“ขณะนี้มีสินค้า มีตุ๊กตาจากประเทศจีนที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตุ๊กตาที่ชาวบ้านราชบุรีผลิตส่วนใหญ่ก็จะเป็นตุ๊กตาผ้าชนิดต่างๆ ที่มีขนและไม่มีขน แรงงานก็อยู่ในจังหวัดราชบุรีทั้งสิ้น ก่อนหน้านี้ในปี 2540 เรารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มหัตถกรรมตุ๊กตา มีหน่วยงานภาครัฐมากมายเข้ามาสนับสนุน มาหาสถานที่จัดจำหน่ายให้ เป็นสินค้า OTOP แต่ว่าเมื่อก่อนมีสมาชิก 1,500 คน ประกอบด้วยผู้ประกอบการ ร้านค้าและช่างฝีมือแรงงาน พอสินค้าจีนเข้ามาตอนนี้ ผลิตภัณฑ์ของพวกเราสู้ราคาของจีนไม่ได้”
เสียงสะท้อนจาก อุระษา เหลาโชติ กรรมการเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคกลาง ในฐานะ “กลุ่มผลิตตุ๊กตา จ.ราชบุรี” ซึ่งได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักเข้าไทยของ “สินค้าจีน” ที่ได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต ไหนจะมีราคาที่ถูกกว่า อีกทั้งในขณะที่ตุ๊กตาที่ผลิตในประเทศไทย ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) แต่สินค้าจีนที่เข้ามาขายกลับไม่ต้องทำแบบเดียวกัน
เรื่องราวของ อุระษา ถูกบอกเล่าในงาน “สมัชชาแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2568” จัดโดยสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงวันที่ 9-10 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา โดยเป็นงานที่มีตัวแทนภาครัฐและภาควิชาการ มาร่วมรับฟังปัญหาของแรงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ เช่น หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลูกจ้างทำงานบ้าน คนรับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยก็ไม่ดี ทำให้รายได้และความสามารถในการแข่งขันของเราลำบาก ในขณะที่จีนผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าอยู่แล้วด้วยปริมาณคนและทรัพยากร จีนจึงได้ประโยชน์จากการผลิตขนาดใหญ่ (Economy of Scale) แม้กระทั่งประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ยังออกท่าทีเกรี้ยวกราดกับจีน ประกาศตั้งกำแพงภาษี บอกว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หลังสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ สหภาพยุโรป (EU) ที่ออกท่าทีแบบเดียวกับสหรัฐฯ แต่ดูจะเป็นรูปแบบที่มีเหตุผลมากกว่า โดยยุโรปใช้มาตรการด้านมาตรฐานต่างๆ อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อม เรื่องมนุษยธรรม เช่น มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานนักโทษหรือไม่ ตลอดจนความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งยุโรปทำแบบนี้มานานแล้วและไม่ได้ใช้แต่เฉพาะกับสินค้าจีน เพื่อปกป้องสินค้าในประเทศของตนเอง ซึ่งหากประเทศไทยจะควบคุมสินค้านำเข้าจากจีน ก็น่าจะใช้เหตุผลทำนองเดียวกัน
“จริงๆ การเข้ามาของสินค้าจีน โดยหลักการทฤษฎี ถ้าเข้ามาโดยสินค้าเขาถูกกว่ามันก็เป็นประโยชน์ในด้านหนึ่งกับผู้บริโภคที่สามารถจะได้ซื้อของที่ราคาถูกแล้วก็มีความหลากหลายมากขึ้นดังนั้นก็มองในอีกด้านหนึ่งก็คือเป็นประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่งถ้าเรามองแล้วเราไม่ปกป้องอะไรเลย มันก็ทำให้ผู้ที่อยู่ในประเทศของเราที่ผลิตสินค้าเหล่านั้นได้รับผลกระทบ” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
รศ.ดร.กิริยา กล่าวต่อไปว่า หลายประเทศดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศจนแข็งแรงในระดับหนึ่งแล้วจึงค่อยเปิดเสรี เช่น ด้านหนึ่งเก็บภาษีสินค้านำเข้า แต่อีกด้านก็พยายามสร้างผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้มแข็ง ดังนั้นหากไทยจะรับมือสินค้าจีน ต้องควบคุมเรื่องมาตรฐาน อาทิ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ในระดับเดียวกับสินค้าไทย ต้องจ่ายภาษีในลักษณะทัดเทียมกับผู้ประกอบการในไทย เพื่อให้การแข่งขันที่นอกจากจะเสรีแล้วยังต้องเป็นธรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการช่วยเหลือหรือสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ที่ระยะแรกเปรียบเหมือนเด็กทารกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีร่างกายแข็งแรงสามารถแข่งขันกับผู้ใหญ่จากชาติอื่นๆในโลกได้ ก็ต้องระมัดระวังกลุ่ม “เฒ่าทารก” ที่หมายถึงอุตสาหกรรมยอมเป็นทารกไปเรื่อยๆ เพื่อให้รัฐโอบอุ้ม หรือท้ายที่สุดแล้ว“บางอย่างที่จีนทำได้ดีกว่าแบบที่สู้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องยอมถอยเพื่อไปหาโอกาสอื่น” ซึ่งก็มีสิ่งที่จีนยังทำไม่ได้ เช่น การบริการ ที่จะเป็นช่องทางและโอกาสของคนไทย
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า การสั่งสินค้านำเข้าจากจีน ยอมรับว่ายุคนี้ป้องกันยากมาก ขายของออนไลน์ทุกคนสั่งจากจีนกันหมด รายย่อยก็สั่ง ส่งไปรษณีย์มาจะคุมอย่างไร ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับแนวคิดของ รศ.ดร.กิริยา ที่บอกว่าอะไรจีนทำได้ดีกว่าและไทยก็มีโอกาสน้อย ไทยก็ควรไปทำในเรื่องที่จีนทำไม่ได้ ซึ่งก็มีอยู่
โดยจุดแข็งของไทยคือ “ใครๆ ก็อยากมาอยู่” หากให้เปรียบเทียบระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีปัญหาเหมือนกันเรื่องจำนวนคนเกิดน้อยกว่าคนตาย จีนจากที่เคยเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแต่ปัจจุบันถูกอินเดียแซงขึ้นไปแล้ว ส่วนไทยก็มีสถิติคนเกิดน้อยกว่าคนตายต่อเนื่องมา 4 ปี แต่คำถามคือจะมีสักกี่คนที่อยากย้ายไปอยู่ประเทศจีน ในขณะที่มีคนอยากย้ายมาอยู่ประเทศไทยมากกว่า นี่คือโอกาสที่มีอยู่
“ความเป็นไทย อาหารไทย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไทย มันเป็นของที่ขายได้ ขอเพียงให้การขายให้อิสระกับประชาชนมากกว่านี้ ไม่ใช่ไปให้ผูกขาด” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี