เปิดประวัติ "หลวงพ่อทอง ญาณทีโป" วัดดอนสัก อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พระผู้ที่ประกอบไปด้วยความเมตตา นักอนุรักษ์ ขณะที่เหรียญ "หลวงพ่อทอง" ที่สร้างเมื่อปี 2544 หมดเกลี้ยง ชาวบ้านและเซียนพระแห่เช่า หลังตาวัย 70 ขับ จยย.ถูกเก๋งพุ่งชนพลิกคว่ำทับรอดปาฏิหาริย์
หลังจากเกิดเหตุการณ์ซึ่งเป็นอุบัติเหตุรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า สีขาว พุ่งชนท้ายรถยนต์เก๋งยี่ห้อมิตซูบิชิ มิราจ สีดำ ที่บริเวณถนนหมายเลข 1043 เยื้องเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ก่อนพุ่งชนรถจักรยานยนต์ซูซูกิ อากิร่า ของตาโพธิ์ หรือนายโพธิ์ จันมา อายุ 70 ปี ชาวบ้านนารีหมู่ 3 ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จนรถเก๋งพลิกคว่ำหงายท้องรถ จยย.พังยับเยิน ส่วนตาโพธิ์ ถูกรถเก๋งทับอยู่ใต้รถและได้คลานออกมาจากรถได้อย่างปลอดภัย โดยมีรอยแผลเพียงเล็กน้อย เท่านั้น ซึ่งตาโพธิ์ บอกว่าที่ตนเองรอดเสียชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์เพราะห้อย "เหรียญหลวงพ่อทอง หรือพระครูสุวรรณวรวุฒิ (ทอง ญาณทีโป) วัดดอนสัก อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เหตุเกิดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ.68 ที่ผ่านมา
หลังกระแสข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปได้มีชาวบ้านทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ พร้อมทั้งเซียนพระในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจมาขอเช่าเหรียญหลวงพ่อทอง กันจำนวนมาก ซึ่งทางวัดก็ได้นำออกมาให้เช่าบูชากันในราคาเหรียญละ 100 บาท ซึ่งมีเพียงเหรียญทองกับเหรียญทองแดง เท่านั้น ล่าสุดทางวัดแจ้งว่าขณะนี้เหลือเพียงประมาณ 100 เหรียญเท่านั้น
ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า เหรียญหลวงพ่อทอง ตอนนี้ถูกเช่าเกือบหมดแล้ว ซึ่งเหรียญหลวงพ่อทอง รุ่นนี้สร้างเพียงรุ่นเดียว สร้างและมีพิธีปลุกเสกเมื่อปี 2544 วัตถุประสงค์การสร้างเพื่อหาทุน "พระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อทอง" อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนสัก ที่มรณภาพในปีนั้น
สำหรับ พระครูสุวรรณวรวุฒิ (ทอง ญาณที่โป) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนสัก ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มรณภาพเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2544 สิริอายุ 69 ปี พรรษา 48 วิทยฐานะนักธรรมเอก ป.ธ.5 เดิมชื่อนายทอง นามสกุล กุลคง เกิดเมื่อวันเกิด วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 บิดาชื่อ นายเปียง มารดาชื่อ นางปี อยู่บ้านเลขที่ 138 หมู่ที่ 3 ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน คือนางแก้ว ดีมูล, พระครูสุวรรณวรวุฒิ, นายบุญ กุลคง, นางเงิน ศรีมงคล, พระจำรัส อาภาธโร (วัดมหาธาตุกรุงเทพฯ) และ นางคำพวงยะ
บรรพชา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2491 วัดเจดีย์คิรีวิหาร ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดจุตรดิตถ์ พระธรรรมฐีติวงศ์ศรีเขต เป็นพระอุปัชฌาย์
อุปสมบท เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2497 วัดดอนสัก ตำบลฝ่ายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ พระครูธรรมเนตรโสภณ เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสูวรรณวรรวุฒิ หรืออาจารย์ของ เป็นพระนักปฏิบัฏิบัติ ดำเนินสมณกิจอย่างเสมอต้นเสมอปลายมีความมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนศานุศิษย์ทุกคนให้เป็นคนดี มีความรู้ทั้งเพื่อเตรียมตัวออกไปสู่สังคมและเพื่อที่จะสืบทอดพุทธศาสนา โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ท่านปรากฏตัวที่ใด จะพูดหรือไม่พูดก็สอนลูกศิษย์อยู่ตลอดเวลา ถ้าลูกศิษย์คนใดมีพฤติกรรมที่นอกเหนือไปจากความคาดหวัง ท่านก็จะวิเคราะหโดยการบันทึกพฤติกรรมเพื่อหาทางแก่ไขทุกคมไป
ท่านเป็นผู้ที่ประกอบไปด้วยความเมตตา ในบรรดาลูกศิษย์ทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าไปอยู่ภายใต้การปกครองของท่าน ไม่มีคนใดได้เห็นท่านลงโทษด้วยการเฆี่ยนดี หรือวิธีการที่รุนแรงเลย มีแต่ให้บำเพ็ญประโยชน์ เช่นถอนหญ้า ทำความสะอาดบริเวณวัด หรือห้องน้ำห้องส้วม เป็นต้น
ท่านเป็นนักอนุรักษ์ เห็นความสำคัญของธรรรมชาติโดยเฉพาะต้นไม้ว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อทุกคน รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ด้วย ในบริเวณวัดที่ท่านดูแลอยู่จะไม่ให้มีการทำลายต้นไม้เลย มีแต่ส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มขึ้น มีผลทำให้ในบริเวณวัดมีความร่มรื่น มีอากาศที่สุดชื่น คุณภาพของหน้าดินดี จนกระทั้งปัจจุบันท่านเคยได้ให้ข้อคิดและป็นคำเตือนต่อลูกศิษย์ทุกคนว่า "การทำลายน่ะมันง่าย แต่การดูแลให้มันเจริญเติบโตต้องใช้เวลา ตันไม้บางต้นอาจใช้เวลาตลอดชั่วชีวิตเรา จึงจะให้ร่มเงาได้ขนาดนี้และถ้าลูกมันไม่มีแม่มันตายจะเอาไหนมาแทน"
ท่านเป็นผู้สนับสนุนการเรียนการศึกษาทุกกรณีที่ที่ทางวัดดำเนินการสอน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านอาจารย์ถูกมองว่า เป็นผู้ที่ไม่สนับสนุนการเรียนหนังสือพื้นเมือง หรือหนังสือเหนือ สร้างความไม่สบายใจให้กับบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก ต่อเมื่อได้อ่านบันทึกของท่านความว่า "บันทึกเพิ่มเติมเงินบัญชีรายรับ-จ่ายส่วนตัวนี้เศษเหลือเท่าไรเมื่อข้าพเจ้ามรณภาพแล้วก็ต้องตกเป็นของสงฆ์ ขอบันทึกเงื่อนไขไว้ด้งนี้
1. ทำฌาปนกิจโยมบิดา มารดา 2.ทำฌาปนกิจข้าพเจ้าเอง 3.บำรุงการศึกษา ทั้งพื้นเมืองและนักธรรม บาลี คือจ่ายเงินเฉพาะดอก ผล หมายความว่า เงินนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน แล้วส่วนที่ 3 ได้เท่าไร เก็บฝากธนาคารออมสินประเภทประจำไว้เอาดอกเบี้ยประจำปีออกมาเฉลี่ยถวายครูสอนทุก ๆ คน หรือทุก ๆ รูปตามสมควรแก่การทำงางาน หากเหลือก็ฝากไว้เป็นทุนสมทบต้นต่อไป จนกว่าวัดจะสิ้นสภาพเป็นอื่นแล้ว"
จากบันทึกทำให้เกิดความเข้าใจท่านได้ดีขึ้นมากกว่าที่ที่ทุกคนดิตโดยปราศจากคำบรรยายาย หรือโต้ตอบ เพราะท่านได้บับทึกไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีข่าวว่าท่านไม่สนับสนุนการเรียนหนังสือเหนือประมาณ 15-20 ปี
ท่านเป็นคนละเอียด รอบคอบไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเงิน เพราะท่านรู้ดีว่าเรื่องการเงินนั้นเป็นบ่อเกิดของคำครหานินทาได้มากที่สุด ตั้งแต่ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสมาท่านได้จัดท่าบัญชีทั้งรายรับรายจ่ายส่วนตัวจากกิจนิมนต์ และรายรับ-รายจ่ายของวัดที่มีคณะศรัทธาถวายเป็นส่วนรวม คณะลูกศิษย์ได้พบบันทึกและอ่านตั้งแต่เล่มต้นๆ มาไม่มีตกหล่นแม้แต่รายเดียว และเข้าใจว่าไม่มีเงินตกหล่นแม้แต่บาทเดียวเช่นกัน เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านได้รับกิจนิมนต์และเจ้าภาพได้ถวายเป็นเงินเหรียญ หล่นจากซองลงไปอยู่ก้นย่าม ท่านนับเฉพาะในซองลงบัญชีรายรับ ต่อมาท่านมาค้นพบที่ก้นย่ามท่านได้นำมาลงในบัญชีรายรับเป็นรายการต่อไปว่า "ค้นพบที่ก้นย่ามอีก 1 บาท" ในวันที่เดียวกัน
บันทึกของท่านที่ทำให้บรรรดาลูกศิษย์ต้องแปลกใจก็คือบันทึกช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม พ.ศ.2542 ตัวหนังสือโตกว่าปกติ เอนไปเอียงมาไม่อยู่ในบรรทัด และบางครั้งก็เขียน 2 ครั้งในบรรทัดเดียว จากการตรวจสอบดูบันทึกประจำวันที่ท่านได้เขียนเอาไว้ ก็พบความจริงที่ทำให้ลูกศิษย์ที่ได้อ่านทุกคนไม่สามารถสกัดกั้นน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจในตัวอาจารย์ไม่ให้ไหลได้ ท่านเป็นต้อกระจก การมองเห็นเลือนลาง เป็นระยะที่ท่านรอรับการผ่าตัดจากแพทย์ จึงทำให้ตัวหนังสือที่ท่านเขียนต่างไปจากที่เคยบันทึก ท่านแสดงให้ลูกศิษย์ทุกคนเห็นว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายในใช่อุปธรรคสำคัญที่จะหยุดทั้ง ความตั้งใจในการทำหน้าที่ของท่านให้ต่อเนื่องได้ ต่อมาท่านได้เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกจนกระทั่งหายดีท่านก็บันทึกของท่านตามปกติ
อีก 2 ปีต่อมา คือวันที่ 5 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2544 เป็นวันสุดท้ายที่ท่านได้บันทึกรายรับความว่า "ลงศาลา โยมปั่น เครือรอด ถวาย 40 บาท" และวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2544 เป็นวันสุดท้ายที่ท่านได้บันทึกรายการจ่ายความว่า "จ่ายให้ จ.ส.อ.เที่ยง เอาไปถ่ายรูปร้านสดสวย 500 บาท" หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ แพทย์แจ้งว่าท่านเป็นโรคไต แพทย์พยายามดูแลรักษาท่านอย่างเต็มความสามารถ แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพราะอากาการค่อนข้างจะรุนแรงเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา จนกระทั่งวันที่ 23 สิ่งหาคม 2544 เวลาประมาณ 17.00 น.ท่านก็จากพวกเราไปด้วยอาการสงบ
สำหรับ "วัดดอนสัก" เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
"วัดดอนสัก" ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2275 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2421 ชื่อของวัดมาจากการสร้างวิหารด้วยไม้สักเพียงต้นเดียวที่ขึ้นอยู่บนเนินสูงตามธรรมชาติ กล่าวกันว่าวัดนี้รอดพ้นจากการถูกพม่าเผาทำลายเพราะมีเสาหงส์ จึงเว้นไว้ไม่เผา แต่ใช้ดาบฟันบานประตูวิหารเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าได้ทำการทำลายลงแล้ว มีร่องรอยให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ ส่วนเสาหงส์ที่กล่าวถึงเป็นเสาไม้สัก แกะสลักเป็นรูปหงส์อยู่บนยอดเสา ซึ่งปัจจุบันผุพังหักลงไปแล้ว
วิหารของวัดมีบานประตูเป็นคู่บานประตูไม้จำหลักโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีลวดลายสวยงาม สำหรับวิหารวัดดอนสักมีลักษณะศิลปะเชียงแสนปนสุโขทัย ตัวเสาประตูเป็นลายกนกใบเทศสลับลายกระหนกก้ามปู บานประตูเป็นไม้แกะสลักทั้งบาน รูปลายกนกก้านขด มีรูปสัตว์หิมพานต์แทรกอยู่ในลวดลายกระหนกต่าง ๆ มีความอ่อนช้อยสวยงาม โดยบานซ้ายและขวานั้นไม่เหมือนกัน แต่เมื่อปิดบานแล้วลวดลายมีความลงตัวเข้ากันได้สนิท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี