‘นักวิชาการ’มองปัญหา‘แก๊งคอลฯ’ สะท้อนความเชื่อมั่นต่อรัฐและกฎหมาย
จากกรณีผล “นิด้าโพล” เผยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 69.85% เชื่อเจ้าหน้าที่รัฐไทยบางคนเอี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันเมื่อมีการพูดถึงรัฐคงหมายรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ราชการ นักการเมือง รวมถึงการบริการจัดการภาครัฐ คงมีคำถามที่ตามมามากมาย โดยเฉพาะในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความคุ้มค่า โปร่งใส
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล นักวิชาการอิสระและนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม โดยได้แสดงความความคิดเห็นส่วนตัวว่า สำหรับกรณีผลการสำรวจแน่นอนหลายกรณีที่เกิดขึ้น ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐ(บางคน)มักมีเอี่ยว เพราะการมีอำนาจทางกฎหมาย ทางปกครอง การตัดสินและใช้ดุลยพินิจ เครือข่าย เส้นสายพวกพ้อง ที่สามารถให้คุณให้โทษกับประชาชนได้ บางคนอาจจะใช้ในทางที่ผิดและปรากฏข่าวเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากเป็นลำดับ
ส่วนตัวมองปัญหาในระบบราชการไทยนั้นหยั่งรากลึก มีมิติของปัญหาที่ซับซ้อนฝังรากลึกมายาวนาน ซึ่งบางปัญหาคงแก้ไม่ได้ภายใน 10 ปีนี้ ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติ ค่านิยม ความเชื่อในเชิงอำนาจและบุคลิกภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน จึงอาจวางตนและใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการให้บริการสาธารณหรือการเข้าถึงสิทธิของประชาชนให้เท่าเทียมกัน ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ ความคิดเห็นสอดคล้องกัน คือ ไม่ค่อยพึงพอใจในการบริการจากภาครัฐเท่าที่ควร ดังกรณีตัวอย่างที่ปรากฏข่าวดังในขณะนี้ คือญาติผู้ป่วยทำร้ายร่างกายพยาบาล ซึ่งแน่นอนเรื่องดังกล่าวคงไม่มีใครสนับสนุนการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ก็จะเป็นภาพสะท้อนบางประการของปัญหาได้เป็นอย่างดี
ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากประสบการณ์ การติดตามแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ หลายๆ กรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์ปัญหา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มักพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการลดกระแสสังคม แต่เวลาผ่านไปก็ละเลยดังหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการบริหารจัดการสัตว์จรจัด ในพื้นที่ กทม. หรือกรณีไฟไหม้ตลาดขายสัตว์ มีสัตว์ตลาดจตุจักร กว่า 5,000 ตัว เมื่อเดือน มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา กว่า 7 เดือน หรือที่อื่นๆ ก็ไม่มีความคืบหน้าในผลการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอะไร หรือกรณีสัตว์ทำร้ายนักท่องเที่ยว ประชาชน ก็เกิดขึ้นซ้ำซาก
เมื่อความรู้สึกร่วมของคนในสังคมรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่รัฐบางคนเลือกปฏิบัติหรือมีเอี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุน พวกพ้องบริวาร มีการค้าอำนาจ ซื้อขายตำแหน่ง มีการเลือกปฏิบัติยิ่งในกระบวนการยุติธรรม จะทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกฎหมาย เช่น คดีใหญ่ๆ หลายคดี ที่ไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ดังที่ปรากฏในภาพข่าวใหญ่หลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นในขณะนี้
“ไม่เว้นแม้แต่กฎหมายป้องกันกาทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ถ้าผู้คนจำนวนหนึ่งยังมองว่ากฎหมายคุ้มครองสัตว์มากกว่าคุ้มครองคน และไม่สามารถสร้างดุลยภาพความสมดุลความรู้สึกที่เป็นธรรม ให้เกิดขึ้น ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกรักสัตว์อย่างรับผิดชอบ ด้วยเมตตาธรรม สัตว์ก็อาจจะถูกทำร้าย กฎหมายก็จะถูกท้าทายเพิ่มยิ่งขึ้น” ดร.สาธิต กล่าว
ดร.สาธิต กล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว เริ่มต้นประกาศใช้ก็มีการสร้างวาทะกรรมว่า “กฎหมายคุ้มครองสัตว์” ซึ่งอาจจะถูกต้องบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มี “เจตนารมณ์และคุณธรรม”ของกฎหมายเพื่อไม่ให้มนุษย์กระทำการทารุณโหดร้ายต่อสัตว์โดยไม่จำเป็น และเจ้าของสัตว์ต้องเลี้ยงสัตว์ของตนให้ดี ให้ถูกวิธีมีการจัดสวัสดิภาพตามหลักมาตรฐานสากลและเจ้าของต้องมีความรับผิดชอบกับสัตว์เลี้ยงของตน ไม่ปล่อยปละละทิ้งและสร้างภาระต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งทั้งหมดก็เป็นการยกระดับพัฒนาจิตใจและคุ้มครองมนุษย์ไม่ให้มีความทารุณโหดร้าย มีความเมตตากรุณาแต่สัตว์ร่วมโลก เพราะสัตว์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นผลการร่วมกันได้อย่างปกติสุขต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยกฎหมายนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ทำให้มีผู้ให้ความสนใจ ซึ่งบางกลุ่มอาจใช้เป็นข้ออ้างกระทำการบางประการให้เกิดความขัดแย้งขาดการรับผิดชอบต่อส่วนรวม เช่น การพยายามปลุกกระแสเรียกร้อง การบังคับใช้กฎหมายและใช้วิธีการทางสังคม (ศาลเตี้ย) ตัดสินเปิดประเด็น(จัดทัวร์) ไปลงด้วยถ้อยคำหยาบคาย ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง บางกรณีรุนแรงเกินเลยไป แน่นอนทุกคนย่อมมีสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แต่สิทธินั้นก็ไม่ควรละเมิดหรือกระทบผู้อื่นเช่นกัน ซึ่งบางกรณีกระบวนการทางกฎหมายก็ยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฏ แต่ผู้ต้องสงสัยโดนสังคมบางกลุ่มวิจารณ์ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อหน้าที่การงาน ชื่อเสียง เกียรติคุณและความรู้สึก ซึ่งถ้าตามหลักกฎหมายผู้ถูกกล่าวหาได้รับการคุ้มครองให้เป็นผู้บริสุทธิ์จนกล่าวศาลจะตัดสิน
หลายกรณีที่มีผ่านมาการกล่าวหา ตัดสินทางสังคม (ศาลเตี้ย) ก็เกิดความเสียหาย เช่น บุคคลนั้นพบว่าภายหลังไม่ได้กระทำผิดจริง เช่น กรณีมีองค์กรหนึ่งไปกล่าวหาเจ้าอาวาสวัดหนึ่ง ทำร้ายสุนัข หลังจากนั้น การเปิด(ศาลเตี้ย)ให้สังคมประณามตัดสิน สุดท้ายเจ้าอาวาสต้องย้ายออกจากวัด เพราะทนแรงกดดันทางสังคมไม่ไหว เจ้าอาวาสต้องมลทินว่ากระทำผิดกฎหมายทารุณสัตว์ สุนัขในวัดขณะนั้นทั้งหมด ถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่มีผู้ดูแลและไม่มีใครเข้าไปยุ่งเกี่ยว กลัวถูกสังคมตัดสิน สุนัขอดอาหารและตายไปจำนวนหนึ่ง และยังมีอีกหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น เช่น สุนัขกัดไก่ เจ้าของไก่ยิงสุนัข สุนัขจรจัดกัดคนไม่มีผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย ช้างไล่เหยียบคนทำลายทรัพย์สินพืชไร่พืชสวนทางการเกษตร ชาวบ้านยิงช้าง เป็นต้น ที่ไม่ค่อยจะมีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบ ทั้งที่ตามกฎหมายกำหนดให้มี แต่ก็ละเลยไม่ยอมปฏิบัติอ้างว่าขาดแคลนไม่พร้อม เป็นต้น
หลายๆ กรณีดังกล่าวทำให้ประชาชนมองว่า กฎหมายไม่เป็นธรรม คุ้มครองสัตว์มากกว่ามนุษย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว ถ้ามีการปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมมีมาตรการต่างๆ ทางสังคม (ไม่ใช่ศาลเตี้ย) แต่เป็นมาตรการควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ ย่อมแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
สำหรับในแง่คำพิพากษาของศาลในหลายกรณีส่วนใหญ่ โทษสูงสุดในการทารุณกรรมสัตว์คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ แต่เท่าที่ผ่านมาศาลไม่เคยจำคุกสูงสุดหรือปรับสูงสุดตามอัตรา โทษสูงสุดแม้สักคดีเดี่ยว คำพิพากษาคดีก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่ผลการตัดสินคดี มักรอลงอาญา แต่ระยะหลังนี้ มีจำคุกไม่รอลงอาญา เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลสั่งจำคุก 4 เดือน ชายถือไม้ตี สุนัขไซบิเบียนตายกลางถนน โดยไม่รอลงอาญา หรือกรณีชายโยนลูกสุนัขลงทะเล จำคุก 15 วันไม่รอลงอาญา กรณีชายตระเวนรับสุนัขมาเลี้ยง ก่อนจับมาบริโภค จำคุก 30 วัน เปลี่ยนโทษจำคุกมา เป็นกักขัง 30 วัน หรือแม้แต่คดี สุนัขพี่เตี้ย มช. ศาลอุธรณ์ตัดสินจำคุก 16 เดือน ไม่รอลงอาญา และชดใช้ค่าเสียหายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 100,000 บาท ในฐานความผิดทารุณสัตว์และลักทรัพย์ เป็นต้น
“ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐให้กับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะคดีใดๆ ก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ควรปฏิบัติด้วยความเป็นกลางและเป็นธรรม และการให้บริการสาธารณะ เจ้าหน้าที่รัฐต้องให้บริการ ด้วยหัวใจให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ด้วยใจรักและความรับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนเกิดความประทับใจเกิดความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ เพื่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าว ยั่งยืนหน้าสืบไป” ดร.สาธิต กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี