ไปดูต้นไม้เศรษฐกิจที่สวยๆ จากฝีมือชาวบ้านราคาหลักล้าน ในงานประกวดบอนไซ ไม้ดัด หรือไม้แคระในกระถางที่วัดมหาธาตุวรวิหาร เมืองราชบุรี มีหลากหลายรูปแบบจากทั่วประเทศนำมาประกวดแข่งขัน แต่ละต้นใช้เวลานานหลายสิบปีถึงจะได้ฟอร์มที่สวยงาม
วันนี้ (12 ก.พ.68) ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร พระอารามหลวง อ.เมือง จ.ราชบุรี ได้มีการจัดงานประกวดบอนไซ ไม้ดัดเลี้ยงในกระถางเพื่อความสวยงาม เนื่องในโอกาสงานนมัสการพระมหาธาตุ และเทศกาลวันมาฆบูชา ประจำปี 2568 จัดโดยนายพิศิษฐ์ อริยะอมรกุล นายกสมาคมบอนไซไทย นายละมูล รอดเคราะห์ ประธานชมรมบอนไซราชบุรี และนายธนิศร ศรีก๊กเจริญ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ปีนี้มีการนำไม้หลากหลายสายพันธุ์ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้พื้นถิ่น ไม้หายากที่มีฟอร์มหรือรูปทรงแปลกๆ นำมาประกวดกันอย่างคึกคัก อย่างบอนไซ ไม้ดัด หรือต้นไม้แคระเลี้ยงในกระถาง
เช่น ต้นตะโก ต้นสนทะเล ต้นโมก ต้นมะขาม ต้นหมากเล็กหมากน้อย แต่ละต้นมีอายุนับสิบปี เช่น ต้นโมกต้นเล็กๆ ของนายธนา น้อยแก้ว จากชมรมบอนไซ จ.ระยอง ได้นำมาประกวดให้ข้อมูลว่า ต้นนี้เรียกว่าต้นโมกหนูติ๊ด อายุการเลี้ยงประมาณเกือบ 20 ปีลักษณะลำต้นอวบอิ่มเตี้ยกำลังออกดอกเต็มต้น มีกลิ่นหอมเล็กราคาอยู่ที่ต้นหลักแสนบาท ยังมีต้นสนทะเล เป็นไม้ป่าที่ขุดมาเลี้ยงอายุประมาณ 7 ปี เจ้าของนำมาจาก จ.ระยองเช่นกัน ลักษณะรูปทรงฟอร์มเป็นพุ่มชั้น การตัดแต่งกิ่งใบให้โปร่งดูสวยงาม อีกต้นที่น่าสนจะเป็นต้นตะโกของเจ้าของโรงโอ่งรัตนโกสินทร์ 4 ราชบุรี ที่เพาะเลี้ยงมานานไม่ต่ำกว่า 30 ปี ลักษณะทรงพุ่ม โคนใหญ่มีรากโผล่ขึ้นมาให้เห็น ใบเป็นสีเขียวมันวาวและไม้ดัดอีกหลายสายพันธุ์ที่เกาะกับโขดหินทรงแปลกตาแต่ละต้นสวยงามยิ่ง
นายพิศิษฐ์ อริยะอมรกุล นายกสมาคมบอนไซไทย กล่าวว่า เนื่องจากที่ ต.เขาแร้ง อ.เมือง จ.ราชบุรี เป็นต้นกำเนิดของประดิษฐ์บอนไซ อันดับต้น ๆ ของประเทศไทย มีศิลปินที่มีบอนไซอยู่มาก มีการเลี้ยงต้นไม้เป็นอาชีพ และได้เลือกวัดมหาธาตุวรวิหาร เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานที่มีสถานที่เก่าแก่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักบอนไซที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยก่อนมีการประดับกันอยู่ในวัง มีการค้าขายกันกับต่างประเทศ
โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นได้นำไม้เข้ามาเป็นรูปแบบบอนไซ เขาแร้งเป็นแหล่งที่ขุดต้นไม้เป็นเจ้าแรกของประเทศ และมีการสืบสานมาถึงปัจจุบันนี้ มีการประกวดไม้บอนไซตั้ง พ.ศ.2519 ปัจจุบันได้มีไม้ที่ประกาศกันมาเป็นบอนไซประจำชาติไทย คือ ต้นตะโก พอประกาศไปแล้ว ต่างประเทศให้ความสนใจ หลากหลายประเทศพยายามที่จะหาไม้เป็นเอกลักษณ์ของบอนไซประจำชาติของตนเอง เราพูดได้เต็มภาคภูมิใจว่า ไทยได้ประกาศแทบว่าจะเป็นชาติแรกของโลก เนื่องจากไม้ตะโกมีอายุที่ยืนยาว เป็นไม้ที่อยู่ในพระราชวัง ปัจจุบันยังคงมีอยู่ในวัดพระแก้วเป็นความภาคภูมิใจของคนเล่นบอนไซ และยังเป็นสินค้าส่งออกด้วย
นายธนิศร ศรก๊กเจริญ ผอ.อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ชมรมบอนไซราชบุรี ขึ้นอยู่กับสมาคมบอนไซแห่งประเทศไทย ส่วนของราชบุรี จะมีการจัดกิจกรรมปีหนึ่ง 3 ครั้ง ช่วงเดือนมกราคมกำหนดจัดที่ห้วยยาง ครั้งที่ 2 ทุกจังหวัดทั่วประเทศจะต้องมาดูงานที่วัดมหาธาตุวรวิหารราชบุรี ครั้งที่ 3 จัดที่ตำบลเขาแร้ง สำหรับการทำบอนไซจะส่งผลดีเรื่องการสร้างชื่อเสียงแก่ จ.ราชบุรี ยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของคนในพื้นที่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเวลาจัดงานแต่ละครั้งเห็นว่า รอบ ๆ งานจะมีการนำต้นไม้เรียกว่าไม้โครงสร้างมาจำหน่าย คาดว่าวันนี้จะมีเงินสะพัดหลายแสนบาททำให้คนมาขายของราชบุรีมีรายได้ เช่น หินของราชบุรีจะเหมาะในการนำมาเกาะกับต้นไม้ เพราะเกร็ดของหินมาจากยอดเขา เรียกว่าเกร็ดหนังช้าง เวลาเกาะไม้จะไม่ลื่น และเวลาดูจะสวยงามเป็นเอกลักษณ์
ส่วนพันธุ์ไม้ทำให้เกิดรายได้ให้แก่คนในพื้นถิ่น โดยโดยเฉพาะความนิยมต้นตะโก เป็นไม้ประจำชาติของประเทศไทย มีทั้งต้นตะโกที่ขุดจากแหล่งธรรมชาติและปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน การอนุบาล ตัดแต่งราก ขายได้ตั้งแต่ต้นเล็ก ๆ สร้างมูลค่าให้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยรุ่นก็หันมานิยมเล่นบอนไซ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ลงมาถึงขนาดเล็กเรียกว่าไม้จิ๋วมีขนาด 20 ซม.สามารถเลี้ยงได้ในชีวิตประจำวันกับคนที่มีพื้นที่น้อยก็เลี้ยงได้
นอกจากนี้นายกสมาคมบอนไซไทยยังกล่าวถึงราคาอยู่ที่ความสวยงามของต้นไม้ และพันธุ์ไม้ ความเก่าแก่รูปทรงเป็นอย่างไร ราคามีตั้งแต่หลักล้านบาท ลงมาถึงหลักพันบาท สมัยก่อนขายกันต้นละ 5 บาท เรื้อยขึ้นมาจนถึงราคาแพง สำหรับบอนไซเป็นศิลปะแขนงหนึ่งไม่มีขีดจำกัดว่าจะต้องทำรูปทรงออกมาเป็นอย่างไร อยู่ที่จินนาการของแต่ละคน เวลานำมาประกวดจะมีออร่าออกมาให้กรรมการได้เห็นดูแล้วจะดึงดูดสายตามาก ต้นสวยงาม ความละเอียดพร้อมหมด เหมือนการประกวดนางงามที่จะต้องดูความสวยงามแบบนั้น ซึ่งการเลี้ยงบอนไซถือเป็นไม้ที่ต้องใช้เวลา บางต้นมีระยะเวลาถึง 40-50 ปีก็มีมาแล้วไม่เหมือนเลี้ยงไม้ทั่วไป เพราะจะต้องผ่านการตัดทด บอนไซคือ การจำลองไม้ใหญ่ให้อยู่ในกระถาง ทำให้ต้องใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะต่างประเทศขายกันต้นละเป็นร้อยล้านบาท เป็นเรื่องจริง คนที่ก้าวเข้ามาสู่วงการบอนไซถือว่าโชคดี
หลังจากนั้นนายกสมาคมบอนไซไทย ได้พาเดินชมบอนไซหลายต้น มาหยุดอธิบายความงามที่ต้นตะโกที่ทรงเอน ลำต้นสีดำ ซึ่งต่างประเทศมี แต่ผิวจะไม่เหมือนต้นตะโกของไทย โดยประเทศที่นับถืออิสลามจะมีความเชื่อว่าสีดำคือสีของความศักดิ์สิทธิ์ จะดีกับไม้ที่นำไปเลี้ยง เป็นไม้รูปทรงสวยงามจากธรรมชาติที่เติบโตออกมาเป็นลักษณะนี้ และได้นำมาใส่จังหวะช่องชั้นต่าง ๆ ให้สวยงาม ซึ่งไม้ตะโกนี้ทางสมาคมประกาศเป็นไม้บอนไซประจำชาติไทยแล้ว
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดประกวดกล้วยไม้สวยงามสายพันธุ์ต่างๆ พร้อมทั้งจำหน่วยพันธุ์กล้วยไม้จากฟาร์มและผู้นิยมเลี้ยงกล้วยไม้จากสวน นำมาจำหน่ายเองในราคาถูก เพื่อให้ประชาชนที่สนใจนำไปเลี้ยงประดับบ้าน สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ นายละมูล รอดเคราะห์ ประธานชมรมบอนไซราชบุรี 099-5456355
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี