ฝุ่นจากการเผาป่า เกิดจากไหน? แก้ยังไง? มารู้คำตอบกับ รศ.ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
วันนี้ (11 ก.พ.68) รองศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยเกี่ยวกับ เหตุการณ์ไฟไหม้ป่า ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และได้กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอีกพื้นที่ที่เป็นจุดมุ่งหมายของใครหลายคนที่ต้องการมาพักผ่อนกับธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร
อำเภอศรีสวัสดิ์เป็นที่ตั้งของเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ ประเภทป่าส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบ ในหน้าแล้ง ใบไม้ร่วงหล่น เป็นเชื้อเพลิงลุกไหม้ได้ง่ายส่งผลให้เกิดไฟป่าและจุดความร้อนในป่าจำนวนมากในช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม ของทุกปี
จะเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม NASA (NASA FIRMS) แสดงจุดความร้อนที่เกิดซ้ำซาก พบส่วนใหญ่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยจุดความร้อนดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายตัวของไร่ข้าวโพด นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังแสดงจุดความร้อนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าสลักพระ ที่ไม่ปรากฎกิจกรรมการใช้ประโยชน์ของมนุษย์อีกด้วย
ถามว่าแล้วสาเหตุของไฟป่าในอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากอะไร จากการประชุมระดมความคิดเห็นของภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีสวัสดิ์ พบว่า การเผาป่าเกิดจากหลากหลายสาเหตุ สรุปได้ 8 สาเหตุ ดังนี้
1.) ชาวไร่ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด 2.)ชาวบ้านและผู้ประกอบการเผาขยะ และไฟลามไปยังพื้นที่ป่า เนื่องจากชุมชนบางพื้นที่ไม่มีระบบจัดการขยะชุมชนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.)ชาวบ้านเผาป่าเพื่อให้ล่าสัตว์ได้ง่ายขึ้น กระตุ้นให้ผักหวานป่าและเห็ดเผาะงอกและเติบโตมากขึ้น 4.) นักท่องเที่ยวจุดไฟตั้งแคมป์กลางป่า และดับไม่สนิท 5.)เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่ป่า ทำให้เดินสำรวจง่ายขึ้น
6.)เจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านทำการชิงเผาและควบคุมไฟไม่ได้ ทั้งนี้ การชิงเผามีจุดประสงค์เพื่อจัดการเชื้อเพลิงในป่าไม่ให้สะสมมากเกินไป ลดผลกระทบจากไฟป่าขนาดใหญ่ ต้องดำเนินการชิงเผาในช่วงสภาพลมฟ้าอากาศเหมาะสม และต้องเตรียมการทำแนวกันไฟ หากไม่มีการวางแผนชิงเผาอย่างดี จะทำให้เกิดไฟลามและควบคุมไม่ได้ 7.)ผู้ขับขี่รถทิ้งก้นบุหรี่ข้างถนน ทำให้ไฟลามไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง และ 8.)หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ทำให้เกิดไฟลุกไหม้
ผู้นำภาคประชาชนในอำเภอศรีสวัสดิ์ ได้เสนอแนวทางในการจัดการไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 13 แนวทาง ดังนี้
1.)เผาเพื่อควบคุมเชื้อเพลิงในป่าด้วยความถี่มากขึ้น โดยจัดให้มีการประชุมวางแผนการชิงเผาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง และชาวบ้าน ทุกปี ก่อนฤดูไฟป่า ทั้งนี้ ชาวบ้านไม่สามารถชิงเผาในพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะเป็นความผิดทางกฎหมาย อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ขาดบุคลากรเพียงพอในการดำเนินการชิงเผาให้ครอบคลุมพื้นที่ป่า จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันวางแผนทั้งสามฝ่าย
2.)มีการจัดทำแนวกันไฟและตรวจสอบแนวกันไฟที่ทำไว้เป็นระยะ ๆ เนื่องจาก เชื้อเพลิงใบไม้อาจทับถมบริเวณแนวกันไฟ ทำให้ไฟสามารถข้ามแนวกันไฟมาได้ กิจกรรมนี้ต้องการงบประมาณในการดูแลรักษาแนวกันไฟตลอดช่วงฤดูแล้ง งบประมาณในส่วนนี้รับผิดชอบโดยฝ่ายปกครอง ซึ่งจำเป็นต้องมีการประชุมวางแผนในการทำแนวกันไฟระหว่างสามฝ่ายอีกเช่นกัน เพื่อใช้ประกอบการของบประมาณประจำปี
3.)ภาครัฐให้ความช่วยเหลือให้ทุกหมู่บ้านมีอุปกรณ์ดับไฟและอุปกรณ์ทำแนวกันไฟให้เพียงพอ 4.)ภาครัฐให้งบสนับสนุนและสวัสดิการแก่อาสาสมัครที่มาช่วยดับไฟ ทำแนวกันไฟ และเฝ้าระวังไฟ อย่างต่อเนื่อง 5.)จัดให้มีบริการรวบรวมและจัดการขยะอย่างเหมาะสมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ชุมชนในป่า 6.)บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในพื้นที่เกษตรกรรมที่ติดกับชายป่า เพื่อป้องกันการเผาเพื่อรุกพื้นที่ป่า 7.)ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวและควบคุมการใช้ไฟในการตั้งแคมป์
8.)เพื่อความระมัดระวังของเจ้าหน้าที่ในการจุดไฟระหว่างการลาดตระเวน 9.)ปรับปรุงข้อกำหนดกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความชุ่มชื้นให้กับป่า โดยการสร้างฝายเล็ก ๆ กระจายทั่วพื้นที่ ทั้งนี้ การสร้างฝายในพื้นที่อนุรักษ์ไม่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่สนับสนุนให้ชาวบ้านดำเนินกิจกรรมนี้เท่าที่ควร
10.)ปรับปรุงข้อกำหนดกฎหมายเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและจัดการไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้ในปัจจุบัน ประชาขนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพันธกิจของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็ไม่ครอบคลุมการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไฟป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงรุนแรงและควบคุมยาก
11.)ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดไฟป่าอย่างจริงจัง 12.)ลดระเบียบขั้นตอนและเอกสารในการเบิกจ่ายงบประมาณในกิจกรรมเครือข่ายป้องกันไฟป่าและรักษาป่า เพื่อให้ผู้นำชุมชนสามารถใช้งบประมาณได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่บั่นทอนกำลังใจกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ และ 13.)ปลูกฝังเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ให้ประชาชนเกรงกลัวต่อผลกรรมจากการทำลายป่า ที่อาจไม่เห็นผลในชาตินี้
รองศาสตราจารย์ ดร. เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า "ไฟป่าส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายครั้งก็เกิดจากความไม่ตั้งใจ ความไม่รู้ หรือความประสงค์ดี การแก้ไขปัญหาควรใช้แนวทางสื่อสารสองทาง ทั้งระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมาย และ ประชาชน ทำความเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็น สร้างมิตรภาพ และทำงานร่วมกัน ใช้ใจและความปรารถนาดีในการสื่อสารระหว่างคนที่คิดดี และใช้กฎหมายสื่อสารกับคนที่คิดชั่ว อย่างจริงจัง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี