"วันมาฆบูชา" ปีนี้ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาโดยเป็นวันที่พระภิกษุ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายและมีเหตุอัศจรรย์พร้อมกัน 4 ประการหรือที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" และในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่สำคัญของพุทธศาสนา
"วันมาฆบูชา" เป็นวันที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา 2 ประการ คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ และพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร โดยตรัสขณะแสดงธรรมว่า "ต่อไปนี้อีก 3 เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" หลังจากทรงสั่งสอนพระธรรมมาเป็นเวลา 45 ปี
ความหมายของคำว่า "มาฆบูชา" ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 เหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 3 ปีนั้นเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 อย่าง เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" มีความหมายดังนี้ "จาตุร แปลว่า 4, องค์ แปลว่า ส่วน, สันนิบาต แปลว่า ประชุม"
ความสำคัญของ "จาตุรงคสันนิบาต" ในวันมาฆบูชา
1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ
2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูปโดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์
พิธีปฏิบัติ หรือพิธีกรรมวันมาฆบูชาในประเทศไทย เริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพิธีพระราชกุศลนิมนต์พระสงฆ์วัดบวรนิเวศ และวัดราชประดิษฐ์ 30 รูป ฉันในพระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้วพระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ 1,250 เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน 3 ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง 30 รูป ถือปฏิบัติตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย
หลักธรรมสำคัญในวันมาฆบูชา คือ "โอวาทปาติโมกข์" เป็นหลักธรรมอันเป็นหลักหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้แก่พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปในวันนั้น ได้แก่ "การทำความดี, ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์"
ส่วนกิจกรรมในวันมาฆบูชานั้น แบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ พิธีหลวง พิธีราษฎร์ และพิธีสงฆ์
พระราชพิธี สำนักพระราชวังจะมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชา ออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทุกปี โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระองค์เอง ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่บางปีจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทน
พิธีราษฎร์ สถานศึกษา จะพานักเรียนไปประกอบพิธีในวัด ด้วยการนัดหมายให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย นำเครื่องสักการะไปเวียนเทียนในช่วงบ่ายหรือเย็น ส่วนประชาชนนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปเวียนเทียนกันที่วัดในช่วงเย็น หรือช่วงค่ำ หลังจากฟังโอวาทเสร็จแล้วจะร่วมกันเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์
พิธีสงฆ์ พระสงค์จะเป็นผู้นำประกอบพิธีต่างๆ ให้โอวาท สวดมนต์ แสดงธรรมและประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา และเจริญสมาธิภาวนา
ในวันมาฆบูชาช่วงเย็นถึงค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ โดยเริ่มจากพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชาชนทั่วไป กระทำ 3 รอบ ด้วยการเวียนทางขวาเรียกว่า เวียนแบบทักขิณาวัฏ
รอบที่ 1 ให้รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาคาถา บทอิติปิโส ภควาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
รอบที่ 2 ให้รำลึกถึงคุณพระธรรม โดยภาวนาคาถา บทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
รอบที่ 3 ให้รำลึกถึงคุณพระสงฆ์ โดยภาวนาคาถา บทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา ช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนควรเตรียมภัตตาหารทำบุญตักบาตร ช่วงบ่ายเดินทางไปวัดเพื่อฟังเทศน์ เจริญสมาธิภาวนา และช่วงเย็นเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ หรือร่วมทำบุญเวียนเทียนออนไลน์ได้ที่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรการของรัฐ ลดการแพร่ระบาดของโรคด้วย
ที่มา : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี