช้กฎหมายต้องเอาจริงตลอดทั้งปี” ไม่เช่นนั้นแม้จะมีกฎหมายออกมาอีกกี่ฉบับก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
“เอาจีนก่อน ปี 2000 ปักกิ่งเขาอยากจะจัดโอลิมปิก เขาพร้อมทุกอย่างแต่ไปแพ้ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) เพราะคณะกรรมการอ้างว่าฝุ่นเยอะ จากนั้นปี 2008 กลับมา
จัดได้ สะอาดเฉยเลย 8 ปี แล้ววันนี้มันก็ดีขึ้นเมื่อเปรียบกับวันนั้น แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน ปี 2000 ปักกิ่งนี่ฝุ่นเละเลย ประเทศไทยก็ยังดูสะอาดนะ แล้วผ่านมาตอนนี้เรา
ไม่เหลือ แต่เขากลับดีขึ้น
กรุงโซล (เกาหลีใต้) เหมือนกัน เขาก็บังคับใช้กฎหมาย หรือแม้แต่เยอรมนี แต่ก่อนเผาถ่านหินเป็นว่าเล่น เพราะเขาจะสร้างรถยนต์ สร้างอุตสาหกรรมหนัก ก็ต้องเผาถ่านหินเพราะมันถูก โอ้โห! เละหมด ตอนนี้ไม่ได้เลย คุณเผาถ่านหินได้แต่คุณต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ และรถขนาดใหญ่ที่จะมาปล่อยควันพิษในเมืองก็ห้ามเข้าเลย หรือลอนดอนน่าสนใจ เขามีเขตปล่อยมลพิษต่ำ เขาไม่สนว่าคุณขับรถเล็กหรือใหญ่ คุณเข้ามาคุณจ่ายสตางค์ เพราะคุณมีทางเลือก คุณมีรถไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นรถใหญ่แล้วปล่อยมลพิษ คุณเจอค่าปรับอย่างแรงจนถึงขนาดต้องขึ้นศาล”
ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ดังนั้นต้องไม่ให้มีปัจจัยก่อฝุ่นเติมเข้ามาอีกแล้วปล่อยให้ธรรมชาติรักษาตัวเอง ซึ่งการทำงานให้เป็นของ กทม. ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้มาก แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องสนับสนุน ประชาชนก็ต้องช่วย ส่วนภาคเอกชนจะทำธุรกิจอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะสุดท้ายไม่เว้นแม้แต่ผู้ประกอบการเองก็ต้องสูดอากาศนั้นเช่นกัน
และหากจะให้พูดถึงการทำงานของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนถล่มทลายถึง 1.3 ล้านเสียง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า นี่คือพลังที่วิเศษมาก ดังนั้นในเมื่อมีพลังแล้วก็ควรจะแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นงานประจำวัน (Routine) ที่เจ้าหน้าที่ทำอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ควรแก้ 1.คอร์รัปชั่น เพราะในเมื่อมีพลังก็ต้องแก้ปัญหาที่ยากที่สุด 2.ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความท้าทายมากๆ เช่น น้ำท่วม ฝุ่น PM2.5
ส่วนคำแนะนำถึงรัฐบาล ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความกดดันสูง งานทุกเรื่องในประเทศไทยจะพุ่งเข้ามาตลอด ดังนั้นอยากให้นายกฯ มี“ผู้จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งต้องสามารถอุทิศเวลาได้ตลอด อาจเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ เพื่อที่รองนายกฯ จะได้ไปบูรณาการกับรัฐมนตรีจากหลายๆ กระทรวง หรือไปบอก กทม. ว่าส่วนไหนที่ทำได้ก็ไม่ต้องโยนกลับมาให้นายกฯ และ กทม. ขาดอะไรก็พร้อมสนับสนุน หรือจังหวัดอื่นๆ กับการจัดการปัญหาการเผาหลังจากดาวเทียมส่งภาพมา
“ขอให้มอบอำนาจให้เขาไปเลย เพราะว่าเขาจะได้ทำเต็มที่ แล้วก็ต้องให้เต็มใจด้วยนะ เพราะงานประเภทนี้คุณต้องทำตลอดไม่ใช่ตามฤดูกาล ท่านนี้ผมอยากให้ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไปเลย เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่เช่นนั้นก็ลืมไปแล้ว เรื่องปัญหาฝุ่นพิษ ท่านนี้จัดการได้ และผมว่าถ้าเกิดรองนายกฯ ท่านนี้ทำได้ดี วันหนึ่งอาจได้ผลงานเติบโตเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ ผมว่าเป็นทั้งโอกาสของคนที่จะรับผิดชอบเช่นเดียวกัน แบบนี้ผมว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นก็โยนไปโยนมาอย่างนี้”
ช่วงท้ายของรายการ ศ.ดร.สุชัชวีร์ ย้ำอีกครั้งว่า “ปัญหาต่างๆ แก้ได้..อยู่ที่ความมุ่งมั่นว่าจะแก้หรือไม่” อย่างเรื่องน้ำท่วม ประเทศญี่ปุ่นเจอพายุไต้ฝุ่นปีละ 7 ลูก หนักยิ่งกว่าไทยมาก แต่ประเทศไทยมีปัญหาน้ำท่วม หรืออย่างฮ่องกงก็เช่นกัน “แต่หากจะแก้ก็ต้องทำทันที” เพราะหากปล่อยทอดเวลายาวนานออกไป ถึงจุดหนึ่งการแก้ปัญหาจะยิ่งยากขึ้นแม้จะมีผู้บริหารที่เก่งและมีงบประมาณมากมายก็ตาม ดังนั้นใครรับผิดชอบส่วนไหนก็ดำเนินการในส่วนนั้น แล้วสุดท้ายจะเป็นการส่งมอบเมืองและประเทศให้ผู้บริหารชุดต่อไปโดยที่ไม่ต้องมาเจอกับปัญหาเดิมๆ
“ผมไม่ชอบเลยเวลาหาเสียง 4 ปีก็หาเสียงเรื่องเดิม 4 ปีก็มาพูดเรื่องฝุ่น เรื่องน้ำท่วม เรื่องปฏิรูปการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความยากจน แสดงว่ามันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาเลย ก็อยากจะมาหาเสียงเรื่องใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ทำอย่างไรให้คนมีทักษะสู้กับโลกได้ เราจะเป็นประเทศที่ส่งออกเทคโนโลยีอย่างไร แต่กลายเป็นว่าดึงเรามาตลอด” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี