อบต.โคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ บุรีรัมย์ หนุนชาวบ้านรวมกลุ่มทำข้าวหลามธัญญาพืช ขายไม่ต้องนำไปเผา สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน แต่ใช้วิธีการอบในถังเหล็กขนาด 200 ลิตรแทน ใช้พลังงานน้อย ไอร้อนสุกทั่วถึง ทุกกระบอกยังเขียวดี ลดต้นทุนการผลิต ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อีกด้วย
วันที่ 12 ก.พ.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญ สุขวิบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ พร้อมกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ต.โคกกลาง กำลังช่วยกันบรรจงกรอกข้าวเหนียวที่ผสมเมล็ดธัญญาพืช ลงในกระบอกไม้ไผ่ ก่อนจะราดด้วยน้ำกะทิคั้นสดลงทับอีกรอบ แล้วนำใบเตยกับขุยกาบมะพร้าวมาปิดจุกอีกชั้น ก่อนจะนำลงไปใส่ในถังเหล็กขนาด 200 ลิตร ที่ใช้เป็นเตาเผาข้าวหลามดังกล่าวซึ่งสามารถเผาข้าวหลามได้ต่อครั้งละประมาณ 30 กระบอก
โดยเตาเผาดังกล่าวเป็นไอเดียการประดิษฐ์คิดค้น ร่วมกันระหว่าง นายเจริญ สุขวิบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กับเพื่อนชาว จ.พังงา ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำข้าวหลามธัญญาพืช ขายให้กับเพื่อนบ้าน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ในการออกบูธงานกิจกรรมต่างๆของ อบต. อำเภอ และระดับจังหวัด ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านจะทำการเผาข้าวหลามในที่โล่งแจ้ง ก็จะก่อให้เกิดกลุ่มควันและฝุ่นละอองคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน และยังใช้เชื้อเพลิงในการเผาแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก รวมถึงข้าวหลามในแต่ละกระบอกก็จะสุกไม่ทั่วถึง หรือสุกไม่เท่ากัน อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันและลดปัญหาการเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังเกิดปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในขณะนี้
ทาง อบต.โคกกลาง โดยนายก อบต. จึงได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายที่เป็นกลุ่มสมาชิกเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จึงได้คิดค้นเตาเผาข้าวหลามประหยัดพลังงานดังกล่าวขึ้น โดยการนำถังน้ำมันเก่าที่เป็นถังเหล็กขนาด 200 ลิตร มาผ่าครึ่งแนวตั้ง แล้วทำช่องสำหรับใส่วางกระบอกข้าวหลามโดยรอบตัวถัง จำนวน 2 ชั้นๆละประมาณ 15 กระบอก แล้วตรงกลางถังทำเป็นช่องตะแกรงไว้สำหรับถ่านไฟ แล้วทำปล่องควันด้านบนไว้ระบายความร้อน 2 ปล่อง เพื่อให้ความร้อนภายในนั้นหมุนเวียนได้ทั่วถึง และทำฐานยกขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ 20-30 เซนติเมตร
เมื่อจะทำการเผาข้าวหลาม ก็นำบ้องข้าวหลามที่เตรียมไว้บรรจุใส่ตามช่องที่เตรียมเอาไว้ ก่อนจะนำถ่านไฟใส่บริเวณตะแกรงตรงกลางตัวถัง แล้วทำการปิดถังไว้ ประมาณ 30 นาที มาเปิดดูถ่านหากถ่านใกล้จะมอดก็เติมถ่าน แล้วขยับพลิกกระบอกข้าวหลาม เพื่อให้หันด้านข้างให้โดนความร้อนให้ทั่วถึงกัน รอประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วแต่คุณภาพของถ่านที่ใช้ ข้าวหลามก็จะสุกหอมกรุ่นทั่วถึงกันทุกกระบอก ทั้งๆที่กระบอกไม้ไผ่ยังคงความเขียวอยู่ เมล็ดข้าวเหนียวสุกทั่วถึง แกะง่ายไม่ติดกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งถือว่าเป็นการประหยัดต้นทุน ใช้เวลาน้อย ประหยัดถ่านกว่าการเผาข้าวหลามเหมือนโดยทั่วไปที่เผาในที่โล่งแจ้ง ที่ต้องใช้ถ่านและไม้ฟืนเป้นจำนวนมาก และที่สำคัญยังไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควัน PM2.5 เหมือนที่หลายคนหวาดระแวงอีกด้วย
นายเจริญ สุขวิบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้านในพื้นที่จะเผาข้าวหลามกินกัน ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว และในช่วงหน้าหนาว ซึ่งเป็นข้าวหลามธรรมดาไม่มีใส่ไส้เหมือนในหลายจังหวัด ทาง อบต.ฯจึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ทำข้าวหลามธัญญาพืช ซึ่งมีทั้งถั่วดำ ลูกเดือย เผือก ฟักทอง หรือผลผลิตที่มีในชุมชน นำมาทำเป็นข้าวหลามธัญญาพืชไว้จำหน่ายให้กับเพื่อนบ้านและประชาชนทั่วไป โดยชาวบ้านได้มีการรวมตัวกันทำเป็นกลุ่มอาชีพ ทำข้าวหลามธัญญาพืช และได้พัฒนาเข้าประกวดในโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ของธนาคารออมสินที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
แต่เดิมชาวบ้านจะทำการเผาข้าวหลามในที่โล่งแจ้ง ก่อให้เกิดกลุ่มควันรบกวน และข้าวหลามก็จะสุกไม่สม่ำเสมอกัน หากไม่คอยพลิกข้าวหลามไปมา และความร้อนไม่คงที่ รวมถึงใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานต่อการข้าวหลามในแต่ละครั้ง
ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน และลดปัญหาการเกิดฝุ่นควัน ซึ่งการเผาก็เป็นอีกต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ทาง อบต.ฯจึงได้คิดค้นนวัตกรรมการเผาข้าวหลามขึ้น นอกจากก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่รวมกลุ่มอาชีพทำข้าวหลามขาย จึงได้คิดค้นนวัตกรรมจากถังเหล็ก 200 ลิตร มาดัดแปลงทำเป็นเตาเผา ซึ่งต้นทุนในการผลิตก็น้อย
ส่วนประโยชน์ที่ได้มีทั้งลดระยะเวลาในการเผา ลดการใช้พลังงานเพราะเตาเผานี้ไม่เปลืองถ่าน และยังไม่สร้างฝุ่นควันที่ก่อให้เกิดความรบกวนเพื่อนบ้านด้วย เพราะมีควันหรือไอความร้อนออกมาข้างนอกน้อยมาก หากเทียบกับการเผา หรือปิ้งย่างอาหารต่างๆ เพราะความร้อนที่ใช้ไม่ต้องใช้ไฟแรงมาก อีกทั้งถังเหล็กนี้ยังเก็บรักษาความร้อนได้เป็นอย่างดีด้วย สำหรับระยะเวลาที่ใช้เผาข้าวหลามในแต่ละครั้งประมาณ 1-2 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของถ่านที่ใช้เผา หากเป็นถ่านไม้เนื้อแข็ง เช่น ถ่านจากไม้มะค่าแต้ ก็จะให้ความร้อนได้ดีใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ข้าวหลามก็จะสุกได้กินแล้ว ทั้งๆ ที่กระบอกข้าวหลามยังคงสีเขียว ไม่ไหม้เกรียมเหมือนข้าวหลามที่เผาโดยทั่วไป
ตอนนี้ได้มีการดำเนินการมาแล้วเป็นระยะเวลา 1 ปี ยังไม่เห็นว่าอุปกรณ์เตาเผาที่ใช้เผาข้าวหลาม จะมีความสึกกร่อนแต่อย่างใด และคาดว่าอายุใช้งานต่อถังไม่น่าจะต่ำกว่า 4-5 ปี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี