“พระธรรมทูตไทยได้เผยแผ่พระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายาวนาน ในประเทศและต่างประเทศ โดยมิได้เฉพาะเจาะจงต่อพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่การเผยแพร่พระธรรมที่เป็นไปเพื่อยังประโยชน์แก่มนุษย์ทั่วโลก เหตุเพราะมนุษย์แม้ต่างชาติ – ต่างศาสนา เราก็มีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือความทุกข์”
ความตอนหนึ่งจากสัมโมทนียกถา โดย พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 11 ในงานประชุม SAMVAD ครั้งที่ 4 วันแรกที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2568 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ อาคารองค์การสหประชาชาติ (UN) กรุงเทพฯ ซึ่งรวมผู้นำศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณจากนานาชาติ มาร่วมกันหาทางออกใน 2 ประเด็นสำคัญ อย่าง “การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (Conflict Avoidance)”กับ “ความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Consciousness)” อันเป็นวาระใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
พระพรหมสิทธิ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมนุษย์อยู่ในโลกยุคใหม่ กำลังเผชิญกับความขัดแย้ง ภัยสงคราม การช่วงชิงทางภูมิศาสตร์ สงครามการค้าและอำนาจที่ท้าทายความเท่าเทียม ขณะที่สิ่งแวดล้อมก็ทวงความยุติธรรมเพราะถูกทำลายมาเนิ่นนาน ทั้งนี้ การประชุม SAMVADครั้งที่ 4 อยู่ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 21พร้อมกันกับศตวรรษแห่งเอเชีย เป็นความสัมพันธ์ที่ดี มีความเข้าใจดีระหว่างศาสนาต่างๆ ในโลก โดยยึดความเป็นมนุษย์ด้วยกันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน รับรู้คุณค่าที่เพิ่มศาสนาของกันและกัน และร่วมกันสร้างสรรค์สันติภาพในสังคม
ขณะที่ พระธรรมโพธิวงศ์ ประธานคณะธรรมทูตไทยในอินเดียและเนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เมืองพุทธคยา กล่าวสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า แผ่นดินแห่งพุทธภูมิ หมายถึงแผ่นดินอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ให้กำเนิดแสงสว่างแก่ชาวโลก คือ การประกาศสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดหลักธรรมเพื่อสันติ ที่เว้นจากการเบียดเบียนว่าร้าย มีขันติธรรมเป็นที่ตั้งมีจิตใจเข้มแข็งเหนืออำนาจแห่ง โลก - โกรธ - หลง
“ขอแสดงหลักธรรมอันเป็นแนวความคิดของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ‘ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจารี’ ธรรมะเท่านั้นจะรักษาผู้ประพฤติธรรมโลกทั้งหลายที่มีความวุ่นวายสับสน จะดับลงได้ด้วยหลักธรรม อันเป็นเครื่องคุ้มครองโลก 2 ประการ คือ ‘หิริ’ ความละอายแก่ใจ“โอตตัปปะ” ความเกรงกลัว นี่คือสายธารแห่งธรรม จากสายธารแห่งคงคา สายธารแห่งน้ำโขง รวมกับสายธารแห่งเจ้าพระยา ทำให้ความงามของเรานั้นร่วมกัน คือความสันติสุข – สันติภาพ ให้เกิดขึ้นโดยแน่แท้” พระธรรมโพธิวงศ์ กล่าว
สำหรับการประชุม SAMVAD นั้นจัดมาแล้ว 3 ครั้งครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2558 ที่อินเดีย ครั้งที่ 2 ที่เมียนมา ในปี 2560 และครั้งที่ 3 ในปี 2562 ที่มองโกเลีย กระทั่งล่าสุดคือครั้งที่ 4ในปี 2568 ณ ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.พ. 2568 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร Vivekananda International Foundation India (VIF) สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980, ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, International Buddhist Confederation (BC), Japan Foundation-Japan (TBC)
โดยงานในวันที่ 14 ก.พ. 2568 จัดที่ศูนย์ประชุม UN กรุงเทพฯ กิจกรรมในช่วงเช้า มีการกล่าวสัมโมทนียกถา โดย พระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 11 และ พระธรรมโพธิวงศ์ ประธานคณะธรรมทูตไทยในอินเดียและเนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เมืองพุทธคยา และเวทีอภิปรายระดับรัฐมนตรี
ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นเวทีโต๊ะกลมของผู้นำศาสนาและผู้นำทางจิตวิญญาณ และการประชุมเชิงวิชาการเรื่องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นวันที่ 15 ก.พ. 2568 จัดที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา และวันที่ 16 - 17 ก.พ. 2568 จัดที่โรงแรม
โซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่
ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย980 กล่าวว่า โลกยุคใหม่อยู่ท่ามกลางการแข่งขัน อยู่บนพื้นฐานของการเอาเงินและอำนาจเป็นสรณะหรือที่ตั้งของชีวิต จริงอยู่เราไม่ปฏิเสธความมั่งคั่งเพราะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน เป็นธรรมชาติของชีวิต แต่สิ่งที่เห็นคือคนมีเงินมีอำนาจกลับหลงไปกับความโลภหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่อำนาจที่มีหรือเงินแม้แต่บาทเดียวก็นำติดตัวไปไม่ได้เมื่อตายไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกก็มาจากคนมีอำนาจและมีเงิน คนมีเงินก็ใช้เงินแสวงหาอำนาจ ส่วนคนมีอำนาจก็ใช้อำนาจแสวงหาเงิน สภาวะแบบนี้ทำให้โลกไม่ปกติ
“มนุษย์มีความเป็นปกติคือไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น แต่วันนี้เราไม่ได้สนใจคนอื่นเลย แสวงหามาซึ่งสิ่งที่เอาไปไม่ได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะอยากจะกลับมาใช้ความเชื่อในอดีตกาล ซึ่งเราใช้หลักธรรมนี้ขึ้นมา ง่ายๆ ก็คือการใช้สีลา คือไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน แต่มันไม่ได้เป็นเครื่องบอกว่าเรามีปัญญาเราอาจทำผิดพลาดได้” ดร.สุภชัย กล่าว
ดร.สุภชัย กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือชีวิตของเราประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน - น้ำ - ลม - ไฟ และไม่ว่าคนรวยคือคนจน สุดท้ายทุกคนล้วนต้องตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ขณะที่อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าหลง โกรธ โลภ อิจฉาริษยา ฯลฯ ทุกอย่างมีเกิดและดับ ไม่มีใครหัวเราะหรือเสียใจจนตาย นี่คือสัจจะหรือความจริง ซึ่งตนเห็นว่าหากถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่ผู้นำที่วันนี้เป็นปัจฉิมวัย ซึ่งตนเชื่อว่าลึกๆ ทุกคนเข้าใจตรงนี้อยู่ เพียงแต่อาจละเลยเพราะหลงอยู่กับโลกของคอนกรีตและการแสวงหา จึงนำมาซึ่งการจัดงานในครั้งนี้
ด้าน มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุม SAMVAD ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 ริเริ่มโดย 2 สถาบัน และมีหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุน ซึ่งรวมถึงสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย จึงเป็นโอกาสเหมาะสมที่ผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้ที่ยึดมั่นใจหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ความสำคัญกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ที่จะนำไปสู่การปรองดอง ละเว้นการขัดแย้งระหว่างกัน รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน
“ทุกท่านคงทราบดี หลังจากที่โลกทั้งใบตกอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ มีการแบ่งข้างกัน ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันมากยิ่งขึ้น มีการแบ่งแยกกันมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี