กรมศิลปากร แถลงค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง อายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทย ในพื้นที่ อช.เขาสามร้อยยอด เตรียมต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ สันนิษฐานว่าโครงกระดูกนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี
24 ก.พ.68 ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบฯ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าวการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มี นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ นายพิศิษฐ์ เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นายกฤษณา แผ่แสงจันทร์ วัฒนธรรมจังหวัดประจวบฯ ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คณะเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุบางส่วนที่ได้จากการขุดค้นพบภายในแหล่งโบราณคดีถ้ำดิน และการจัดแสดงภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีภายในถ้ำดิน เขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ถือเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมาในประเทศไทย สันนิษฐานว่าโครงกระดูกนี้น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ร่วมสมัยกับยุคน้ำแข็งตอนปลาย ทำให้ทราบว่าแผ่นดินไทยนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่นานมาแล้วนับหมื่นปีก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลการศึกษาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันทราบว่าผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญมาก อาจจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เพิ่มเติมได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบนิเวศ โครงกระดูกสัตว์ พันธุ์พืชต่างๆ จะช่วยเติมเต็มข้อมูลการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในสมัยนั้นเพื่อเป็นความรู้สู่คนรุ่นต่อๆ ไป นอกจากนี้ กรมศิลปากรจะเกาะติดการศึกษาในเรื่องนี้และจะมีการตีพิมพ์รายงานการศึกษา ซึ่งในปีนี้ถึงปีหน้า กรมศิลปากรจะทำการศึกษาอย่างจริงจังและยังมีโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งทั่วประเทศทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ เมื่อสำรวจแล้วก็จะนำไปสุ่การขุดค้น เมื่อขุดค้นพบวัตถุโบราณก็จะมีการนำมาวิเคราะห์หลักฐาน ศึกษาเข้มข้นขึ้นจนได้ข้อสรุปต่อไป
ด้าน นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้ จ.ประจวบฯ เป็นพื้นที่นำร่องพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การค้นพบโบราณวัตถุในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดได้ ซึ่งจะมีการประสานการทำงานกับกรมศิลปากร ร่วมกันกำหนดพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่เหมาะสมต่อไปเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวถ้ำดินยังไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแหล่งโบราณคดีถ้ำดินแต่อย่างใด ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจขุดค้นเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนิน "โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน" ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในอนาคต โดยพบหลักฐานการอยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินเก่า-สมัยหินกลาง กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ (AMS) ได้ประมาณ 29,000 - 10,000 ปีมาแล้วภายในถ้ำดินซึ่งแบ่งออกเป็น 5 คูหา โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นในปีงบประมาณ 2565 - 2566 ประกอบด้วย กระดูกสัตว์ เปลือกหอย เมล็ดพืช และหิน และในปีงบประมาณ 2567 พบหลักฐานสำคัญในระดับความลึกที่ 190 - 195 เซนติเมตร จากระดับพื้นถ้ำปัจจุบัน เป็นหลักฐานการฝังศพโครงกระดูกจำนวน 1 โครง จากการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นโครงกระดูกเด็ก อายุขณะเสียชีวิตคาดว่าอยู่ในช่วงประมาณ 6 - 8 ปี
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นในขณะนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในถ้ำดินเมื่อประมาณ 20,000 กว่าปีมาแล้ว มีความเกี่ยวโยงเป็นเจ้าของภาพเขียนสีที่พบภายในถ้ำและตามเพิงผาในบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งขณะนี้กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่จะวิเคราะห์ค่าอายุภาพเขียนสีโดยตรงต่อไป
009
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี