คณะผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2568 (PMAC 2025) ชื่นชม “คลินิกกายภาพบำบัด” หลังลงพื้นที่ศึกษาดูงาน “หน่วยนวัตกรรมปฐมภูมิ 30 บาทรักษาทุกที่ จ.สระบุรี” เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิตทิมขำ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี และคณะเจ้าหน้าที่ นำเยี่ยมชม และ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วย นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี (สสจ.สระบุรี) และคณะต้อนรับ
โดย รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวว่า หน่วยบริการที่คณะ PMAC 2025 ได้เยี่ยมชมในครั้งนี้มี 3 ประเภท ได้แก่ คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น (คลินิก I Care Dental Clinic) ร้านยาชุมชนอบอุ่น (ร้านคลังยาเมดิโก) และคลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น (สุภาภรณ์คลินิกกายภาพบำบัด) ซึ่งคณะศึกษาดูงานฯ ยังได้มีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยที่รับบริการกายภาพบำบัดถึงที่บ้าน
ทั้งนี้ บริการกายภาพบำบัดที่หน่วยบริการนวัตกรรมนั้น สปสช. มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดบริการผู้ป่วยถึงที่บ้าน ด้วยเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว หากจำกัดให้รับบริการเฉพาะที่คลินิกก็จะเป็นอุปสรรคอย่างมาก ดังนั้น จึงสนับสนุนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง มี 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง2.ผู้ป่วยสมองบาดเจ็บ 3.ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บ และ 4.ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง
กำหนดจำนวนบริการ 20 ครั้งในช่วงระยะ 6 เดือน ภายหลังจากผู้ป่วยได้รับการรักษาจากโรงพยาบาล และพ้นระยะวิกฤต ซึ่งเป็น Golden period เพราะหากล่าช้าไปกว่านี้ ผู้ป่วยอาจประสบกับภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตถาวร และอยู่ในภาวะพึ่งพิงได้ ขณะที่ผู้ร่วมศึกษาดูงานจากสิงคโปร์ได้ตั้งคำถามถึงค่าใช้จ่ายที่สูงหรือไม่งบประมาณที่รัฐจัดสรรมาไม่ถึง 4 พันบาทต่อคนต่อปีเพียงพอหรือไม่ จึงให้ข้อมูลไปว่า ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ
“เราได้ออกแบบการจ่ายที่เหมาะสม ผ่านการพูดคุย หารือกับแต่ละสภาวิชาชีพ เพื่อทำให้ราคาค่าบริการไม่เท่ากับของเอกชนทั่วไป พร้อมใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ที่ท้องถิ่นสมทบกับ สปสช. ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน นอกจากนี้คือการควบคุมคุณภาพและตรวจสอบการบริการ การวัดผลลัพธ์สุขภาพของประชาชน รวมถึงประเมินความคุ้มค่า” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
กภ.สุภาภรณ์ เทพพานิช นักกายภาพบำบัด สุภาภรณ์ คลินิกกายภาพบำบัด กล่าวว่า การให้บริการจะยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นผู้ตัดสินใจเลือกช่องทางรับบริการรักษาระหว่างที่คลินิกกับที่บ้าน และนัดหมายตามช่วงเวลาที่ผู้ป่วยสะดวกเป็นหลัก ซึ่งมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ผู้ป่วยทั้งหมดในจังหวัด ไม่เพียงแต่ในพื้นที่เขตเมืองเท่านั้น เนื่องจากมีศักยภาพความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งเครือข่ายของนักกายภาพบำบัดที่มีอยู่จำนวน 10 คน โดยปี 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการกว่า 200 คน โดยกว่าร้อยละ 40 เป็นผู้ป่วยที่เข้ารับบริการครบเต็มจำนวนโปรแกรมของสิทธิบัตรทอง ทั้ง 20 ครั้ง
Trisnasari เจ้าหน้าที่ฝ่ายประกันสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน สำนักงานประกันสังคมด้านนโยบายสุขภาพ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ได้ร่วมศึกษาดูงานในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 แล้ว พบว่าหน่วยบริการปฐมภูมิมีความน่าประทับใจ เพราะในอินโดนีเซียแม้จะมีแพทย์จำนวนมากในหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่ระบบก็ยังไม่สามารถตอบสนองต่อบริการผู้ป่วยได้
นอกจากนี้ในส่วนคลินิกกายภาพบำบัดรวมถึงระบบดูแลผู้ป่วยที่บ้านผู้ป่วย คิดว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะทำเกิดผลลัพธ์ของผู้ป่วยได้โดยตรง ซึ่งไทยมีโปรแกรมที่ชัดเจนในส่วนนี้มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ และมีการติดตามผลที่ดี ทั้งยังนำคุณภาพของผลลัพธ์ของผู้ป่วยมาใช้พิจารณาจ่ายค่าตอบแทนให้กับสถานพยาบาลด้านกายภาพบำบัด ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ยังทำให้เห็นมุมมอง 2 ด้าน คือ
1.ด้านการแพทย์ มีการแบ่งแยกขอบเขตและลำดับขั้นของการรักษาที่ชัดเจน ระหว่างการดูแลในระดับปฐมภูมิและการส่งต่อ เพราะการมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าอะไรคือบทบาทของหน่วยบริการปฐมภูมิ และอะไรคือบทบาทของโรงพยาบาล จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างสองหน่วยงานนี้ได้ และ 2.ด้านการจัดสรรงบประมาณ
ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านสาธารณสุข ซึ่งตนคิดว่า ค่าบริการกายภาพบำบัดอัตรา 450 บาทต่อครั้งนั้นเป็นตัวเลขที่เหมาะสม และผู้ให้บริการเองก็ดูมั่นใจว่าสามารถให้การรักษาผู้ป่วยด้วยอัตรานี้ได้
“มากไปกว่านั้นคือความร่วมมือทางสังคม เราได้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักกายภาพบำบัด ภาคเอกชน และภาครัฐที่มีความใกล้ชิดกัน และในแง่ของการทำงานร่วมกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก ทั้งนี้ การดูงานในครั้งนี้เป็นเรื่องสนใจมาก เพราะทีมของเรากำลังต้องการพัฒนาโปรแกรมลักษณะนี้ในอินโดนีเซีย ภายใต้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นกัน” Trisnasari กล่าว
ด้าน นายบัญชา ผวจ.สระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีมี 2 เรื่องสำคัญที่ทำอยู่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน คือ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ หรือ “ศูนย์ปฏิบัติการสระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ” (Saraburi Low Carbon City Operration Mannagement Center) กับ “คุณภาพชีวิตดี คนสระบุรีไม่ทิ้งกัน” โดยจัดตั้งคณะทำงานหรือกรรมการทั้งในระดับ ตำบล อำเภอและจังหวัด เข้ามาดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในจังหวัด
“มีการเก็บข้อมูลร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งสาธารณสุข อบจ. อบต. และเทศบาล รวมถึงทำการศึกษาข้อมูลกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ยากจน และเด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียน เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การค้นหากลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนจริงๆ และขับเคลื่อนเป็นมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือให้ตรงเป้าหมาย การที่คณะ PMAC ได้มาดูงานด้านบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของจังหวัดสระบุรี ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูง ซึ่งจังหวัดสระบุรีมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม แม้แต่ด้านความมั่นคงต่างๆ” ผวจ.สระบุรี กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี