เปิดปูม‘หม่องชิตตู’ผู้คุมกำลังBGF ร่วมเนรมิต‘ชเวโก๊กโก่’นิคมแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“การจับตัวคนเหล่านี้ไม่ยาก อยู่ที่เจตจำนงของผู้นำว่าจะเอาหรือไม่เอา จะช่วยหรือไม่ช่วย หากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภัยกับทุกประเทศก็ต้องช่วยกัน”
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวกับสื่อในวันที่ 11 ก.พ. 2568 ภายหลังมีข่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมออกหมายจับผู้นำกองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 ราย ประกอบด้วย 1.พ.อ.ซอชิตตู่ หรือ พ.อ.หม่องชิตตู (Colonel Saw Chit Thu) 2.พ.ท.โมเต โธน (Lieutenant Colonel Mote Thone)และ 3.พ.ต.ทิน วิน (Major Tin Win) ในคดี “ค้ามนุษย์”
ที่มาที่ไปของคดีนี้ สืบเนื่องจากทั้ง 3 เป็นผู้นำกลุ่ม “BGF” หรือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่มีอิทธิพลเหนือพื้นที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา และปล่อยให้กลุ่มมาเฟียจีนมาตั้งฐานปฏิบัติการแก๊งคอลเซ็นเตอร์-มิจฉาชีพออนไลน์ ล่อลวงคนจากทั่วโลกเข้าไปกักขังและบังคับให้หลอกเอาทรัพย์สินจากคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง หากไม่ยอมทำหรือทำไม่ได้ตามเป้าก็จะถูกทำร้ายร่างกาย จนนำมาซึ่งปฏิบัติการ “ตัดไฟ-น้ำมัน-อินเตอร์เน็ต” ของทางการไทย เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2568 เพื่อไม่ให้ทรัพยากรของไทยถูกนำไปใช้ทำเรื่องเลวร้ายดังกล่าว
ซอชิตตู่ หรือที่รู้จักในหน้าสื่อของไทยว่า หม่องชิตตู เคยเป็นผู้บัญชาการกองพันที่ 999 ของกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ซึ่งแยกตัวออกมาจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เมื่อปี 2537 และทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา ซึ่งขณะนั้นปกครองด้วยรัฐบาลทหาร โดย DKBA จะช่วยกองทัพเมียนมาต่อสู้กับกลุ่ม KNU แลกกับการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินและการทหาร
กระทั่งในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุครัฐบาลทหาร กลุ่ม DKBA ได้เข้าร่วมกับกองทัพของเมียนมาอย่างเป็นทางการ ในนามกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และปกครองพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงมาอย่างต่อเนื่องตลอดยุคที่เมียนมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (ปี 2553 – 2564) จนถึงยุคที่เมียนมากลับสู่การปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้ง เมื่อกองทัพเมียนมา นำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ทำรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 อย่างไรก็ตาม ในเดือน ม.ค. 2567 ได้ประกาศแยกตัวจากฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมา และในเดือน มี.ค. ปีเดียวกัน ได้ประกาศตั้งชื่อกลุ่มใหม่ คือ KNA
ชื่อของ หม่องชิตตู ได้รับความสนใจจากประชาคมโลก เนื่องจากถูกมองว่าให้การสนับสนุนองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีนายทุนชาวจีนเป็นผู้นำ ก่อตั้งธุรกิจสีเทาอย่างบ่อนการพนันออนไลน์ ไปจนถึงสีดำอย่างการหลอกลวงทางออนไลน์โดยอาศัยแรงงานบังคับจากการล่อลวงคนทั่วโลก โดยมีการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องงานรายได้ดีในประเทศไทย เมื่อเหยื่อหลงเชื่อเดินทางมายังไทยก็จะถูกพาข้ามชายแดนไปยังเมืองเมียวดี โดยเฉพาะในเขต “ชเวโก๊กโก่ (Shwe Kokko)” และ “เคเค ปาร์ค (KK Park)” ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือและทางใต้ ตามลำดับ ของเมียวดี
วันที่ 8 ธ.ค. 2566 ซอชิตตู ถูกทางการอังกฤษคว่ำบาตร พร้อมกับ เสอจื้อเจียง (She Zhijiang) เจ้าพ่อธุรกิจการพนัน ซึ่งลงทุนในโครงการชเวโก๊กโก่ ย่านเมืองใหม่ในเมียวดี โดย เสอ ถูกจับกุมที่ประเทศไทย เมื่อปี 2565 ตามหมายจับของตำรวจสากล (Interpol) ซึ่งทางการจีนร้องขอให้ออกหมายจับในข้อหาข้อหาประกอบกิจการการพนันผิดกฎหมายและการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ปัจจุบันถูกควบคุมตัวในเรือนจำของไทย ซึ่งเจ้าตัวพยายามร้องขอว่าอย่าส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน
ตามข้อมูลของทางการอังกฤษ ระบุสาเหตุการคว่ำบาตร ซอชิตตู่ ว่า ในฐานะเลขาธิการและที่ปรึกษาอาวุโสของกองกำลังป้องกันชายแดนรัฐกะเหรี่ยง (BGF) และนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ มีหน้าที่รับผิดชอบ ให้การสนับสนุน หรือได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ไปยัง เขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานเป็นนักต้มตุ๋นและถูกปฏิบัติหรือลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
ขณะที่ เสอจื้อเจียง รายงานอธิบายว่า เป็นผู้รับผิดชอบ ให้การสนับสนุน หรือได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ไปยัง เคเค ปาร์ค หรือ ชเวโก๊กโก่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ถูกบังคับให้ทำงานเป็นนักต้มตุ๋นที่มุ่งเป้าไปที่บุคคลที่พูดภาษาอังกฤษ และถูกทรมาน ทารุณกรรมทางร่างกาย และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
ในเดือน ม.ค. 2568 หลังเกิดก็กรณี “ซิงซิง” หรือ หวังซิง (Wang Xing) นักแสดงหนุ่มชาวจีน ถูกล่อลวงมายังประเทศไทยโดยอ้างว่าให้มาถ่ายทำภาพยนตร์ ก่อนถูกพาข้ามแดนไปยังเมืองเมียวดีของเมียนมา จุดกระแสเรียกร้องของชาวจีนต่อรัฐบาลของตน ให้ปราบปรามกลุ่มแก๊งเหล่านี้และช่วยเหลือญาติพี่น้องที่เป็นพลเมืองจีนคนอื่นๆ ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ออกมาด้วย
ขณะที่ทางประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง คือมีชาวไทยตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมากจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และทางอ้อมจากการถูกใช้เป็นทางผ่านในการนำพาเหยื่อค้ามนุษย์ข้ามชายแดน ทำให้เกิดข่าวลือว่าเป็นสถานที่อันตรายโดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน จนมีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจยกเลิกหรือลังเลที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ที่สุดแล้วในการประชุมสภาความมั่นคง (สมช.) ช่วงเย็นวันที่ 4 ก.พ. 2568 จึงมีมติให้ตัดกระแสไฟฟ้า ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต และห้ามขายน้ำมันที่ส่งจากประเทศไทย ไปในพื้นที่ต่างๆ ของเมียนมา รวม 5 จุด รวมถึงในเมืองเมียวดี
ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี