สสจ.กาญจนบุรี ปชส.สร้างความรอบรู้เรื่องไข้ดำแดง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ผู้ป่วยส่วนมากเป็นเด็ก อาการสำคัญมีไข้ เจ็บคอ ผื่นแดง ลิ้นเป็นฝ้าขาวหรือบวมแดง (ลิ้นสตรอว์เบอร์รี่) พร้อมแนะ 8 วิธีป้องกัน
วันนี้ (3 มี.ค.68) นายแพทย์ธีรพจน์ ฟักน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่าพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครป่วยเป็นโรคไข้ดำแดง และมีการหยุดเรียนในบางชั้นเรียน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยให้โรงเรียนคัดกรองเด็กทุกเช้า ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน ขอความร่วมมือผู้ปกครองเฝ้าระวังโรคและสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ ของใช้ และของเล่นต่างๆ
สำหรับ โรคไข้ดำแดงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ "สเตรปโตคอคคัสชนิดเอ" (Group A Streptococcus) ก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น คออักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง
สถานการณ์ของจังหวัดกาญจนบุรียังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคโรคไข้ดำแดง จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สถานการณ์ของโรคไข้ดำแดง ในวันที่ 1 มกราคมถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยจำนวน 598 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ค่ามัธยฐานผู้ป่วย 5 ปี ย้อนหลัง จำนวน 605 รายต่อปี
โดยโรคไข้ดำแดงมักจะเกิดในเด็กอายุระหว่าง 5-15 ปี แต่กลุ่มอายุอื่นสามารถเกิดโรคไข้ดำแดงได้เช่นกัน อาการของโรคจะเริ่มจากมีอาการไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตามลำคอ รักแร้ ลำตัว แขน หรือขา ลักษณะของผื่นเมื่อสัมผัสจะคล้ายกระดาษทราย ใบหน้าแดง ริมฝีปากซีดและอาจมีปื้นขาวที่ลิ้น ซึ่งภายหลังจะลอกออกทำให้ลิ้นมีลักษณะบวมแดง บริเวณลิ้นและต่อมรับรสบนลิ้นจะนูนแดงอย่างชัดเจนและปลายลิ้นจะมีลักษณะคล้ายผิวของผลสตรอว์เบอร์รี่
การติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการหรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค หรือหายใจเอาละอองฝอยที่ติดเชื้อเข้าทางระบบทางเดินหายใจ ส่วนการติดเชื้อผ่านการรับประทานอาหารสามารถพบได้แต่น้อย ไข้ดำแดงเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ผ่านละอองที่ออกมากับลมหายใจ การไอจาม หรือการใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ซึ่งหากละอองเชื้อโรคนั้นสัมผัสกับตา จมูก หรือปากก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็กนักเรียน ควรให้หยุดเรียนหรือแยกตัวออกจากผู้อื่นจนกว่าได้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น
วิธีการป้องกันโรคทำได้โดย 1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคไข้ดำแดง 3. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดผู้ป่วย 4. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดหน้า เครื่องนอน เป็นต้น 5. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วย 6. หลีกเลี่ยงการขยี้ตา แคะจมูก หรือปาก 7. หากพบเด็กป่วยควรแยกออกจากเด็กปกติทันที และ 8.หากพบผู้ป่วยหลายคนควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”นายแพทย์ธีรพจน์ ฟักน้อย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี