25 ก.พ. 2568 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความ “จาก DeepSeek ถึงซิลิคอนวัลเลย์ของจีน…ถอดความสำเร็จสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตไทย” ซึ่งเขียนโดย เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน TDRI เนื้อหาดังนี้
ภายใต้การเกิดขึ้นของ DeepSeek ซึ่งเป็นบริษัท AI ที่กำลังสร้างความฮือฮาในวงการเทคโนโลยี หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญคือ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีแนวหน้า เช่น Liang Wenfeng ผู้ก่อตั้ง DeepSeek, Colin Huang ผู้ก่อตั้ง Pinduoduo (ธุรกิจอีคอมเมิรซ์), Min Zhu ผู้ร่วมก่อตั้ง WebEx (แพลตฟอร์มการเข้าร่วมประชุมบนเว็บ), และ Zhu Qiuguo และ Li Chao ผู้ก่อตั้ง deepRobotics (หุ่นยนต์สี่ขาซึ่งใช้สำหรับกู้ภัย สำรวจ ก่อสร้าง และในงานอุตสาหกรรมต่างๆ)
นี่…ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหางโจว มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกภายในปี 2027 โดยใช้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเป็นต้นแบบ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงติดอันดับที่ 44 จากการจัดอันดับของ QS World University และอันดับ 55 จากการจัดอันดับของ Times Higher Education World University Rankings ในปี 2024 และมีผลงานด้านการวิจัยที่โดดเด่น โดยติดอันดับ 5 จากการจัดอันดับของ SCImago Institutions Rankings และอันดับ 4 ของโลกจาก CWTS Leiden Ranking ซึ่งพิจารณาจากผลงานตีพิมพ์ที่อยู่ใน Top 1 เปอร์เซ็นต์ ของสาขาวิชา
ขณะที่ จีน กำลังสร้าง “ซิลิคอนวัลเลย์ของจีน” ด้วยพลังของระบบนิเวศนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนด้านการศึกษา การวิจัย และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ประเทศไทย เองก็กำลังมุ่งเป้ายกระดับสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต โดยการตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ 8 หมื่นคน ด้าน EV 1.5 แสนคน ด้าน AI 5 หมื่นคน ใน 5 ปีเพื่อสร้างกำลังคนรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต
โดยมีแผนจะดำเนินการโครงการระยะสั้น ได้แก่ (1) การพัฒนาและเพิ่มทักษะ (Upskill/Reskill) เช่น โครงการ STEM PLUS หลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น โดยบริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาเรียน สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250 เปอร์เซ็นต์ (2) โครงการ Coop+ หรือสหกิจศึกษาพลัส ที่นำนักศึกษามาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที (3) โครงการสหกิจศึกษาในต่างประเทศ โดยการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในมหาวิทยาลัย หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ
ขณะที่โครงการระยะกลาง-ยาว ได้แก่ (1) การจัดทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ เซมิคอนดักเตอร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและโท (2) การจัดทำหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี ด้านเซมิคอนดักเตอร์, EV และ AI ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ (3) การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก
“แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางของจีน คำถามสำคัญคือ แนวทางของไทยเพียงพอหรือไม่ในการผลักดันประเทศไปสู่การสร้างความสามารถทางเทคโนโลยีที่แท้จริงและการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต?”
อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงประสบความสำเร็จ? และมีความท้าทายอะไร?
บทความ “Behind DeepSeek lies a dazzling Chinese university” ที่เพิ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร The Economist เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ได้ระบุว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยี คือ
1.เป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงสามารถดึงดูด นักคิด นักพัฒนาและนักธุรกิจ ที่พร้อมจะเสี่ยงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และมีหลักสูตรพิเศษที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและการวิจัยเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้ 1 ใน 5 ของนักศึกษาที่จบไปก่อตั้งธุรกิจภายใน 5 ปี
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงไม่เพียงแค่ผลิตงานวิจัยจำนวนมาก แต่สามารถเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และที่สำคัญ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย เช่น Zhu Qiuguo ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย เจ้อเจียง ได้ลาออกเพื่อมาร่วมจัดตั้งบริษัท deepRobotics ซึ่งผลิตหุ่นยนต์สี่ขาที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการกู้ภัย
มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ได้รับการยอมรับอย่างมากในด้านการบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการและการสร้างนวัตกรรม โดยมีอัตราศิษย์เก่าที่ก่อตั้งสตาร์ทอัพสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในประเทศจีน และมีความร่วมมือกับศิษย์เก่าอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการรับนักศึกษาไปฝึกงานหรือการสนับสนุนการทำวิจัย เช่น ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง เช่น Colin Huang ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Pinduoduo ได้บริจาค 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการวิจัยขั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ เกษตรศาสตร์ และอาหาร
2.ที่ตั้งที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงตั้งอยู่ในเมืองหางโจว ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อภาคเอกชนสูง โดยจะเห็นได้จากการมี 82 ใน 100 บริษัทใหญ่ของเมืองเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งแตกต่างจากกรุงปักกิ่งที่อยู่ภายใต้นโยบายรัฐบาลอย่างเข้มงวด และที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ Alibaba ในเมืองหางโจว ที่ก่อตั้งโดย “แจ็ค หม่า” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง เช่น บริจาคห้องปฏิบัติการควอนตัม และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเทคโนโลยี AI
3.การสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและระบบนิเวศที่เอื้อต่อสตาร์ทอัพ : เจ้าหน้าที่รัฐในเมืองหางโจวช่วยสนับสนุนธุรกิจเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้บัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้โดยง่าย และบริการของรัฐส่วนใหญ่สามารถดำเนินการได้โดยง่ายผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยี โดยให้เงินสนับสนุนสูงสุด 15 ล้านหยวน (ประมาณเกือบ 70 ล้านบาท) แก่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่เมืองหางโจว
แม้ว่ามหาวิทยาลัยเจ้อเจียงประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านวิชาการและการสร้างสตาร์ทอัพ แต่มหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญหลายประการ เช่น ความเสี่ยงจากการพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและมีข้อจำกัดทางการคลัง รวมทั้งการที่มหาวิทยาลัยได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากศิษย์เก่า แต่ก็ยังไม่มากพอ ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะยาว การขาดแคลนคณาจารย์และนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งจำกัดการเติบโตของนวัตกรรม และข้อจำกัดด้านเสรีภาพทางความคิดในประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์
ข้อจำกัดของไทยในการสร้าง “พลังของระบบนิเวศนวัตกรรม”?
โครงการผลิตกำลังคน (ที่มีคุณภาพสูง) ด้านเซมิคอนดักเตอร์, EV และAI ของไทยเพื่อสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตถือเป็นก้าวแรกที่ดี เนื่องจากเป็น “ขั้นแรก” ของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม แต่หากเราต้องการสร้างพลังระบบนิเวศนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนด้านการศึกษา การวิจัย และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน ดังเช่นในจีน หรือหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอิสราเอล จำเป็นต้องแก้ไขข้อจำกัดที่สำคัญ ได้แก่
1.การจัดการเรียนการสอนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น AI ทำให้นักศึกษาขาดทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และขาดประสบการณ์การแก้ปัญหาจริง ขณะที่จีนและสิงคโปร์ เน้นการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (Co-designed curriculum) และสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านโครงงานจริง (Project-based learning) ทำให้นักศึกษาสามารถปรับตัวได้ทันในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
2.การร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมยังไม่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยไทยยังมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างจำกัด และไม่ได้พัฒนาโมเดลการร่วมมือกับภาคธุรกิจที่เข้มแข็งแบบมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ที่มีความร่วมมือเข้มแข็งกับบริษัท Alibaba และเชื่อมโยงการวิจัยกับภาคธุรกิจโดยตรง หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่มีความร่วมมือกับ บริษัท SEA ในการพัฒนาด้าน AI และการศึกษา รวมทั้งกับบริษัท Applied Materials ในการวิจัยด้านเซมิคอนดักเตอร์และพัฒนาผู้มีความสามารถสูง
เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโพฮัง (POSTECH) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเกาหลี (KIST) ร่วมกับกลุ่มบริษัท ฮุนได มอเตอร์ จัดตั้งห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และสถาบันชั้นสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเกาหลี (KAIST) ร่วมกับบริษัทซัมซุง ในการวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัมและพัฒนาผู้มีความสามารถสูง
3.ระบบการศึกษาไทยยังไม่กล้าทำสิ่งใหม่เพราะกลัวผิดพลาด มหาวิทยาลัยไทยยังขาดวัฒนธรรมที่สนับสนุนให้เสี่ยงและกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ขณะที่จีน สิงคโปร์ อิสราเอล สนับสนุนให้อาจารย์และนักศึกษาเริ่มต้นธุรกิจและเชื่อมโยงกับตลาดจริง
ก้าวต่อไปของไทยในการสร้างพลังระบบนิเวศนวัตกรรม?
หากไทยยังคงเดินตามโมเดลฝึกอบรมแรงงานแบบเดิม เราอาจผลิตแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นได้ แต่จะไม่เพียงพอที่จะสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ดังนั้น เพื่อสร้างพลังระบบนิเวศนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุนด้านการศึกษา การวิจัย และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เราสามารถเรียนรู้จากโมเดลหางโจวของจีน และหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอิสราเอล โดยควรดำเนินการดังนี้
1 เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยกำหนดเป้าหมายให้ไทยเพิ่มงบ R&D ต่อ GDP จาก 1.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2023 เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP (ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลาง) ภายในปี 2030 ควบคู่กับการปรับระบบการจัดสรรงบประมาณให้เน้นการมุ่งเป้าหวังผล มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และการสร้างระบบการติดตามประเมินผลที่เข้มงวด
2.สร้างกลไกให้ภาคเอกชนลงทุนใน R&D มากขึ้น โดยปรับให้มีหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ที่เน้นการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Commercialization) โดยเฉพาะ ซึ่งเน้นสนับสนุนด้วยการสมทบเงินแก่เอกชน โดยมีระเบียบการพิจารณาที่รวดเร็วและโปร่งใส เพราะภาคเอกชนเน้นความเร็ว และ ผู้จัดการ PMU ควรมีทักษะทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี
3.สร้างความเชื่อมโยงและร่วมมือที่เข้มแข็งมากขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยให้แรงจูงใจแก่ภาคเอกชน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 250 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบริษัทที่ลงทุนในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย และมีการทำวิจัยร่วมกันโดยมีโจทย์ที่ริเริ่มจากภาคเอกชน
4.ปรับหลักสูตรการศึกษาให้ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และสร้างนวัตกรรม โดยร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรเพื่อให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น หลักสูตร AI for Business
โดยสรุปหากไทยต้องการก้าวข้ามจากประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เราต้องส่งเสริมให้กลไกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้น ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างจริงจัง และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรมและความกล้ารับความเสี่ยง เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
“และที่สำคัญ รัฐต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง โดยบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ไม่ให้ทุนขนาดใหญ่เอารัดเอาเปรียบบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ มิฉะนั้นแล้ว เราจะสามารถทำได้เพียงฝันถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอยู่ตลอดไป แต่สุดท้ายก็ยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่กำลังสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันไปทุกขณะ”
ขอบคุณเรื่องจาก
https://tdri.or.th/2025/02/deepseek-siliconvalley-china-what-should-thailand-learn-article
043..
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี