เป็นเรื่องขึ้นมาทันทีเมื่อมีรายงานในวันที่ 20 ก.พ. 2568 ว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ยกกำลังบุกค้นบ้านของ ผู้ประกาศข่าวหญิงรายหนึ่ง ที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งสืบเนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีสำนักข่าวที่ผู้ประกาศข่าวรายนี้เผยแพร่คลิปข่าวในลักษณะทำให้นายทักษิณได้รับความเสียหาย
ซึ่งในวันดังกล่าว มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ผันตัวไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “แนวหน้าข่าวค่ำ” ระบุว่าว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ประกาศใช้ในปี 2550 ต่อมาได้แยกฐานความผิดในฉบับแก้ไข ปี 2560 กล่าวคือ ในกฎหมายเดิม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถูกรวมไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่หลังจากแก้ไขในปี 2560 บทบัญญัติของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรือสาธารณประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่นายทักษิณทำได้คือการแจ้งความฐานหมิ่นประมาท
ส่วนการที่ทางตำรวจอ้างว่าศาลอนุมัติหมายค้น ก็ต้องไปดูว่าได้แจ้งกับศาลว่าอย่างไร ซึ่งตนก็มีคำถามว่าผู้ประกาศคนนี้เป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ หรือกระทำการอะไรที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายต่อความมั่นคงหรือไม่? เพราะกรณีคำพูดที่บอกว่าคนนี้เลว เป็นเรื่องหมิ่นประมาทต่อส่วนตัว ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องพิสูจน์กันอีก เพราะเป็นข้อความจากหนังสือ เช่นเดียวกับที่พาดพิงเรื่องถูกถอนสัญชาติ ก็เป็นเรื่องหมิ่นประมาทต่อส่วนตัว และหากจะอ้างเรื่องกระทบความมั่นคง สามารถอ้างได้กรณีกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่อดีตนายกฯ นายทักษิณจึงไม่ใช่บุคคลที่ใครไปกระทบแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
อนึ่ง เมื่อดูข้อหาที่ทางตำรวจระบุ จะพบใน 2 ส่วน คือ 1.หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ 2.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย
โดยเมื่อดูตามข้อกฎหมาย อย่างแรกจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และมาตรา 328 ที่ระบุว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสีภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
ขณะที่อย่างหลังจะอยู่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ,
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง , ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด , ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ , ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”
มาตรา 329 “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
ส่วนมาตรา 14 (1) เรื่องหมิ่นประมาท ที่ถูกตั้งคำถามนั้น ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ใช้ถ้อยคำว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
ในขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขในปี 2560 ระบุในมาตรา 14 ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมด้วยว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
บทความ ”หมิ่นประมาทออนไลน์ : รู้เท่าทัน ป้องกัน ผิดกฎหมาย” เรียบเรียงโดย วนิดา อินทรอำนวย วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย แบ่งลักษณะการ “หมิ่นประมาท” ไว้ 2 ประเภทดังนี้ 1.การหมิ่นประมาท เป็นการหมิ่นประมาทโดยใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม มีลักษณะเป็นการใส่ความแบบตัวต่อตัว หรือเพียงกลุ่มคนเท่านั้น ไม่ใช่การป่าวประกาศ ในกรณีของช่องทางออนไลน์ เช่น นาย A ใส่ความว่าร้าย นาย B ลงในกลุ่มเพื่อน Line ซึ่งมีเพื่อน 5 คน
กับ 2.การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นการหมิ่นประมาทโดยป่าวประกาศหรือประจานออกไป อาทิ การเผยแพร่ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต การเผยแพร่ข้อความลงหนังสือพิมพ์ หรือการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น นาย A ใส่ความว่าร้าย นาย B ลงใน Facebook เปิดค่าการมองเห็นแบบสาธารณะ
ส่วนที่มาที่ไปของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแรกที่ออกมาในปี 2550 ในส่วนของมาตรา 14 (1) โดยเจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบและดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเน้นป้องกันและลงโทษผู้กระทำความผิดในลักษณะอาชญากรทางไซเบอร์ แต่เมื่อบังคับใช้แล้วกลับพบว่า แม้คู่กรณีที่มีคดีฟ้องร้องในลักษณะหมิ่นประมาทจะเจรจากันได้ แต่ก็ไม่สามารถถอนฟ้องได้ เพราะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ โดยมีคดีแบบนี้เข้าไปอยู่ในศาลจำนวนมาก
จึงนำไปสู่การแก้ไขในปี 2560 โดยระบุให้ชัดเจนว่า “ซึ่งไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” และหลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การหมิ่นประมาทในอินเตอร์เน็ตต่อบุคคล ที่มิได้มีความเกี่ยวข้องต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1)
บทความดังกล่าวยังเตือนชาวเน็ตด้วยว่า “การด่าลอยๆ แม้ไม่เอ่ยชื่อก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทได้” โดยพิจารณาจาก “การที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ทันทีว่าหมายถึงใคร” อย่างไรก็ตาม หากบุคคลทั่วไปรับรู้ข้อความนั้นแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าหมายถึงใครในทันที แต่ไปสืบหาข้อมูลต่อด้วยตนเองจนทราบในภายหลังก็จะยังไม่ถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท แม้วเจ้าตัวจะทราบเป็นอย่างดีว่าข้อความนั้นพาดพิงตนเองก็ตาม เพราะตามกฎหมายแล้วจะพิจารณาตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก ไม่ใช่ตามความเข้าใจของบุคคลที่ถูกพาดพิง
นอกจากนั้น “บางเรื่องแม้เป็นความจริงก็ยังเป็นความผิด” เช่น การประจานในเรื่องส่วนตัวที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป หรือกรณีที่สามารถเลือกใช้วิธีดำเนินการตามกฎหมายได้ก่อน เช่น แทนที่จะฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือฟ้องร้องลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ แต่กลับเลือกใช้วิธีโพสต์รูปประจานหรือโพสต์เฟซบุ๊กประจานก่อนเป็นลำดับแรก
นั่นเป็นเรื่องข้อกฎหมายหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วน “ปฏิบัติการของตำรวจ” นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังที่ บุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเสริมว่า หากไปดูอำนาจหน้าที่ของ บช.สอท. หรือตำรวจไซเบอร์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลห้องสมุดสำนักงานวุฒิสภา จะพบว่ามีดังนี้ 1.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป 2.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
3.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป 4.คดีที่มีการกระทำผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 5.คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 6.คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และ 7.คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ จึงตั้งคำถามว่าการค้นบ้านนักข่าวในครั้งนี้เข้าข่ายข้อใด
อ้างอิง
https://old.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=3575
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/politic/863241 'เจ๊มอลลี่'จี้ถามเดือด!!! ตร.ไซเบอร์บุกค้นบ้าน'ผู้ประกาศสาว' ใช้อำนาจกฏหมายข้อไหน??
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี