พระสงฆ์ไทยโครงการจาริกธรรมฯครั้งที่ 11 เดินเท้าศึกษาผ่าน ม.นาลันทา-เจดีย์เกสรียา
พระอาจารย์สมศักดิ์ สุขเวสโก ประธานสงฆ์ ที่พักสงฆ์ปทุมสุคันธะ ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่ และในฐานะรองประธาน “โครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย-เนปาล” ครั้งที่ 11 ได้นำพาคณะสงฆ์ในโครงการดังกล่าวเข้าศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยคณะสงฆ์เดินทางถึงเมืองนาลันทา พักที่วัดไทยนาลันทา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 และกราบนมัสการหลวงพ่อองค์ดำ (Black Buddha) หรือ หลวงพ่อน้ำมัน ตามด้วยการเข้าศึกษาเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568
ทั้งนี้ ความสำคัญของมหาวิทยาลัยนาลันทาที่มีต่อพระพุทธศาสนามีเรื่องราวที่น่าติดตาม โดยหนังสือ “เกิดมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก” เขียนโดย “สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์” (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) หรือ นามปากกา “ป.อ.ปยุตฺโต) ได้เขียนใจความตอนหนึ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนาลันทาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
สารานุกรมฉบับหนึ่งเขียนไว้ว่า “นาลันทา” ได้ชื่อว่าเป็น The Oxford of India เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิงแฮม กล่าวว่า ได้เห็นปฏิมากรรมที่ประณีตงดงามที่สุดของอินเดียที่นาลันทานี้ งานขุดค้นซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) ทำให้ได้พบ “วิหาร” (วัด) จำนวนมาก สลับทับซ้อนกันอยู่ถึงเจ็ดชั้น เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยต่างๆถึงเก้าสมัย
อนึ่ง ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 12 เมืองพิหารได้เป็นที่ตั้งของ “พุทธวิหาร” อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่มาแห่งชื่อของเมืองนี้
ขณะที่เว็บไซต์กูเกิ้ล อาร์ต แอนด์ คัลเจอร์ (google arts & culture) ระบุว่า นาลันทาเป็นอดีตพุทธวิทยาลัยสงฆ์ในอาณาจักรมคธ ปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยเอกสารทางศาสนาพุทธระบุว่านาลันทา คือ มหาวิหาร ต่อมาใน ค.ศ.400 มหาวิทยาลัยนาลันทา กลายเป็นของพราหมณ์ มีการสอนเรื่องของมหายาน พระเวท,เวทางคะ,ไวยากรณ์,ดาราศาสตร์ และตรรกะ และเมืองนาลันทามีระยะทาง 95 กิโลเมตร จากทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองปัฏนา โดย “มหาวิทยาลัยนาลันทา” จัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในระหว่างศตวรรศที่ 5 ถึง ศตวรรษ 1,200 รวมทั้งยูเนสโกยังได้รับรองสถานะให้ “นาลันทามหาวิหาร” เป็นแหล่งมรดกโลกในปี 2016
ทั้งนี้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 คณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ ได้เข้าพักที่โรงเรียน เอ็มดีเอ็น ไฮสตูลบาริแมทช์ (MDN HIGH SCHOOL BARIMATH) หลังจากนั้น ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 เข้าพักที่วัดไทยไวสาลี โดย “ดร.พระครูสิทธิปริยัติวิเทศ”(หลวงพ่อฉลอง จนฺทสิริ) เจ้าอาวาส วัดไทยไวสาลี รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย กล่าวสัมโมทนียกถาให้การต้อนรับคณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ
ต่อมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 เดินทางไปศึกษาที่สระน้ำมธุรา และ ปาวาลเจดีย์ เมืองไวสาลี ต่อด้วยวัดป่ามหาวัน ซึ่งเป็นวัดของพระน้านางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี โดยขุดค้นพบโดยพระเจ้าอโศกมหาราช และมีเสาอโศกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ยังเหลือในสภาพที่ดี
หลังจากนั้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พพ.ศ.2568 คณะสงฆ์โครงการจาริกธรรมฯเข้าพักที่โรงเรียนไฮสคูล บาราดาด์ (High School Baradaud) โดยเข้าศึกษาหมู่บ้านอานันทปุระ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 พักที่โรงเรียนไฮสคูล มานาน์ (High School Manaen)
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 คณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ เข้าศึกษาที่เจดีย์เกสรียา ซึ่งยังตอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ระหว่างทาง “พระครูธีรธรรมปราโมทย์” (หลวงพ่อสำเริงฯ) เจ้าอาวาส วัดดอยเทพนิมิต ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย และในฐานะประธานโครงการจาริกธรรมตามรอยบาทพระศาสดา เมตตาให้หลักธรรมแก่คณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ ที่ “ถ้ำอินทสาละ” ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับเขาคิชกูฎ ประเทศอินเดีย มีใจความที่น่าสนใจดังนี้
“สมัยนี้เขาเรียกว่าขิงกัน ก็อิจฉานั่นแหละ ก็หาเรื่อง เขาทำอะไรถูกต้องก็ว่าเขาทำไม่ดี อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะมนุษย์น่ะ เทวดาโน่นก็มี ฟังดูแล้ว เป็นมนุษย์ถ้าเริ่มอิจฉา เริ่มว่ากัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเทวดาเขาทำกัน แต่ว่าเทวดาเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาแล้ว เกิดอิจฉาริษยากันขึ้นมา ไม่รู้จะพึ่งใคร หรือ เราเรียกว่า ไม่มีที่ปรึกษาที่ดี เทวดาน่ะ เทวดาไม่มีที่ปรึกษา ถ้าเรานึกไม่ออกว่า เทวดาเป็นยังไง เราก็นึกถึงคนมีฐานะ คนร่ำคนรวย สุขสบาย ไม่ได้รับความเดือดร้อน ท่านเรียกว่ากามสุข ความสุขทางโลก อยู่ดี อยู่สบาย กินอิ่มทุกอย่าง มีความสุข อยู่สุขสบาย นั่นท่านเรียกว่า เทวดา
แล้วเทวดาที่เขามีความสุข เขานึกถึงทุกข์ไหม เขาจะร้อนอย่างพวกเราไหม เขาจะหิวอย่างพวกเราไหม เทวดาเขาไม่มี อย่างเขาไม่ชอบใจ เขาอิจฉา เขาก็ลืมไป ไปเจอหน้าเขาก็อิจฉากันต่อ เจอหน้าเขาก็นินทากัน ถ้าเทวดาตนใดเพ่งโทษผู้อื่นอยู่นานๆ ก็เรียกว่า หมดอายุก่อนวัย ก็แทนที่จะมีอายุพันปีทิพย์ มัวแต่โกรธเขา หล่นร่วงไปเลย ก็กลับไปเกิดตามกรรม”
นับว่าตลอด 7 วันของการเดินเท้าจาริกธรรมของคณะสงฆ์ในโครงการจาริกธรรมฯ ในประเทศอินเดีย ได้เข้าศึกษาเรียนรู้พื้นที่แห่งประวัติศาสตร์ ที่รายรอบอย่างงดงาม เสมือนโอบอุ้มเรื่องของ 4 สังเวชนียสถานในดินแดนพุทธภูมิ มาสู่ชาวพุทธในยุคนี้ให้ปลงสังเวชธรรมกันอีกครั้งยังเมืองของพระพุทธองค์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี