การทำ'มาฆบูชา'ที่แท้จริงหรือถูกต้องตามความหมายคือ'การทำตามพระอรหันต์เป็นอยู่คล้ายพระอรหันต์' : พุทธทาสภิกขุ
การทำตามพระอรหันต์นั้น ไม่ใช่เป็นการอวดดี, ท่านผู้ใดอย่าได้คิดว่า เมื่อพูดว่า "เราจะทำตามพระอรหันต์" ดังนี้แล้วจะเป็นการอวดดี ดังนี้ก็หาไม่ อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ย่อมปัจจเวกขณ์องค์อุโบสถอยู่เป็นประจำทั้ง 8 องค์ แต่ละองค์ๆก็มีว่า “พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านทำอย่างนั้นๆๆ และแม้เราในวันนี้ ก็จะทำตามพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น ด้วยองค์อันนี้ๆ ครบทั้ง 8 องค์แห่งอุโบสถ”. นี้ไม่ถือว่าเป็นการอวดดิบอวดดีอะไร เป็นการตั้งอกตั้งใจจะทำเพื่อความดับทุกข์ เช่นเดียวกับที่พระอรหันต์ท่านทำ
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็เพื่อต้องการจะเป็นอยู่ในวันหนึ่งๆนั้น ให้คล้ายกันกับที่พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเป็นอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ “เราไม่ได้ประกาศว่าเราเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าเราจะทำตามพระอรหันต์ให้สุดความสามารถของเรา โดยเฉพาะในวันอุโบสถ วันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ; แต่ว่าเป็นวันอุโบสถที่ยิ่งไปกว่าวันอุโบสถอื่นๆ คือเป็น “วันมาฆบูชา” ด้วย
การเรียกว่า “มาฆบูชา” แปลว่า การบูชาที่ทำในเดือนมาฆะ เพียงเท่านี้ไม่ค่อยมีความหมายอะไรนัก เพราะเป็นชื่อของเวลา เป็นการกำหนดด้วยเวลา เราควรจะทราบถึงความหมายเสียใหม่ว่า การทำการบูชาในเดือนมาฆะ เพื่อระลึกถึงพระอรหันต์ เพื่อบูชาพระอรหันต์ เพื่อทำตามอย่างพระอรหันต์ ให้เรามีความเป็นอยู่ที่คล้ายพระอรหันต์ให้มากที่สุด ทุกลมหายใจเข้าออกในวันนี้ ทำอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการทำมาฆบูชาที่แท้จริง หรือถูกต้องตามความหมาย
ถ้าทำอย่างอื่น หรือทำอย่างละเมอเพ้อฝัน ทำไปตามธรรมเนียมประเพณี, สรวลเสเฮฮาอย่างใดอย่างหนึ่งไปตามเรื่อง, นั้นเป็นการทำมาฆบูชาของลูกเด็กๆ : ไม่สมควรแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้ประกอบไปด้วยคุณธรรม : ผู้รู้ความหมายของพระอรหันต์ดี ว่ามีอยู่อย่างไร แล้วพยายามจะทำตนให้คล้อยตามให้มากที่สุดที่จะมากได้
ผู้ที่พิจารณาเห็นความหมายอันแท้จริง ของความเป็นพระอรหันต์โดยถูกต้องเท่านั้น ที่จะทำมาฆบูชาให้เป็นมาฆบูชาอย่างถูกต้อง
ความหมายอันแท้จริง ของคำว่า “พระอรหันต์” นั้น ก็คือ ความสะอาด สว่าง สงบ นั่นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ หมายถึงบุคคลที่มีความสะอาดถึงที่สุด มีความสว่างไสวถึงที่สุด และมีความสงบเย็นถึงที่สุด เรียกว่า “พระอรหันต์”
ที่ว่า สะอาด หมายถึง บริสุทธิ์หมดจด ไม่มีบาป ไม่มีความชั่ว ซึ่งเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่มีความลับที่จะต้องปกปิด
ที่ว่า มีความสว่างไสว นั้น หมายถึง ความรู้แจ้ง ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างถูกต้องเต็มตามที่เป็นจริง จนประพฤติปฏิบัติถูกต่อสิ่งทั้งปวง, ไม่มีความทุกข์อันใดเกิดขึ้นมาได้เลย นี้เรียกว่า ความสว่างไสว คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง
ที่เรียกว่า ความสงบ นั้น หมายถึง ความสงบเย็นปราศจากความทุกข์ ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย ไม่ถูกห่อหุ้มพัวพัน ตบตี ทิ่มแทง เผาลน แต่ประการใด จึงนับว่าเป็นความสงบเย็นอย่างแท้จริง
ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ นี้ เรียกเป็นภาษาไทยสั้นๆ เพื่อจำง่าย ความสะอาด ก็คือ สุทธิหรือสุทธิคุณ, ความสว่างก็คือปัญญาคุณ ความสงบก็คือสันติคุณ..."
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : มาฆบูชาเทศนา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2501 หัวข้อเรื่อง "โอวาทปาฏิโมกขปฐมภาคกถา" จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า "มาฆบูชาเทศนา" หน้า 4-5
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี